PM2.5 อันตรายกับเด็กเล็ก ภัยร้ายทำลายสุขภาพที่แม่ต้องรู้ !

หนึ่งในภัยร้ายที่แม่หลายคนห่วง คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ที่ดูเหมือนว่าปีนี้ จะหนักหน่วงกว่าที่ผ่านมา โดยช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ ค 

 664 views

หนึ่งในภัยร้ายที่แม่หลายคนห่วง คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ที่ดูเหมือนว่าปีนี้ จะหนักหน่วงกว่าที่ผ่านมา โดยช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ ค่าฝุ่นในหลายพื้นที่ มีระดับเกินค่ามาตรฐานติดต่อกันหลายวัน ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง ของกลุ่มที่อ่อนไหวมากอย่างเด็กเล็ก ที่มีโอกาสได้รับอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่



วันนี้ Mamastory จะพาไปดูค่ะ ว่าหากต้องใช้ชีวิตประจำวันไปกับ PM2.5 จะมีอะไรที่เสี่ยงอันตรายบ้าง และมีวิธีไหนที่จะป้องกันได้บ้าง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านจริง ๆ ถ้าพร้อมแล้วไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ !



PM2.5



ฝุ่น PM2.5 คืออะไร ?

ฝุ่น PM2.5 หรือชื่อเต็ม Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron เป็นฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่ไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็น 1 ใน 8 ตัววัดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ซึ่งตั้งแต่เมื่อช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดปรากฏการณ์ฝุ่นปกคลุมอย่างหนาแน่น จนเกิดเป็นคำถามและตั้งข้อสงสัย จนเกิดเป็นการหาคำตอบ พร้อมกับหาวิธีรับมือและวิธีป้องกัน รวมไปถึงสาเหตุของการเกิดฝุ่น



อันตรายจาก PM2.5

ฝุ่น PM2.5 สามารถผ่านการกรองของขนจมูก และเข้าสู่ชั้นในสุดของปอดได้ ถึงแม้จะเป็นฝุ่นที่ไม่ได้ทำอันตรายต่อร่างกายเฉียบพลัน แต่หากได้รับในปริมาณมาก หรือสะสมเป็นเวลาต่อเนื่อง ก็สามารถเป็นตัวกลางในการพาสารอื่น เข้าสู่ปอดได้เช่นกัน



PM2.5 เกิดจากอะไร ?


1. ไอเสียจากรถยนต์

ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเมืองใหญ่ หรือในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด ช่วงเวลาเร่งด่วนบนถนน และการเผาไหม้ของน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ PM2.5 ในพื้นที่นั้น ๆ มีปริมาณสูงขึ้น



2. อากาศพิษจากโรงงานโรงไฟฟ้า

หากในพื้นที่ชุมชนดังกล่าว มีโรงงานหรือโรงไฟฟ้า ที่ใช้การเผาไหม้เชื้อเพลิง หรือมีการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน อาจเป็นการสร้างผลกระทบอย่างมากต่อการเพิ่มของ PM2.5 ในพื้นที่ดังกล่าว



3. การเผา

ข้อนี้สามารถพบได้มากในภาคเหนือ รวมถึงการเผาวัสดุเหลือใช้ การเผาพื้นที่เพื่อเป็นการเพาะปลูกทางการเกษตร การเผาป่า การเผาขยะ หรือการเผาเพื่อพิงไฟหน้าหนาว ล้วนเป็นการสร้างมลพิษ เพื่อเพิ่มฝุ่น PM ทั้งนั้น



4. สภาพภูมิอากาศ

ในช่วงที่อากาศสงบนิ่ง หรือไม่เคลื่อนไหว ทำให้เกิดการสะสมของมลพิษ ในชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก รวมถึงการสะสมฝุ่น PM2.5 ก็เช่นกัน และเมื่อลมร้อนเข้ามา จะทำให้ฝุ่นลอยสูงขึ้น แต่ยังคงมีสะสมอยู่บนชั้นบรรยากาศ และกลับมาอีกครั้งเมื่อลมนิ่ง จนกลายเป็นวงจรแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ



PM2.5



ตระหนักรู้เรื่องฝุ่น PM2.5

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาเตือนคุณพ่อคุณแม่อยู่เสมอ ให้งดการทำกิจกรรมกลางแจ้งกับลูกน้อย ในวันที่ค่าฝุ่นละอองสูงเกินกว่าระดับมาตรฐาน เพราะมีโอกาสเกิดอันตรายต่อลูก ได้มากกว่าผู้ใหญ่หลายคน หากได้รับฝุ่นมากเกินไป จะส่งผลให้ป่วยหนักและหายได้ช้ากว่า เนื่องจากระบบต้านทานมลพิษในเยื่อบุทางเดินหายใจ และระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของเด็ก ยังไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มที่

บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝุ่น PM2.5 แม่ท้องและทารกเสี่ยงหนัก เมื่ออยู่กลางแจ้ง ต้องระวัง!



ผลกระทบจาก PM2.5 ต่อเด็ก

  • มีอาการแสบจมูก น้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ
  • มีอาการระคายเคืองผิวหนัง เป็นผื่นคันบริเวณที่สัมผัสฝุ่น
  • หากได้รับฝุ่นสะสม มีโอกาสผิดปกติด้านสติปัญญาและพัฒนาการ มีปัญหาเรื่องการพูด การฟัง สมาธิสั้น และภาวะออทิสซึม
  • มีผลกระทบต่อปอดในระยะยาว ส่งผลเป็นโรคปอดอักเสบ หอบหืด มะเร็งระบบทางเดินหายใจ



PM2.5

 



นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ยังมีขนาดเล็กมาก ชนิดที่ว่าสามารถซึมเข้ากระแสเลือด และกระจายไปทั่วร่างกาย อาจเป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดการอักเสบในหลอดเลือด ซึ่งนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดตีบ และภาวะหลอดเลือดหดตัวได้



แนวทางเลี่ยงฝุ่น PM2.5

  1. เลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ไม่เข้าไปในพื้นที่มีค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน
  2. ปิดประตูบ้านให้สนิทเปิดเครื่องฟอกอากาศช่วยในวันที่ฝุ่นสูง
  3. หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ให้สวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 แต่ทารกหรือเด็กน้อยกว่า 2 ขวบ ไม่ควรออกนอกบ้าน
  4. ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ เพื่อหายใจได้โล่งกว่าเดิม
  5. เด็กที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรหมั่นดื่มน้ำสะอาด
  6. หมั่นทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ เพื่อลดฝุ่นละอองภายในบ้าน
  7. ปลูกต้นไม้ที่ช่วยฟอกอากาศรอบ ๆ บ้าน เพื่อช่วยกรองฝุ่นและอากาศให้สดชื่น
  8. หากมีอาการแน่นอก หายใจลำบาก หรือผื่นคันตามร่างกาย ให้รีบพบแพทย์ทันที
  9. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้โรคทางเดินหายใจ ควรเตรียมยาประจำตัวให้พร้อม และทานยาประจำสม่ำเสมอ



PM2.5


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะใช้วิธีอยู่บ้านทั้งวัน งดออกนอกบ้านหากไม่จำเป็น เพื่อเป็นการลดการรับฝุ่น PM2.5 แต่ก็ยังมีโอกาสสัมผัสกับส่วนอื่น ที่อาจเป็นตัวการทำลายระบบหายใจได้ อีกทั้งประเทศไทยยังต้องอยู่กับฝุ่น PM ไปอีกนาน สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้และต่อไป ก็คือการดูแลตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ และหากเกิดอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ อย่าไปปล่อยไว้จนเกิดเป็นโรคที่ร้ายแรงหรือเรื้อรังค่ะ



บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โรคท้องร่วงในเด็ก โรคที่พ่อแม่ต้องระวัง เพราะเชื้อโรคอยู่ไม่ไกลตัว !

ลูกมีผื่นแดง ปัญหาผิวที่แม่ป้องกันได้ แค่เพียงรู้สาเหตุ !

โรคลมบ้าหมู หรือ โรคลมชักในเด็ก พ่อแม่รู้เท่าทัน ลูกรักก็ปลอดภัย !

ที่มา : 1