โรคอีสุกอีใสในคนท้อง มีอะไรที่ต้องรู้บ้างเพื่อรับมือ ?

โรคอีสุกอีใสในคนท้อง โรคคุ้นเคยของคนไทย ส่วนมากจะพบได้ในเด็กเล็ก แต่สำหรับแม่ท้องแล้ว ถือว่าไม่ควรนิ่งนอนใจ ถึงแม้โรคจะมีอาการที่ไม่รุนแ 

 919 views

โรคอีสุกอีใสในคนท้อง โรคคุ้นเคยของคนไทย ส่วนมากจะพบได้ในเด็กเล็ก แต่สำหรับแม่ท้องแล้ว ถือว่าไม่ควรนิ่งนอนใจ ถึงแม้โรคจะมีอาการที่ไม่รุนแรง แต่ยังมีกลุ่มอาการหนักที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การพาคุณแม่เข้าพบแพทย์ทันทีหากมีความเสี่ยง และรักษาระยะห่างจากผู้ที่เป็นโรคนี้ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคงูสวัดด้วย

โรคอีสุกอีใส คืออะไร มาจากไหน ?

โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่มักพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella-Zoster Virus) ถึงแม้จะเป็นวัยผู้ใหญ่ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้ในวัยเด็ก จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น การติดต่อกันของเชื้อไวรัสจะติดต่อผ่านการสัมผัสแผลของผู้ป่วย หรือผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากร่างกาย นอกจากนี้หากสัมผัสกับผู้ป่วยโรคงูสวัด ก็สามารถทำให้เสี่ยงโรคอีสุกอีใสได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน

ถึงแม้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก และโรคนี้ไม่ได้รุนแรงมาก จึงทำให้มีอัตราเสียชีวิตที่น้อยมาก แต่สำหรับแม่ท้องแล้วอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเด็กในครรภ์มากกว่าที่คิด

บทความที่เกี่ยวข้อง : เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายอย่างไร เสี่ยงต่อลูกในท้องหรือไม่ ?


วิดีโอจาก : รายการ คุยกับหมออัจจิมา

คนท้องมีอาการอย่างไร ?

หลังจากได้รับเชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์กว่า ๆ (10-21 วัน) ในช่วงนี้หากผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่ามีเชื้อ อาจสามารถแพร่กระจายใส่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว การสังเกตอาการที่เด่นชัดที่สุด คือ มีตุ่มใสขึ้นตามผิวหนัง ร่วมกับอาการอื่น ๆ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องพบแพทย์ทันทีที่เป็นโรคนี้ เพื่อรับการดูแลที่ดีที่สุดจากแพทย์

  • มีไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ และท้อง มีอาการเจ็บคอ
  • รู้สึกอ่อนเพลีย และปวดเมื่อยร่างกายประมาณ 1 – 2 วัน จากนั้นอาการไข้จะลดลง อาการจะดีขึ้นตามลำดับ
  • ผื่นขึ้นผิวหนังทั้งใบหน้า, ลำตัว, หนังศีรษะ, และแขนขา และจะเป็นตุ่มพองใสประมาณ 4 – 6 วัน
  • ตุ่มจะตกสะเก็ดประมาณ 1 – 3 วัน และแผลจะจางลงจนเป็นปกติภายใน 2 อาทิตย์


อาการที่รุนแรง ต้องรีบพบแพทย์

อาการที่รุนแรงที่สามารถสังเกตได้จากทั้งในเด็ก และในผู้ใหญ่ คือ ผื่นตุ่มที่ขึ้นตามร่างกาย หากขึ้นไปที่ดวงตา อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ หรือใจเต้นเร็ว, หายใจลำบาก, มีอาการสั่น, รู้สึกว่ากล้ามเนื้อของตนเองอ่อนแรง รวมไปถึงไข้ขึ้นสูงมากกว่า 38.9 องศาเซลเซียส อาการเหล่านี้จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะเป็นอาการที่อยู่ในกลุ่มอาการหนัก

