ผ่าคลอดแล้ว ท้องต่อไปจะต้องผ่าอีกไหม ครรภ์แบบไหนต้องผ่าคลอด ?

แม่ท้องบางคนอาจมีความจำเป็นที่จะต้องผ่าคลอด (Caesarean Section) ซึ่งสร้างความกังวลรบกวนในจิตใจ ว่าตนเองจะปลอดภัยไหม ต่อไปจะคลอดแบบธรรมชาติได้หรือเปล 

 1526 views

แม่ท้องบางคนอาจมีความจำเป็นที่จะต้องผ่าคลอด (Caesarean Section) ซึ่งสร้างความกังวลรบกวนในจิตใจ ว่าตนเองจะปลอดภัยไหม ต่อไปจะคลอดแบบธรรมชาติได้หรือเปล่า ความเป็นจริงแล้วการคลอดแบบผ่านั้น เป็นวิธีที่แพทย์ตัดสินใจทำ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดสำหรับคุณแม่ และทารก เพื่อเลี่ยงความเสี่ยง หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทำการคลอด

ทำไมคุณแม่จึงต้องผ่าคลอด ไม่ผ่าได้ไหม ?

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความจำเป็นจะต้องคลอดแบบผ่า มักเกิดจากการที่แพทย์ตรวจพบความเสี่ยง หรือภาวะต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอุปสรรคในขณะทำคลอด หรือถูกวินิจฉัยว่าอาจเกิดอันตรายต่อคุณแม่ และทารก จนไม่สามารถคลอดแบบธรรมชาติได้ ดังนี้

  • คุณแม่มีขนาดของอุ้งเชิงกรานเล็กมากเกินไป ประกอบกับทารกมีขนาดตัวใหญ่ ทำให้ไม่สามารถทำคลอดได้ มีโอกาสพบได้ในคุณแม่ที่มีขนาดตัวเล็ก
  • ในขณะทำคลอดทารกไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง คือ ทารกไม่ยอมเอาหัวลงมา หรือนอนตะแคง ทำให้แพทย์ต้องพิจารณาทำการคลอดแบบผ่าแทนการคลอดแบบธรรมชาติ
  • มีภาวะรกเกาะต่ำ ทำให้รกลงมาปิดปากมดลูก แทนที่จะเปิดออกตามธรรมชาติ ทำให้ไม่สามารถทำคลอดแบบวิธีปกติได้
  • คุณแม่ที่มีเนื้องอกบริเวณใกล้กับปากมดลูก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำคลอด
  • ตรวจพบว่าทารกมีการทำงานของหัวใจผิดปกติ หรือทารกกำลังขาดออกซิเจน
  • คุณแม่มีครรภ์แฝด ไม่สามารถคลอดแบบธรรมชาติได้ เนื่องจากทารกคนแรกอาจคลอดออกมาได้ปกติ แต่อีกคนอาจกลิ้งกลับหัวอยู่ในครรภ์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้


บทความที่เกี่ยวข้อง : คลอดธรรมชาติดีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะคลอดแบบธรรมชาติได้ ?


วิดีโอจาก : โตไปด้วยกัน Family Journey

การคลอดแบบผ่า ทำได้มากกว่า 1 ครั้งหรือไม่ ?

การคลอดด้วยวิธีการผ่านั้น ความจริงแล้วสามารถทำได้หลายครั้ง แต่ครั้งที่ต้องระมัดระวัง คือ ครั้งที่ 3 ขึ้นไป เนื่องจากจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดได้ เพราะการผ่าจะทำให้เกิดพังผืดภายในร่างกายของคุณแม่ ส่งผลให้การผ่าตัดอื่นอาจทำได้ยาก เพราะพังผืดจะยึดรั้งอวัยวะภายในใกล้มดลูกเข้าหากัน ทำให้การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ และระบบทางเดินอาหาร จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้หากคุณแม่ท้องแรกทำการคลอดแบบผ่าไปแล้ว ในท้องถัดไปควรจะต้องทำการผ่าเหมือนกัน เพราะการผ่าจะทำให้มดลูกมีแผลเป็น หากทำการคลอดแบบปกติครั้งต่อไป จะมีโอกาส 1 % ที่มดลูกจะแตกจากความตึงเมื่อต้องขยายตัวตอนคุณแม่เบ่งคลอด ซึ่งเป็นผลมาจากการผ่าในครั้งแรก แพทย์จึงมักแนะนำให้คุณแม่ทำการผ่าแทนการคลอดแบบปกติ เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด

ถึงจะผ่าคลอดไม่ได้หมายความว่าต้องไม่ดีเสมอไป

หากคุณแม่เลือกวิธีการทำคลอดได้ ก็คงต้องการคลอดแบบธรรมชาติทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่าการคลอดแบบผ่า จะต้องมีแต่ข้อเสียเสมอไป การคลอดแบบผ่ายังคงเป็นทางออกสำหรับคุณแม่ที่มีความจำเป็นต้องทำคลอด ตามกำหนดเพื่อให้ทารกปลอดภัย จากความเสี่ยงต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

  • การทำคลอดด้วยวิธีผ่า ซึ่งจะถูกแพทย์ประเมินว่ามีความเหมาะสม และสามารถทำได้ จะมีกำหนดการที่แน่นอนกว่า การคลอดแบบธรรมชาติ โดยครรภ์ควรมีอายุที่ 38 สัปดาห์ขึ้นไป และแพทย์จะดูความแข็งแรงของทารกในครรภ์ร่วมด้วย
  • ระยะเวลาในการทำคลอดไม่นานเทียบเท่าการคลอดแบบปติ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องให้คุณแม่เบ่งเพื่อให้ปากมดลูกเปิด โดยการทำคลอดแบบผ่าจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที – 1 ชั่วโมง ทำให้คุณแม่สามารถเห็นหน้าลูกน้อยได้เร็วมากขึ้น
  • ขณะทำคลอดคุณแม่จะได้รับความเจ็บปวดน้อยลง เนื่องจากขณะทำคลอด ไม่ต้องเบ่งเอง แพทย์จะให้ยาสลบ หรือทำการบล็อกหลัง แต่จะมีอาการเจ็บปวดหลังจากคลอดเสร็จแล้ว จากบาดแผล แต่ด้วยการผ่าในปัจจุบันที่มีเครื่องมือพร้อมขึ้น ทำให้แผลสามารถหายได้ในระยะเวลาที่ไม่นาน
  • การคลอดแบบธรรมชาติ อาจทำให้กระดูกเชิงกรานยืดหย่อนได้ จากแรงเบ่งของคุณแม่ แต่การคลอดแบบผ่า จะช่วยเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้
  • มั่นใจในความปลอดภัยได้มากขึ้น เนื่องจากการคลอดแบบผ่า บางครั้งอาจเกิดขึ้นในกรณีที่ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะประเมินอย่างรอบคอบระมัดระวัง ทำให้ถึงแม้จะมีเหตุการณ์ที่ไม่ได้พร้อมรับมือ การคลอดวิธีนี้จะยังเป็นอีกทางออกที่ทำให้ทารก และคุณแม่มีโอกาสในการทำคลอดตามกำหนดได้มากขึ้น


ผ่าคลอด


การดูแลแม่ท้องหลังจากผ่าคลอด

  • หลังคลอดแล้วคุณแม่จะฟื้นตัวภายใน 12 ชั่วโมง และใช้เวลาพักดูแลอาการ สามารถกลับบ้านได้หลังจากผ่านไปประมาณ 4 วัน โดยแพทย์จะคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ตามขั้นตอน
  • เมื่อคุณแม่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ต้องทำการดูแลแผลที่ผ่าต่อ ไม่ให้ถูกน้ำ หรือใช้แรงบริเวณหน้าท้องมาก เลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว เนื่องจากแผลอาจปริ หรือเกิดการติดเชื้อได้
  • คุณแม่ควรเคลื่อนไหวให้น้อย จึงควรนำอุปกรณ์ หรือของจำเป็นต่าง ๆ มาวางไว้ใกล้มือคุณแม่ เพื่อให้หยิบใช้ได้สะดวก
  • ใช้หมอนช่วยรองบริเวณหน้าท้อง ขณะที่ให้นมลูกน้อย จะช่วยลดโอกาสปวดบริเวณแผลที่ผ่าได้
  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หากแผลยังไม่หายดี เพราะอาจเกิดอาการเกร็ง หรือการกระทบกระเทือนต่อบาดแผลได้
  • แผลที่ได้รับการดูแล ปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ถึงหายดี และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่


อาการเหล่านี้ควรพาคุณแม่มาพบแพทย์ด่วน

ขณะพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หากพบว่าคุณแม่มีอาการที่คล้ายกับการติดเชื้อจากบาดแผล ให้รีบพามาโรงพยาบาลทันที ได้แก่ ไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป, ปวดท้องอย่างรุนแรง, แผลที่ผ่าตัดมีอาการแดง หรือมีของเหลวไหลออกมา, ปวดหน้าอก, มีของเหลวมีกลิ่นเหม็นไหลมาจากช่องคลอด, ปัสสาวะแล้วเจ็บแสบ และมีเลือดออกต่อเนื่องหลังจากกลับบ้านในบริเวณช่องคลอด หรือช่วงที่เป็นประจำเดือน เลือดออกเยอะจนเกินไป ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยภายใน 1 ชั่วโมง

การคลอดด้วยวิธีนี้ คุณแม่และคนรอบตัวต้องให้ความใส่ใจ ในเรื่องของการดูแล เมื่อออกจากโรงพยาบาล จนกว่าแผลจะหายดี คุณแม่จึงไม่ควรทำกิจกรรม หรือออกแรงจนเกิดความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บเพิ่มเติม หากพบว่ามีปัญหาใด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ท่านอนคนท้องที่ปลอดภัย ท้องอ่อน ท้องแก่ ต้องนอนแบบไหน ?

ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

7 สัญญาณเตือนก่อนคลอด มีอาการอะไรบ้างที่คุณแม่ห้ามพลาด

ที่มา : 1, 2, 3, 4