ยินดีกับคุณแม่ที่กำลัง ท้อง 3 เดือน ด้วยนะคะ เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ในช่วงนี้คุณแม่หลายคนคงเริ่มหายจากอาการแพ้ท้องกันบ้างแล้ว แต่ก็อาจจะยังมีบางคน ที่ยังคงมีอาการแพ้ท้องหนักอยู่ แต่ไม่ต้องตกใจไปค่ะ เป็นเรื่องธรรมดา แล้วสงสัยกันไหมคะว่า พัฒนาการของทารกในครรภ์จะเป็นอย่างไรบ้าง และความเสี่ยงอะไรที่คุณแม่ควรรู้ในช่วงการตั้งครรภ์ระยะนี้ วันนี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ
อายุครรภ์ 3 เดือน หรือ ท้อง 3 เดือน นับจากอะไร
อายุครรภ์ 3 เดือน หรือ ท้อง 3 เดือน คือเริ่มนับจากวันที่คุณแม่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด นับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มาจนเป็นระยะเวลา 9-13 สัปดาห์ นับเป็นช่วงสุดท้ายของไตรมาสแรก ที่กำลังจะก้าวไปสู่ไตรมาสที่สองที่จะมีพัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นอีกมากมายต่อทั้งคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์
คุณแม่ ท้อง 3 เดือน ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ในช่วงนี้ สิ่งที่เริ่มชัดเจนคือ คุณแม่บางคนอาจจะเริ่มมี หน้าท้อง ขึ้นมาบ้างแล้ว จนเห็นชัดเจนขึ้นกว่าช่วงตั้งท้อง 2 เดือนแรกที่ผ่านมา แต่บางคนก็อาจจะยังไม่ต่างจากเดิมมาก ขึ้นอยู่กับสรีระร่างกายของแต่ละคน ส่วนใหญ่ในช่วงระยะนี้ อาการแพ้ท้องจะเริ่มลดน้อยลงจนแทบไม่มี เพราะว่าระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงแรกเริ่มคงที่แล้ว แต่หากคุณแม่ท่านไหนยังมีอาการแพ้ท้องหนักอยู่ ก็ควรไปพบแพทย์ได้ เพราะอาจทำให้ขาดภาวะสมดุลของวิตามินและเกลือแร่ในร่างกาย จนส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ แต่นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่
- น้ำหนักขึ้น ซึ่งในช่วงนี้น้ำหนักจะขึ้นประมาณ 0.6-2.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องควบคุมไม่ให้น้ำหนักขึ้นมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ขนาดท้องเริ่มชัด หน้าท้องเริ่มขยายใหญ่ขึ้น จนอาจทำให้เกิดรอยแตกลายได้ ดังนั้น คุณแม่ควรเริ่มทาครีมบำรุงได้ตั้งแต่ช่วงนี้เลย โดยเลือกครีมที่มีส่วนผสมของสารเพิ่มความชุ่มชื้นที่ปลอดภัย ได้รับการรับรองจากแพทย์จะดีที่สุดค่ะ
- ท้องผูก ท้องอืด มีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร เพราะขนาดมดลูกเริ่มขยายตัวมากขึ้น ทำให้ไปกดทับกับลำไส้ได้
- ปวดศีรษะ และวิงเวียนศีรษะ เนื่องมาจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ควรดื่มน้ำให้เยอะ ๆ ผ่อนคลายความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ และใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้นค่ะ
- เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง โดยลานหัวนมจะมีสีคล้ำขึ้น จากการที่ระดับของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไปในช่วงไตรมาสแรก เต้านมอาจมีอาการบวม คัน และอาจมีอาการคัดเต้านมไปจนถึงไตรมาสที่ 2 อีกด้วย
- มีตกขาวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่หากตกขาวมีสีที่ผิดปกติไป เช่น สีเขียว สีชมพู หรือ สีน้ำตาล ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อที่ช่องคลอดได้ค่ะ
- ทานอาหารบางอย่างไม่ลง เกิดจากการที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประสาทในการรับกลิ่นและรับรส ทำงานได้ดีเป็นพิเศษ แต่จะเป็นแค่ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งท้องเท่านั้นค่ะ พอผ่านไปสักพัก ในช่วงตอนปลายของไตรมาสแรก การรับรสหรือรับกลิ่น ก็จะกลับมาปกติเหมือนเดิมค่ะ
พัฒนาการของทารกในครรภ์ ตอนอายุครรภ์ 3 เดือน ท้อง 3 เดือน
ในช่วงปลายของไตรมาสนี้ ขนาดของลูกในครรภ์จะมีความยาวประมาณ 9 เซนติเมตร น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 15 กรัม หรือเท่ากับขนาดของลูกมะนาวเท่านั้นค่ะ จะเริ่มมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดังนี้
พัฒนาการด้านร่างกาย
ในระยะนี้ อวัยวะของทารกในครรภ์จะมีครบถ้วนแล้วค่ะ ทั้งแขน ขา ศีรษะ ตามนิ้วเริ่มมีเล็บงอกออกมาแล้ว สามารถอ้าปากและหุบปากได้
- ใบหน้า จะเริ่มเห็นดวงตาที่ปิดอยู่ใต้เปลือกตา คิ้ว และริมฝีปาก คุณแม่สามารถเริ่มเห็นเขาได้ เมื่อไปอัลตร้าซาวนด์
- หัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจจะเริ่มเต้นสม่ำเสมอ โดยมีอัตราการเต้นอยู่ที่ 110-160 ครั้งต่อนาที
- อวัยวะเพศ กำลังอยู่ในขั้นแรกของการสร้าง เนื่องมาจากฮอร์โมนที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง
- กระดูกแข็งแรงขึ้น เริ่มมีการสร้างฟัน ในช่วงนี้จะเริ่มมีการเริ่มสร้างขากรรไกร ฟันทั้ง 32 ซี่ จะถูกซ่อนอยู่ใต้ปุ่มเหงือก
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงนี้ลูกน้อยของคุณอาจสามารถดูดนิ้วโป้งน้อย ๆ ของเขา หรือ สะอึกได้อีกด้วย
ทำไมถึงมีความเชื่อว่า ควรบอกคนอื่นตอน ท้อง 3 เดือน
ซึ่งความเชื่อนี้เป็นความเชื่อของแต่ละคนนะคะ ไม่ได้มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ไว้ แต่จากข้อสรุปแล้ว เป็นเพราะว่าในช่วง ท้อง 3 เดือน นี้ ยังอยู่ในช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการแท้งลูกในครรภ์สูง เพราะอยู่ในช่วงที่ทารกในครรภ์กำลังพัฒนา หากคุณแม่ดูแลตัวเองไม่ดี อาจทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูกได้ ดังนั้น ในช่วงนี้จึงควรเป็นช่วงที่คุณแม่ควรดูแลตัวเองให้ดีที่สุดค่ะ
คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร ในช่วงท้อง 3 เดือน
พักผ่อนให้มากที่สุด
สิ่งที่คุณแม่ควรทำก็คือ นอน นอน และนอน! ให้มาก ๆ การพักผ่อนให้เพียงพอในช่วงนี้สำคัญต่อทารกในครรภ์มากที่สุด
ทานอาหารที่มีประโยชน์
อย่างที่บอกไปว่านี่คือช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาร่างกายของทารก การทานอาหารที่มีประโยชน์ สามารถช่วยในการเสริมสร้างร่างกายของลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยควรเลือกทานอาหารที่เน้นไปที่โปรตีน เพราะโปรตีนมีบทบาทสำคัญในการสร้างเนื้อเยื่อของทารกในครรภ์ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้เลย คือ แคลเซียม ที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูก
บทความที่เกี่ยวข้อง : แคลเซียม สำหรับเด็ก สำคัญอย่างไร กินปริมาณเท่าไหร่ถึงจะดี ?
งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เพราะมีผลต่อการสร้างเซลล์ประสาทของทารก อาจทำให้พัฒนาการของทารกผิดปกติ พิการ หรือเกิดอาการแท้งลูกได้เลย
ปรึกษาแพทย์เรื่องการเลือกทานวิตามินเสริม
คุณแม่บางคนอาจมีการขาดสมดุลของวิตามินไปบ้างในระหว่างที่แพ้ท้อง อีกทั้งในการตั้งครรภ์ ยังต้องการวิตามินเสริมในการเสริมสร้างทารกในครรภ์อีกด้วย ดังนั้น จึงควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเรื่องการทานวิตามินหรืออาหารเสริม เพื่อสุขภาพของคุณแม่เองด้วยค่ะ โดยวิตามินที่ควรเลือกทานเสริม เช่น โฟลิก แคลเซียม ธาตุเหล็ก เป็นต้น
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ คุณแม่หลายคนกำลังจะก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์แล้ว ในช่วงนี้หากดูแลตัวเองไม่ดี หรือคุณแม่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง อาจมีความเสี่ยงในการแท้งลูกได้ แต่ยังไงก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหน คุณแม่ก็ควรดูแลตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของคุณแม่เองด้วยนะคะ อย่าลืมหมั่นไปพบคุณหมอที่ฝากครรภ์บ่อย ๆ พูดคุยและปรึกษาแพทย์ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ท้อง 4 เดือน อาการคนท้อง 4 เดือน และพัฒนาการทารกในครรภ์
8 อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง แม่ท้องกินแล้วดีมีประโยชน์ต่อลูกในครรภ์