บูลลี่ ปัญหาที่พบเจอได้ไม่ยาก ทำอย่างไรให้ลูกหลุดพ้นจากการบูลลี่

บูลลี่ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเข้าไปเป็นเหยื่อในพฤติกรรมชนิดนี้ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะป้องกัน เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และ 

 1681 views

บูลลี่ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเข้าไปเป็นเหยื่อในพฤติกรรมชนิดนี้ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะป้องกัน เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และความคิดของคนที่กระทำด้วย จึงทำให้ลูกน้อยอาจมีความเสี่ยง เมื่อต้องไปโรงเรียน จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล

บูลลี่ คืออะไร ?

การบูลลี่ (Bully) คือ การแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่มีความก้าวร้าว และส่งผลกระทบด้านลบต่อทั้งร่างกาย และจิตใจของผู้อื่น ไม่ใช่แค่ผ่านพฤติกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคำพูดอีกด้วย โดยไม่จำเป็นว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะต้องเป็นผู้ที่ด้อยกว่าเพียงเท่านั้น แต่การบูลลี่ยังสามารถมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน, ทุกสถานที่ และทุกช่วงอายุอีกด้วย โดยการกระทำนี้จะส่งผลต่อสภาพจิตใจ และร่างกายที่รุนแรงได้ทั้งในทันที หรือสะสมในระยะยาว ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่คนไทยให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน

ประเภทของการบูลลี่

การกลั่นแกล้งกันมาได้จากหลายช่องทาง หลายรูปแบบ และเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่เราคิด โดยในหลายครั้งอาจเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจด้วย เราจึงควรต้องเรียนรู้ว่าการบูลลี่นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากรูปแบบใดได้บ้าง

  • ทางวาจา (Verbal Bullying) : การใช้ถ้อยคำต่าง ๆ เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกอับอาย ไม่สบายใจ เช่น การล้อเลียนจุดด้อย, การพูดว่าร้ายเหน็บแนม หรือการยกเรื่องที่ทำร้ายจิตใจขึ้นมาพูด เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดแบบใด แต่ถ้าส่งผลเสียต่อความรู้สึกของผู้ที่ถูกกล่าวถึง ก็ถือเป็นการกลั่นแกล้งทางวาจาด้วยกันทั้งสิ้น
  • ผ่านสังคม (Social Bullying) : เป็นการกลั่นแกล้งที่ทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบจากสังคม เช่น การแบนเพื่อนออกจากกลุ่ม เพราะไม่ชอบ, การเอาปม หรือเรื่องร้ายของผู้อื่นมาเผยแพร่อย่างสนุกสนาน หรือการทำให้เกิดความอับอายในพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น
  • กลั่นแกล้งทางกายภาพ (Physical Bullying) : เป็นการกลั่นแกล้งที่ส่งผลให้ร่างกายของผู้อื่นบาดเจ็บ เป็นการทำร้ายร่างกาย เช่น การทุบตี ต่อย รวมไปถึงการรุมทำร้ายไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ถือเป็นการบูลลี่ผ่านทางร่างกายด้วยกันทั้งสิ้น ถือเป็นประเด็นทางสังคมที่สากลให้ความสำคัญว่าทุกปัญหา หรือไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ไม่ควรมีการใช้กำลังเข้ามาเกี่ยวข้อง


วิดีโอจาก : Samitivej Hospitals

เด็กและวัยรุ่นถือเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการบูลลี่มากที่สุด

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการบูลลี่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่สำหรับการบูลลี่ที่มักเป็นกระแสตามหน้าข่าว หรือที่ผู้คนมักพูดถึงกันอยู่ตลอด มักจะเกิดขึ้นภายในโรงเรียน ทั้งจากวัยเด็ก หรือวัยรุ่น และส่งผลรุนแรงถึงขั้นทำให้เด็กตัดสินใจหนีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้นี้ ผ่านทางการฆ่าตัวตาย โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการถูกบูลลี่ และทำให้การบูลลี่นั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ได้แก่

