ภาวะซึมเศร้า อาการเป็นอย่างไร แม่ท้องเป็นซึมเศร้าอันตรายไหม?

ภาวะซึมเศร้า เป็นอีกหนึ่งอาการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อตั้งครรภ์นั้น คุณแม่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหล 

 1019 views

ภาวะซึมเศร้า เป็นอีกหนึ่งอาการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อตั้งครรภ์นั้น คุณแม่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านร่างกาย และด้านจิตใจ ทำให้คุณแม่หลายคนคนอาจรู้สึกกังวลใจ และมีอารมณ์แปรปรวน ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ วันนี้ Mama Story จะพาคุณแม่ทุกท่านไปเข้าใจกับอาการของภาวะซึมเศร้ากันมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการป้องกันอาการนี้ขณะตั้งครรภ์ค่ะ

ภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์เกิดจากอะไร?

โดยทั่วไปนั้น ภาวะซึมเศร้ามักเกิดกับคุณแม่ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต และการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสารเคมีในสมอง จนทำให้เกิดอาการซึมเศร้านั่นเอง โดยสาเหตุของภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์นั้น สามารถเกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ติดสารเสพติด
  • มีปัญหาทางการเงิน
  • ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม
  • เคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน
  • มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์
  • กังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์
  • ไม่มีคนคอยดูแลขณะตั้งครรภ์
  • มีปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียด
  • เคยแท้งลูก หรือสูญเสียลูกมาก่อน
  • เคยถูกทารุณ หรือถูกทำร้ายมาก่อน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ภาวะซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์อาการเป็นอย่างไร?

อาการของโรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ มีอาการคล้ายกับอาการของโรคซึมเศร้าแบบทั่วไป โดยคุณแม่อาจมีอาการติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ โดยมักจะมีอาการ ดังต่อไปนี้

  • อ่อนเพลีย
  • ไม่มีสมาธิ
  • นอนไม่หลับ
  • อารมณ์เสียง่าย
  • มีความคิดในการฆ่าตัวตาย
  • หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบ
  • รู้สึกสิ้นหวัง ผิดหวัง และไร้ค่า
  • มีพฤติกรรมประมาทเสี่ยงต่อชีวิต
  • เบื่ออาหาร หรือรับประทานได้น้อยลง
  • รู้สึกเศร้าไม่หาย และรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์

สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้า อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง มีภาวะครรภ์เป็นพิษ อันเนื่องมาจากความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเช่นเดียวกัน ซึ่งหากคุณแม่มีภาวะซึมเศร้าระหว่างการตั้งครรภ์อย่างรุนแรง ก็อาจส่งผลให้ลูกที่คลอดออกมาน้ำหนักตัวน้อย อาจมีการคลอดก่อนกำหนด และอาจเกิดความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ของลูกน้อยอีกด้วย นอกจากนี้ภาวะซึมเศร้ายังทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น

  • โรคย้ำคิดย้ำทำ : ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการย้ำคิดย้ำทำร่วมด้วย โดยผู้ป่วยจะเกิดความคิด หรือความกลัวที่นำไปสู่การกระทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำไปซ้ำมา
  • โรคไบโพลาร์ : อาการวิตกกังวลบางครั้งอาจก่อให้เกิดโรคไบโพลาร์ได้ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการกระตือรือร้นมากผิดปกติ สลับกับอาการหดหู่อย่างมาก โดยอาการเหล่านี้จะปรากฏอยู่นาน ก่อนที่จะสลับไปแสดงอารมณ์ตรงข้าม
  • โรคการกินผิดปกติ : คุณแม่บางคนอาจมีพฤติกรรมการกินผิดปกติ เช่น การล้วงคอหลังรับประทานอาหาร และการเกิดโรคคลั่งผอม จนทำให้มีความรู้สึกลบต่อรูปร่าง และน้ำหนักตัวเอง ส่งผลกระทบต่อการรับประทานในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์?

  • นอนไม่หลับ หรือนอนหลับยาก
  • มีอาการเกร็งกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ
  • รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสียได้ง่าย ๆ
  • วิตกกังวลในเรื่องเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมา
  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ
  • ไม่สามารถควบคุมอาการซึมเศร้าของตัวเองได้
  • เกิดอาการตื่นกลัว หรือแพนิค ไม่สามารถสงบสติอารมณ์ได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม สาเหตุ อาการ และการป้องกัน

ภาวะซึมเศร้า

การรักษาภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์

โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ โดยวิธีการรักษาจะเหมือนการรักษาโรคซึมเศร้าแบบทั่วไป โดยจะมีวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุน : การรักษาด้วยวิธีการเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนต่าง ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรม ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายอาการวิตกกังวล และอาการซึมเศร้าได้
  • การให้คำปรึกษา : เป็นการใช้เทคนิคเฉพาะทางที่จะช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดด้านความคิด และพฤติกรรม และการบำบัดด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นต้น
  • การบำบัดด้วยการกระตุ้นสมอง : ถือเป็นขั้นตอนการรักษาแบบหนึ่ง ที่จะใช้การกระตุ้นด้วยคลื่นไฟฟ้า ซึ่งเป็นการปล่อยกระแสไฟฟ้าชนิดอ่อนเข้าสู่สมอง ทำให้ผู้ป่วยหายจากภาวะซึมเศร้า
  • การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า : ผู้ป่วยจะได้รับยาสำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะ แต่วิธีการรักษานี้ก็อาจเสี่ยงต่อลูกในครรภ์ได้ ดังนั้นแพทย์จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ก่อนจะจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย
  • การรักษาแบบธรรมชาติบำบัด : เป็นการใช้วิธีการธรรมชาติช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น การเล่นโยคะ การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เป็นต้น

การป้องกันภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ สามารถป้องกันกับอาการวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้ ด้วยการปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต ดังต่อไปนี้

  • เขียนไดอารี่เพื่อระบายความกังวล
  • เข้าคอร์สอบรมการเตรียมตัวคลอดกับผู้เชี่ยวชาญ
  • เล่าเรื่องที่วิตกกังวลให้คนใกล้ตัว หรือคนที่ไว้ใจฟัง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ และเล่นโยคะ เป็นต้น
  • นอนหลับให้พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องนอนหลับมากเป็นพิเศษ
  • ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง นั่งสมาธิ ฝังเข็ม และไปนวด เป็นต้น

ภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวังเป็นอย่างมาก เพราะหากปล่อยไว้นาน ก็อาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ และอันตรายต่อร่างกายคุณแม่ได้ ดังนั้นหากคุณแม่รู้สึกว่าตัวเองมีความเครียด และความวิตกกังวล ให้ระบายความทุกข์กับคนที่ไว้ใจ หรือทำกิจกรรมคลายเครียด และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

6 ประโยชน์ของน้ำสะอาด ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจไม่รู้

คนท้องกินตำลึง ได้หรือไม่ ช่วยเพิ่มน้ำนมได้จริงหรือ

คนท้องกินโยเกิร์ตได้ไหม ช่วยบำรุงครรภ์ได้จริงหรือไม่?

ที่มา : 1, 2, 3