การดูแลคุณแม่ระหว่างทำการรักษา

  • ให้ความสำคัญกับการพักผ่อน นอนให้เพียงพอ และดื่มน้ำเปล่าสะอาดเพิ่มมากขึ้น
  • ป้องกันการเกาจากอาการคันจนอาจเกิดการติดเชื้อได้ ด้วยการตัดเล็บให้สั้น
  • ระหว่างการรักษาหากคุณแม่มีไข้ ควรทานยาตามที่แพทย์สั่ง ประกอบกับใช้ผ้าหมาด ๆ เช็ดตัวคุณแม่ด้วย
  • กรณีมีอาการคันมากจนทนไม่ไหว สามารถทานยาหรือใช้ยาทาเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ต้องเลือกตัวยาจากคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
  • เสริมสุขอนามัยด้วยการลดโอกาสติดเชื้อ จากการเลือกสบู่ที่เน้นกำจัดเชื้อโรคแทนสบู่เดิมที่ใช้อยู่
  • หากแม่ท้องมีครรภ์อายุตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ควรนับการดิ้นของลูกด้วย หากพบว่าลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้นเลย ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ
  • ระหว่างการรักษาหากอยู่ที่บ้าน พบว่าคุณแม่ท้องมีอาหารที่รุนแรงมากขึ้น ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที


โรคอีสุกอีใสในคนท้อง


หายแล้วแต่อาจยังเสี่ยงโรคงูสวัด

แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาอาการติดเชื้อบนผิวหนัง และยาต้านไวรัสช่วยรักษาโรคไข้สมองอักเสบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย แม้จะรักษาโรคอีสุกอีใสจนหายแล้ว แต่เชื้ออาจจะยังหลงเหลืออยู่ในร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกันกับโรคงูสวัด ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยได้ง่าย หากเป็นโรคนี้สามารถสังเกตได้จากตุ่มปื้นตามแนวของเส้นประสาทบริเวณผิวหนัง


โรคอีสุกอีใสในคนท้อง ส่งผลต่อทารกในครรภ์ไหม ?

มีโอกาส 10 % ที่เชื้อจะสามารถส่งต่อไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ได้ ความเสี่ยงระดับนี้มีเท่ากันทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์ แต่ผลกระทบที่รุนแรงจะพบได้ในไตรมาสแรก เนื่องจากเป็นช่วงที่รกอาจยังไม่แข็งแรง ส่งผลให้ทารกมีความเสี่ยงสมองฝ่อ หรือมีความผิดปกติของกระดูกขา และผิวหนังได้ ส่วนในไตรมาสที่ 2 และ 3 ผลกระทบจะไม่ถึงขั้นทำให้ทารกในครรภ์พิการ

คุณแม่ต้องการป้องกัน จะทำได้อย่างไร ?

การป้องกันที่ได้ประสิทธิภาพ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งโดยปกติแล้วควรได้รับการฉีดทั้งหมด 2 เข็ม แต่หากคุณแม่ท่านใดที่ไม่เคยได้รับการฉีดมาก่อน สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ เนื่องจากในคุณแม่ตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบ หรือมีผลข้างเคียงต่อครรภ์ได้ แต่โดยปกติแล้ว หากไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ และมีแผนจะมีลูกน้อย สามารถเตรียมความพร้อมได้ด้วยการเข้ารับวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม โดยจะต้องฉีดห่างกัน 28 วัน

เนื่องด้วยโรคนี้ยังมีกลุ่มอาการที่รุนแรง ถึงแม้จะพบเจอได้ไม่มาก แต่จำเป็นต้องระวังไว้ หากพบว่าแม่ท้องเป็นโรคนี้จึงไม่ควรหายารักษาเอง ควรรีบพบแพทย์ ทานยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น และเฝ้าดูอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิดด้วย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ครรภ์เป็นพิษ เกิดจากอะไร อันตรายต่อเด็กและแม่ท้องหรือไม่ ?

โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม สาเหตุ อาการ และการป้องกัน

ภาวะซึมเศร้า อาการเป็นอย่างไร แม่ท้องเป็นซึมเศร้าอันตรายไหม ?

ที่มา : 1, 2, 3, 4