  • การพบเจอกับผู้บูลลี่แทบทุกวัน : หากคนที่กระทำการกลั่นแกล้งนั้นเป็นเพื่อนที่อยู่ห้องเดียวกัน หรือมีความใกล้เคียงกัน ทำให้มีโอกาสที่จะเจอกันทุกครั้งที่ไปโรงเรียน และอาจเลวร้ายกว่านั้นด้วยการเจอกันตลอดทั้งวัน ทำให้การกลั่นแกล้งสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย และตลอดเวลาได้เช่นกัน จนสร้างความกดดันให้กับตัวของเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง
  • Social Media ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย : เด็กหลายคนเกลียดการเข้าสังคม เกลียดการที่ต้องไปโรงเรียน เพราะตนเองจะถูกกลั่นแกล้ง จนอาจปิดกั้นทุกคนไม่กล้าพูดคุยกับใคร ทำให้ไม่มีเพื่อน จนต้องสร้างอีกตัวตนในสื่อออนไลน์ขึ้นมา ในขณะที่เด็กหลายคนอาจไม่สามารถหนีพ้น จนอาจถูกตามมากลั่นแกล้งในพื้นที่สื่อออนไลน์ด้วยเช่นกันทั้งผ่านทางการโพสต์ หรือตามคอมเมนต์ เป็นต้น ปัญหานี้อาจแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับเด็ก ๆ อย่างไรก็ตามปัญหาการบูลลี่ก็ควรแก้จากตัวผู้ที่ทำการบูลลี่เอง
  • ความไม่เข้าใจของผู้ใหญ่ : หลายครั้งที่เด็ก ๆ อาจนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปปรึกษากับคุณครูแล้ว แต่ด้วยความที่ยังเด็ก จึงอาจทำให้ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็ก เป็นเพียงการเล่นกันของเด็ก เลยไม่ได้ให้ความสนใจ หรือเข้ามาควบคุมปัญหาอย่างจริงจัง จนเรื่องไปถึงผู้ปกครองของเด็กในที่สุด หรืออาจเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นกับเด็กไปเสียแล้ว


จากข้อมูลของ เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ที่ได้ทำการสำรวจไว้ว่าเด็กช่วงอายุ 10-15 ปี จากทั้งหมด 15 โรงเรียน ผลลัพธ์คือ เด็ก 91.79 % เผยว่าตนเองเคยถูกบูลลี่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยการบูลลี่กลั่นแกล้งที่พบเจอได้มากที่สุด คือ การตบศีรษะ, การถูกล้อชื่อพ่อแม่ และการพูดจาเหยียดหยามปมด้อย หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง : 8 วิธีฝึกลูกรับมือเมื่อต้องเผชิญภัยร้ายจาก “คนแปลกหน้า”

เมื่อลูกถูกบูลลี่ควรทำอย่างไร ?

เมื่อลูกมีปัญหามาจากโรงเรียนหรือมีเรื่องไม่สบายใจ ผู้ปกครองอาจสังเกตได้ หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับการสังเกต และการแสดงออกของเด็ก หากมีเรื่องการกลั่นแกล้งจริง ผู้ปกครองต้องใจเย็น ๆ และแก้ไขให้เป็นขั้นตอน

ให้ความสนใจพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ

เด็กหลายคนอาจมีความกล้าที่จะบอกเรื่องที่ตนเองถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ในขณะที่หลายคนอาจไม่มีความกล้า จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในที่สุด ดังนั้นก่อนเริ่มการแก้ปัญหาใด ๆ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้ปัญหาของลูก ๆ ก่อนเสมอ หากลูกไม่ยอมบอกเอง ก็ต้องพยายามพูดคุยถามไถ่ ถึงเรื่องที่โรงเรียนว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรอยากเล่าให้ฟังไหม หรืออาจถามตรง ๆ ว่ามีใครทำอะไรไม่ดีใส่หรือเปล่า บอกพ่อกับแม่ได้นะ ควรถามลูกอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นแสดงความรัก และแสดงออกมาว่าลูกสามารถพูดคุยกับเราได้ทั้งเรื่องที่ดี และเรื่องที่ร้าย


