ไทรอยด์เป็นพิษ อีกหนึ่งภาวะผิดปกติที่สามารถพบได้บ่อย ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ มักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยที่ป่วยโรคนี้จะมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลดลง และตรวจพบต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดโตขึ้น โดยเฉพาะแม่ท้องที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นภาวะไทรอยด์ อาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ วันนี้เราจึงมีบทความดี ๆ มาส่งต่อ เพื่อให้คุณแม่พร้อมรับมือกับภาวะนี้ค่ะ
ไทรอยด์คืออะไร?
ไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ ไทรอยด์ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน ซึ่งฮอร์โมนเหล่านั้นจะมีผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย จึงเกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษแล้วไม่ได้รับการรักษา ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ และส่งผลกระทบต่ออวัยวะหลายระบบในร่างกายได้
ไทรอยด์เป็นพิษ อาการเป็นอย่างไร?
ไทรอยด์เป็นพิษมีอาการคล้ายกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่รุนแรงมาก ก็อาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่จะไม่ค่อยแสดงอาการออกมามากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่ส่งผลต่อกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้อาการที่สามารถพบได้มากที่สุดคือ อาการคอพอก โดยผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตัวเองมีก้อนขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณคอ นอกจากนี้ยังอาการอื่น ๆ ดังนี้
- มีอาการคัน
- น้ำหนักลดลง
- นอนหลับยาก
- เหงื่อออกมาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อารมณ์แปรปรวน
- มีรอบเดือนผิดปกติ
- มีปัญหาทางสายตา
- มือสั่น ใจสั่นตลอดเวลา
- อาจพบเต้านมขนาดใหญ่ในเพศชาย
ไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากอะไร?
ไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ส่งผลให้ร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์เกิดความต้องการของร่างกาย และมีสภาวะเป็นพิษจนส่งผลต่อร่างกาย โดยไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
- การรับประทานอาหาร : อาหารที่มีไอโอดีนจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษได้ เพราะไอโอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์
- การอักเสบของต่อมไทรอยด์ : การอักเสบของต่อมไทรอยด์ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ ถูกผลิตออกมามากขึ้น ทำให้ฮอร์โมนรั่วไหลออกไปยังกระแสเลือด สามารถส่งผลให้เกิดอาการเจ็บตามมาได้
- เนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ : สามารถเกิดขึ้นได้น้อย โดยเป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณไทรอยด์ หรือบริเวณต่อมใต้สมอง ซึ่งอาจส่งผลในการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้นจนกลายเป็นพิษ
- ได้รับการเสริมฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป : การได้รับการเสริมฮอร์โมนไทรอยด์ อาจมาจากยาบางชนิดที่มีส่วนประกอบของไอโอดีน หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้น
- โรคเกรฟวส์ : ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนไทโรซีนออกมามากจนกลายเป็นพิษ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงในวัยรุ่น และวัยกลาง มีการสันนิษฐานว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงในโรคเกรฟวส์ได้อีกด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไทรอยด์เป็นพิษ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไทรอยด์เป็นพิษอาจเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น อาจเกิดเฉพาะผู้ป่วยบางคน โดยมีอาการดังต่อไปนี้
- ภาวะไทรอยด์ต่ำ : การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ อาจทำให้ผู้ป่วยบางคนมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่ต่ำกว่าปกติ โดยอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น อาการท้องผูก รู้เหนื่อยง่าย น้ำหนักขึ้นผิดปกติ และมีการซึมเศร้า
- ปัญหาทางสายตา : มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกรฟวส์ โดยอาจทำให้ตาแห้ง ตาแฉะ ตาแดง บวม เห็นภาพซ้อน และไวต่อแสดง โดยอาจมีตาโปนออกมามากกว่าปกติ ทั้งนี้อาการเหล่านี้จะดีขึ้น เมื่อโรคไทรอยด์เป็นพิษได้รับการรักษา
- ปัญหาระบบหัวใจ : ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หรืออาจเกิดภาวะหัวใจวายได้ ทั้งนี้ภาวะแทรกซ้อนนี้จะดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
- กระดูกเปราะบาง : หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โรคไทรอยด์เป็นพิษอาจส่งผลให้กระดูกอ่อนแอ จนกลายเป็นโรคกระดูกพรุนได้ เพราะร่างกายที่มีฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติ จะไปดูดซึมแคลเซียมของกระดูกออก
