ปัญหา “โลกส่วนตัวสูง” ไม่ใช่โรค ช่วยลูกปรับตัวได้ด้วยการยอมรับ และความเข้าใจ

จะทำอย่างไรดีหากลูก ๆ ในบ้านเกิดมี “โลกส่วนตัวสูง” ขึ้นมา ถึงแม้จะไม่ใช่โรคร้าย แต่ก็อาจสร้างความกังวล หรือสร้างอุปสรรคต่อการเข้าสังคมของเ 

 1486 views

จะทำอย่างไรดีหากลูก ๆ ในบ้านเกิดมี “โลกส่วนตัวสูง” ขึ้นมา ถึงแม้จะไม่ใช่โรคร้าย แต่ก็อาจสร้างความกังวล หรือสร้างอุปสรรคต่อการเข้าสังคมของเด็ก และจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นเมื่อเขาโตขึ้นไป เพราะในอนาคตการเรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือการทำงานนั้นจำเป็นต้องพบปะ และพูดคุยกับผู้คนมากพอสมควร

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “โลกส่วนตัวสูง”

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “โลกส่วนตัวสูง” ไม่ใช่ “โรคส่วนตัวสูง” พฤติกรรมนี้จึงไม่ใช่โรคที่ต้องรักษา แต่ให้มองว่าเป็นพฤติกรรมของเด็ก ที่อาจต้องได้รับการขัดเกลาในบางส่วน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในแง่ร้ายของตัวเด็กเองในอนาคต เราไม่จำเป็นต้องทำลายโลกส่วนตัวของเขา แต่แค่ช่วยให้เขาพลิกแพลง ปรับเปลี่ยนบางมุม เพื่อให้สามารถเข้าสังคม พูดคุย และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างเป็นธรรมชาติเท่านั้นเอง

วิดีโอจาก : สามเณร ปลูกปัญญาธรรม – True Little Monk

สาเหตุที่ลูกมีโรคส่วนตัวสูง

การที่เด็กมีโรคส่วนตัวสูงนั้น มีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นผลมาจากรูปแบบการเลี้ยงดู ที่ทำให้เด็กขาดโอกาสได้พบเจอกับคนอื่น หรืออาจเป็นที่ตัวตนของเด็กเองที่ไม่ชอบ ซึ่งมีสาเหตุดังต่อไปนี้

1. มีโอกาสพบผู้คนน้อยเกินไป

เด็ก ๆ ที่อยู่ในช่วงวัยกำลังเรียนรู้ และจำเป็นต้องพบเจอผู้อื่น เพื่อปรับตัวในการเข้าสังคม ดู้จักการพูดคุย หรือเล่นกับเด็กคนอื่น หากไม่มีโอกาสในจุดนี้ หรือมีโอกาสได้ทำน้อยเกินไป จะส่งผลให้เด็กไม่คุ้นเคยกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ถึงแม้จะยังมีอีกหลายทางเลือก แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ทางเลือกนี้มีความสำคัญมากที่สุดเช่นกัน

2. คุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยมีเวลา

ปัญหาที่อาจพบเจอได้ไม่ยาก โดยเฉพาะกับการมีลูกคนแรกที่อาจจะต้องใช้การปรับตัวสักหน่อยในหลาย ๆ แง่มุมของชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป จนบางครั้งอาจไม่มีเวลาให้ลูกมากพอ อาจให้ความสำคัญกับการทำงานมากเกินไป เมื่อลูกเรียนรู้ตรงจุเนี้ได้ เขาจะไม่มีทางเลือกนอกจากต้องอยู่กับตนเองต่อไป พยายามเล่นสนุกด้วยตัวคนเดียว จนเกิดโลกส่วนตัวของเขาขึ้นมาในที่สุด

3. เด็กขาดความกล้า และความมั่นใจในตนเอง

ความมั่นใจเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่กับผู้ใหญ่ กับเด็กเองด้วยก็เช่นกัน การที่ต้องเข้าหาคนที่ไม่สนิท เด็กคนอื่นที่ไม่รู้จัก อาจต้องใช้ความกล้า และความมั่นใจ ที่จะเข้าไปสนทนาด้วย หรือชวนเล่น ในมุมมองของผู้ใหญ่อาจมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ซึ่งเราไม่ควรคิดแบบนั้น เราควรมองในมุมมองของเด็ก ๆ ด้วย ควรถามเขาว่ามีเรื่องกังวลใจอะไร ที่เราสามารถช่วยได้บ้าง

4. เป็นนิสัยของตัวเด็กเอง

นอกจากปัญหาต่าง ๆ ตามที่เราได้กล่าวไปแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถเกิดขึ้นได้นั้น คือ การที่เด็กมีนิสัยชอบทำอะไรคนเดียว หรือไม่ค่อยชอบการเข้าสังคม ซึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ ที่จะต้องให้เด็กได้เรียนรู้ ถึงความสำคัญของการเข้าสังคมด้วย แม้ว่าลูกจะไม่ค่อยชอบก็ตาม เพราะหากปล่อยไว้ อาจกลายเป็นว่าลูกจะสร้างกำแพงของตนเองต่อผู้อื่นขึ้นมาได้

ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ และคงไม่ใช่ใครที่ไหน ต้องเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ ที่จะต้องช่วยให้ลูกปรับตัวตั้งแต่ตอนที่เขายังเล็ก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคตของเด็กเอง

โลกส่วนตัวสูง


จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกำลังมีโลกส่วนตัวสูง ?

สามารถสังเกตได้จากปฏิกิริยาตอบโต้ หากมีคนพยายามเข้าไปรุกล้ำมากเกินไป เช่น พบว่ามีคนไปค้นของส่วนตัวของลูก เขาจะแสดงอารมณ์โกรธ และไม่พอใจออกมาค่อนข้างรุนแรง ถึงแม้ว่าของเหล่านั้นไม่ใช่ของที่ผิดกฎหมาย และใช่ของที่จะต้องเป็นความลับอะไรก็ตาม หากเด็กแสดงอาการในลักษณะนี้ นั่นหมายความว่าเขาได้มีโลกส่วนตัวที่สูงนั่นเอง

นอกจากนี้ความไม่พอใจกับการถูกรุกล้ำพื้นที่นั้นยังสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลโดยทั่วไป แต่จุดที่แตกต่าง คือ หากเด็กแสดงความไม่พอใจ แล้วยังมีเหตุการณ์เดิมเกิดขึ้นซ้ำ อาจเกิดการกระทบกระทั่งที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมขึ้นได้


ทำอย่างไรเมื่อลูกมีโลกส่วนตัวสูง

การช่วยลูกปรับตัวในเรื่องนี้ควรเริ่มจากการเข้าใจในตัวตนของลูกก่อน แล้วค่อยหากิจกรรมอื่น ๆ ให้ลูกทำ เพื่อที่จะได้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดที่สุด โดยมีวิธี ดังนี้

เรียนรู้ตัวตนลูกเพื่อทำความเข้าใจก่อน

ควรเริ่มจากการเรียนรู้ว่าลูกรู้สึกอย่างไร คิดอะไรอยู่ ทำไมถึงไม่ชอบผู้คน หรือมีปัญหาจุดไหนที่ทำให้ตัดสินใจไม่เข้าหาคนอื่น อาจทำได้จากการพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้กดดันที่จะเอาคำตอบ หรือหากลูกไม่อยากบอก ก็อาจสังเกตได้จากพฤติกรรมของลูกได้เช่นกัน ไม่ว่าอย่างไรก็ควรเริ่มจากขั้นตอนนี้ เพื่อให้สามารถทำขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไปได้ แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมด้วยว่า สิ่งนี้ไม่ใช่โรค