บูลลี่


ให้ลูกเสนอแนวทางแก้ไขก่อน

เมื่อรู้ปัญหาจากลูกแล้ว ก็เริ่มพูดคุยเพื่อหาแนวทางแก้ไข โดยให้ลูกเป็นฝ่ายแสดงความคิดเห็นก่อนว่า อยากแก้ปัญหาแบบใด หากมีความสมเหตุสมผลมากพอ อาจให้ลูกได้ลองนำวิธีเหล่านั้นไปใช้ได้ก่อน หากไม่ได้ผลก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องให้คำแนะนำกับลูก ด้วยการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น

  • ให้ทำเป็นไม่สนใจ ไม่ต้องไปตอบโต้ เพราะการโต้เถียงด้วยอารมณ์ เป็นสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการเช่นกัน
  • หากอยากตอบโต้ สามารถทำได้ด้วยการพูดจาที่สุภาพ อ่อนน้อม เพื่อให้อีกฝ่ายเกิดความอึดอัดแทน
  • เลี่ยงการถูกบูลลี่ในโลกออนไลน์ ด้วยการช่วยลูกตั้งค่าความส่วนตัวบนสื่อให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพื่อจำกัดการคุกคามจากผู้อื่น
  • แจ้งให้คุณครูทราบ หากยังไม่มีความเคลื่อนไหว คุณพ่อคุณแม่ต้องไปด้วยตนเอง เพื่อแสดงจุดยืนจากการไม่ยอมรับเรื่องการบูลลี่ในโรงเรียน
  • ให้ลูกได้มีโอกาสเพิ่มความรู้ในการป้องกันตัว ด้วยการพาไปเรียนศิลปะการป้องกันตัว เพื่อเอาไว้ในยามที่จำเป็นจริง ๆ
  • หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อาจต้องเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหว หรืออาจย้ายลูกออกจากกลุ่มคนเหล่านั้น เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

ทั้งนี้การแก้ปัญหาเหล่านี้ หากคุณพ่อคุณแม่กำลังแนะนำลูก หรือช่วยลูกแก้ปัญหา จะต้องไม่ทำไปด้วยอารมณ์ เพื่อให้ได้การแก้ปัญหาที่ได้ประสิทธิภาพ และเกิดผลกระทบต่อผู้อื่นไม่มากเกินความจำเป็น

พาลูกพบแพทย์หากกระทบจิตใจรุนแรง

บางครั้งการบูลลี่อาจเกิดขึ้นมายาวนาน จนลูกได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจไปแล้ว และยากที่จะแก้ไข จนอาจต้องใช้วิธีการรักษาจากแพทย์ที่เป็นมืออาชีพ เพื่อเกิดการเยียวยาทางด้านจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับการให้กำลังใจ และการอยู่ดูแลมอบความรัก ความเข้าใจตลอดเวลา ไม่ให้ลูกรู้สึกว่าตนเองต้องเผชิญปัญหาด้วยตัวคนเดียว

ส่งต่อความเข้าใจต่อผู้อื่น

หากลูกอยู่ในระหว่างการแก้ปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง หรือสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว ต่อไปก็ต้องให้ลูกมีความเข้าใจ ว่าตนเองก็ต้องไม่ไปทำกับใครเช่นกัน เพื่อไม่ให้คนอื่นมีความรู้สึกเหมือนกับตนเอง และเป็นการสร้างสังคมที่ดีต่อคนหมู่มาก และให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษากับผู้อื่นที่กำลังถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนได้ด้วย จะถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก สิ่งนี้จะทำให้ลูกคนนี้เติบโตขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อการกลั่นแกล้งไม่ใช่เรื่องที่ควรเอาแบบอย่าง เป็นเรื่องที่ไม่มีใครเห็นด้วย และควรช่วยกันต่อต้าน ไม่ใช่แค่เพื่อลูกตัวน้อยของเราเท่านั้น แต่ยังเพื่อทุก ๆ คนในสังคมด้วย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

7 วิธีแก้อาการหลังลูก “เบื่ออาหาร” ให้กลับมามีความสุขกับมื้ออาหารอีกครั้ง

ทำไมลูกตัวน้อยจึงชอบ “โกหก” พาคุณพ่อคุณแม่มาหาคำตอบกัน

ฝึกลูกให้ “แก้ปัญหา” ด้วยตนเองทำได้ไม่ยาก เดี๋ยวเรากระซิบบอกเอง

ที่มา : 1, 2, 3