ท่านอนคนท้องที่ปลอดภัย ท้องอ่อน ท้องแก่ ต้องนอนแบบไหน ?

ถึงเวลาที่คุณแม่ท้องจะต้องนอน แต่ระวังให้ดี เพราะ ท่านอนคนท้อง มีผลกว่าที่คิด หากนอนไม่ถูกท่า อาจทำให้เกิดการกดทับ ส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลื 

 2454 views

ถึงเวลาที่คุณแม่ท้องจะต้องนอน แต่ระวังให้ดี เพราะ ท่านอนคนท้อง มีผลกว่าที่คิด หากนอนไม่ถูกท่า อาจทำให้เกิดการกดทับ ส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือด หรือการเคลื่อนไหวที่รุนแรงเกินไป ก็ส่งผลเสียได้เช่นกัน เรามาดูกันดีกว่าว่าคนท้องควรนอนแบบไหน จึงจะถูกต้อง

ท่านอนสำหรับคนท้องอ่อน

คนท้องอ่อน คือ คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 2 ในช่วงแรกอาจจะต้องปรับตัวก่อน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ ที่อาจจะชินกับการล้มตัวนอน หรือลุกจากเตียงเร็ว ๆ ถึงแม้จะท้องอ่อนอยู่ ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนอนท่าไหนก็ได้ เนื่องจากมดลูกที่เริ่มมีขนาดโตขึ้น จะมีน้ำหนัก ทำให้การนอนตะแคงไปข้างใดข้างหนึ่ง จะทำให้เกิดการดึงรั้งปีกมดลูกอีกข้างแทน เช่น หากนอนตะแคงขวา ปีกมดลูกซ้ายจะถูกรั้ง เป็นต้น

ดังนั้นในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 คุณแม่ท้องอ่อนจึงควรนอนหงาย เพื่อเลี่ยงการดึงรั้งจะดีที่สุด กรณีคุณแม่บางคนอาจนอนหงายแล้วไม่หลับ ต้องนอนตะแคงเท่านั้น ก็ต้องมั่นใจว่าจะสามารถพลิกตัวได้บ่อย ๆ ตลอดทั้งคืน จึงจะถือว่ามีความปลอดภัย

ท่านอนคนท้องแก่

คนท้องแก่ คือ คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ไตรมาสที่ 3 หรือแม่ท้องไตรมาสสุดท้าย ในตอนนี้คุณแม่จะต้องแบกรับน้ำหนักของครรภ์มากที่สุด ทำให้ไม่เหมาะที่จะนอนหงาย และเนื่องจากการโตของมดลูกในตอนนี้เต็มที่แล้ว ทำให้ไม่มีพื้นที่เหลือพอที่จะรั้งไปทางฝั่งซ้าย หรือขวาเหมือนตอนไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 แม่ท้องแก่จึงสามารถนอนท่าตะแคงได้ แต่อาจต้องเตรียมตัวสำหรับการเคลื่อนไหว หรือการพลิกตัวระหว่างคืนด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องปวดหลัง อันตรายไหม บรรเทาอาการด้วยวิธีใดได้บ้าง ?

วิดีโอจาก : theAsianparent

แม่ท้องแก่ควรมีหมอนใบเล็กช่วยหนุนรองท้อง จะสามารถพลิกตัวได้สะดวกขึ้น และหากต้องการพลิกตัว ให้ค่อย ๆ พลิก เพื่อเลี่ยงอาการปวดหลัง กรณีเป็นตะคริวบ่อยตอนนอนสามารถหาหมอนมาหนุนขาให้สูงกว่าระดับศีรษะจะสามารถช่วยได้ นอกจากนี้การนอนตะแคงของคุณแม่จะไม่ทับทารกในครรภ์แต่อย่างใด เนื่องจากมีน้ำคร่ำที่ปรับองศาของตัวเด็กอยู่

แม่ท้องควรเลี่ยงท่านอนแบบไหน ?

เมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป ต้องเลี่ยงการนอนหงายได้แล้ว ต้องหันมานอนตะแคงเท่านั้น เนื่องจากขนาดมดลูกที่ขยายขึ้น และครรภ์ที่มีน้ำหนักมากจะกดทับเส้นเลือดในขณะที่คุณแม่กำลังนอนหลับทำให้เท้าบวม, ความดันโลหิตต่ำ, เวียนศีรษะจนเป็นลม และมีอาการใจสั่นได้ เป็นต้น นอกจากนี้เพื่อป้องกันการถูกกระแทก หรือการหันที่อาจรุนแรง สามารถเพิ่มจำนวนหมอนข้างให้มากขึ้นได้ อาจวางรองแขน และขาเพื่อช่วยรับน้ำหนัก หรือใช้ขาพาดเพื่อให้คุณแม่หลับสบายก็ได้เช่นกัน และคุณแม่ยังต้องระวังท่าอื่น ๆ ด้วย ได้แก่

  • คุณแม่ชอบนอนคว่ำ : การนอนคว่ำจะสร้างแรงกดทับทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ และทารกในครรภ์ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงท่านอนคว่ำทั้งในตอนนอนหลับจริง หรือนอนเล่น
  • นอนตะแคงข้างเดียวตลอดทั้งคืน : การนอนตะแคงเหมาะกับแม่ท้องแก่ก็จริง แต่การนอนตะแคงข้างเดียวทั้งคืน สามารถสร้างแรงกดทับ จนเกิดความอึดอัด และไม่สบายตัวได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่คุณแม่ท้องควรมีหมอนเพื่อช่วยขยับเปลี่ยนข้าง


ท่านอนคนท้อง


นอนลงเตียง และลุกจากเตียงแบบไหนปลอดภัยกับแม่ท้อง ?

การลงนอนบนเตียงไม่ควรใช้ท่าอื่น หรือทิ้งตัวนอนตรง ๆ ลงมาไม่ว่าจะเบาหรือช้า ทั้งคุณแม่ท้องอ่อน และคุณแม่ท้องแก่ ควรเริ่มจากการนั่งลงบนขอบเตียงก่อน และค่อย ๆ ใช้แขนยันลงที่นอน แล้วค่อยล้มตัวลงอย่างช้า ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการกระแทก ส่วนท่าลุกจากเตียง ไม่ว่าคุณแม่จะนอนหงาย หรือนอนตะแคง ก็ควรหันกลับมาตะแคง แล้วใช้มืออีกข้างที่ไม่ได้นอนทับ ยันที่นอนไว้ แล้วค่อยพยุงตัวเองให้ลุกขึ้นมานั่งก่อน จึงจะลุกต่อไปได้

ไม่ใช่แค่ท่านอน เสื้อผ้า และห้องต้องพร้อมด้วย

ความปลอดภัยของคุณแม่ และทารกในครรภ์ จะเกิดขึ้นได้จากองค์ประกอบหลายอย่าง ในด้านของการนอน นอกจากท่านอนคนท้องแล้ว ยังต้องคำนึงถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่ด้วย ต้องมั่นใจว่าเนื้อผ้าสามารถระบายอากาศได้ดี ไม่ทำให้อึดอัดตอนนอน โดยให้เลือกผ้าฝ้ายธรรมชาติ ส่วนห้องนอนของคุณแม่จะต้องระบายอากาศได้ดี ไม่ร้อนอบอ้าว หรือเปิดเครื่องปรับอากาศจนเย็นเกินไป ระวังพื้นที่เสียงดัง ซึ่งอาจรบกวนคุณแม่ระหว่างการนอนหลับได้ หากคุณแม่พักผ่อนน้อยจะส่งผลต่อตัวคุณแม่ และทารกได้

การนอนพักผ่อน เป็นวิธีผ่อนคลายที่ทำได้ง่าย และมีความสำคัญอย่างมากต่อคนท้อง นั่นหมายถึงยิ่งต้องดูแล และทำให้ถูกต้องเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์นั่นเอง

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

โยคะคนท้อง ดีต่อคุณแม่อย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม ?

7 สัญญาณเตือนก่อนคลอด มีอาการอะไรบ้างที่คุณแม่ห้ามพลาด

ที่มา : 1, 2