เคารพตัวตนของลูกในโลกที่เขามี

ต่อมาให้แสดงความเคารพ และการยอมรับกับการที่เด็กมีโลกส่วนตัว ถึงแม้จะสูงอยู่ก็ตาม ต้องไม่ทำตัวเหมือนกับผู้ปกครองในละครทีวี ที่เข้าไปค้นกระเป๋า หรือซอกมุมของห้องลูกทุกครั้งที่มีโอกาส เข้าไปค้นหา Social Media ของลูกแล้วเข้าไปดูทุกวัน พยายามเข้าไปในพื้นที่ของเขาจนดูมากเกินไป แต่ควรให้ความสบายใจแก่เขา ทำให้เขารู้ว่าเราเคารพพื้นที่ของเขา เพื่อให้เกิดความเชื่อใจกันแบบคนในครอบครัวจากใจจริง ๆ จะทำให้การพูดคุยนั้นง่ายขึ้น

ลูกโลกส่วนตัวสูง


ให้เวลาที่แท้จริงกับลูก

การให้เวลาที่ลูกที่เราว่านี้ ไม่ใช่การให้เวลาในรูปแบบนั่งกับลูก อยู่ในบ้านกับลูกเท่านั้น แต่หมายถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น และพูดคุยกับบุคคลในครอบครัว เพื่อสร้างความคุ้นเคย สำหรับการเข้าสังคมได้มากขึ้น กิจกรรมที่ควรนำมาทำกับลูกนั้นต้องไม่น่าเบื่อ เพราะจะทำให้เด็กไม่อยากทำ หรือทำด้วยความไม่เต็มใจ หากเป็นแบบนั้นจะทำให้เสียเวลามากกว่าจะแก้ปัญหาได้

พาไปพบปะผู้อื่นบ้างตามโอกาส

ต่อมาก็ถึงขั้นตอนการลดกำแพงของลูกลงส่วนหนึ่ง เพื่อให้เขาปรับตัวได้ ควรเริ่มจากการชักชวนออกไปข้างนอก ที่ได้เจอผู้คน หรือมีโอกาสได้พัฒนาการพูดคุยกับผู้อื่น โดยจะต้องไม่ใช่การบังคับว่า “อย่างไรก็ต้องไป” อาจเป็นการชักชวน แล้วจะให้ขนม หรือของเล่นเพิ่มก็ได้ แต่ไม่ควรทำแบบนี้ทุกครั้ง เพราะจะกลายเป็นว่าเขาไปเพราะต้องการรางวัล โดยสถานที่นั้น ๆ ที่มีความเหมาะสม เช่น สนามเด็กเล่น, สวนสาธารณะ หรือชมรมที่มีเด็กอายุใกล้เคียงกัน เป็นต้น

อย่าใจร้อน ให้เวลาปรับตัว

เมื่อทำครบทุกอย่างแล้ว ก็ต้องให้เวลากับลูกได้ปรับตัวเป็นระยะ ๆ และไม่ควรพาเขาพบปะผู้คน หรือชวนทำกิจกรรมครั้งเดียว แล้วไม่ทำอีกไปเป็นเดือน หากเป็นแบบนั้นก็แทบจะไม่ช่วยอะไรเลย ควรช่วยลูกปรับตัวอย่างสม่ำเสมอ และติดตามดูพัฒนาการด้านความคิด และการปรับตัว ว่าไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่

คุณพ่อคุณแม่หากพบว่าลูกมีโลกส่วนตัวสูง ควรช่วยเขาปรับตัวให้ทันเมื่อยังมีโอกาสได้อยู่ใกล้กับเขา ก่อนที่ลูกจะติดนิสัย แล้วเติบโตเข้าสู่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย หรือวัยทำงาน ที่อาจจะทำให้ปรับตัวได้ยากกว่าเดิม

บทความที่น่าสนใจ :

6 วิธีแก้ปัญหาลูกน้อยไม่ยอม “ขอโทษ” เมื่อตนเองทำความผิด แก้ได้แต่ต้องเข้าใจ

5 วิธีสอนลูกอย่างไร ให้ลูกกลายเป็นคน “คิดบวก” หายห่วงทุกสถานการณ์

ปัญหาเด็กยุคใหม่ ลูกติดมือถือ จับไม่ยอมวาง ทำอย่างไรดี ?

ที่มา : 1, 2, 3