- ไทรอยด์ขั้นวิกฤติ : หากควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ได้ไม่ดี ก็อาจส่งผลให้เข้าสู่ไทรอยด์ขั้นวิกฤติ โดยจะทำให้ผู้ป่วยหัวใจเต้นเร็ว เป็นไข้ อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง มึนงง และอาจถึงขั้นหมดสติได้ จำเป็นต้องรับการเข้ารักษาอย่างเร่งด่วน
- ผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ : ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงในการส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้ โดยอาจเกิดอาการครรภ์เป็นพิษ อาการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด หรือลูกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ ทั้งนี้คุณแม่ควรปรึกษากับแพทย์ เพื่อจะได้วางแผนควบคุมได้ไม่ให้อาการรุนแรง
วิธีการรักษาไทรอยด์เป็นพิษ
การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอายุ ร่างกาย สาเหตุ และความรุนแรงของโรค โดยวิธีการรักษา มีดังนี้
- การรับประทานยาต้านไทรอยด์ ยาเมไทมาโซล และยาโพพิลไทโออูราซิล : ยาเหล่านี้จะช่วยระงับการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ไม่ให้ผลิตมากจนเกินไป โดยผู้ป่วยอาจมีอาการแพ้ยาจนเกิดเป็นผื่น ปวดตามข้อ และเป็นไข้ตามมาได้ การรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์เหล่านี้อาจใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือมากกว่านั้น
- การรักษาด้วยรังสีไอโอดีน : เป็นการรับประทานสารรังสีไอโอดีนที่มีความปลอดภัย ซึ่งยาเหล่านี้จะถูกต่อมไทรอยด์ดูดซึม และทำลายเนื้อต่อม ทำให้ต่อมไทรอยด์มีอาการดีขึ้น ผู้ป่วยบางคนอาจมีผลข้างเคียงจนเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ จึงต้องรับประทานยาเสริมฮอร์โมนไทรอยด์ร่วมด้วย
- การใช้ยาต้านเบต้า : การรับประทานยาต้านเบต้าจะช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจช้าลง และจะช่วยบรรเทาอาการใจสั่นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดหัว ท้องผูก ท้องเสีย หรือเวียนศีรษะ
- การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ : สำหรับผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ หรือไม่สามารถใช้ยาในการรักษา จะต้องผ่าตัดออกเพื่อรักษาอาการ โดยหลังจากผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาเพื่อรักษาระดับฮอร์โมนไปตลอดชีวิต ซึ่งในกรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้น้อย
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร : ผู้ป่วยจะต้องรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และโซเดียมมากขึ้น และจะต้องดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้คอยแนะนำปริมาณของอาหารเสริม และช่วยวางแผนในการรับประทานอาหาร รวมถึงการออกกำลังกายให้ด้วย
วิธีป้องกันไทรอยด์เป็นพิษ
ปัจจุบันโรคไทรอยด์เป็นพิษ ยังเป็นภาวะผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรหมั่นคอยสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากผู้ป่วยเคยป่วยด้วยภาวะนี้ ก็อาจจะต้องคอยสังเกตอยู่เสมอ และควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษเพิ่มขึ้น
ไทรอยด์เป็นพิษ ห้ามกินอะไร?
อาหารบางชนิดที่ประกอบด้วยไอโอดีนจำนวนมาก อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากผู้ป่วยเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ดังต่อไปนี้
- นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
- อาหารที่มีไอโอดีนสูง เช่น ปลา กุ้ง หอยกาบ หอยนางรม ไข่ กระเทียม เห็ด และเมล็ดงา
- อาหารที่มีซีลีเนียมสูง เช่น ปลาทูน่า เนื้อวัว เมล็ดทานตะวัน เครื่องในสัตว์ และถั่วเหลือง
- อาหารที่มีไขมันสูง เช่น คุกกี้ เค้ก เนยขาว แคร็กเกอร์ เฟรนช์ฟรายส์ โดนัท ขนมอบ และเบเกอรีรวมทั้งเนื้อสัตว์จำพวกต่าง ๆ เช่น เนื้อวัวติดมัน เนื้อแกะ เนื้อหมู แฮม และเบคอน เป็นต้น
- อาหารที่มีวิตามินบีสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ปลาทะเล ไข่แดง ยีสต์ และถั่วลันเตา
- อาหารที่กินแล้วแพ้ เพราะจะกระตุ้นให้ร่างกายแพ้หนักกว่าเดิม
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน เช่น เหล้า เบียร์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มชูกำลัง
- ผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว คะน้า หัวไชเท้า และบรอกโคลี
- อาหารแปรรูป และอาหารกระป๋อง เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน และกุนเชียง
ไทรอยด์เป็นพิษ ถือเป็นอีกหนึ่งภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเพศหญิงบ่อยครั้ง ยิ่งโดยเฉพาะแม่ท้องยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ และร่างกายของคุณแม่ได้ ทั้งนี้หากตรวจพบว่ามีอาการเสี่ยงในภาวะไทรอยด์เป็นพิษ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ครรภ์เป็นพิษ เกิดจากอะไร อันตรายต่อเด็กและแม่ท้องหรือไม่?
มะเร็งเต้านม โรคร้ายใกล้ตัวผู้หญิง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา
โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา