โคลีน วิตามินสำคัญที่แม่ตั้งครรภ์ไม่ควรละเลย เพราะช่วยพัฒนาสมองทารก ?

โคลีน อีกหนึ่งสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการตั้งครรภ์ ไม่แพ้กรดโฟลิก ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันภาวะหลอดประสาทไม่ปิดได้ อีกทั้งโคลีนย 

 1578 views

โคลีน อีกหนึ่งสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการตั้งครรภ์ ไม่แพ้กรดโฟลิก ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันภาวะหลอดประสาทไม่ปิดได้ อีกทั้งโคลีนยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบประสาทและสมองของลูกอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะจำเป็นและสำคัญแค่ไหน วันนี้ Mama Story มีคำตอบมาให้ทุกคนค่ะ!

คุณแม่ทราบหรือไม่ว่า ระบบประสาทของทารกเริ่มพัฒนาตั้งแต่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์ 22 วัน หรือเพียงแค่ 3 สัปดาห์เท่านั้น แล้วเพิ่มการพัฒนามากขึ้นในสัปดาห์ที่ 32 หรือคุณแม่ท้อง 8 เดือน ดังนั้น สารอาหารที่ทารกควรได้รับจึงมีความสำคัญมาก ที่จะมีส่วนช่วยให้การเจริญเติบโตของสมองมีพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ โดยสารอาหารที่จำเป็นต่อทารกในระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนึ่งในนั้นคือ “โคลีน”

โคลีนคืออะไร ?

โคลีน คือ สารอาหารที่ช่วยเร่งกระบวนการเผาผลาญไขมันของร่างกาย เป็นสารอาหารที่ละลายในน้ำได้ จัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินบี ซึ่งทำงานร่วมกับ อิโนซิทอล ในการนำไขมันไปใช้ร่วมกับคอเลสเตอรอล ในด้านของคุณแม่ท้อง โคลีนพัฒนาสมองทารก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เป็นสารอาหารที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาสมอง และการทำงานของสมองที่เหมาะสม และมีบทบาทสำคัญในกระบวนการของความจำ ร่างกายของคุณแม่สามารถสร้างโคลีนได้ในปริมาณเล็กน้อย ส่วนที่เหลือคุณแม่จำเป็นต้องได้รับจากอาหารที่ทานเข้าไป

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิตามินบี 2 ดีอย่างไร ทำไมแม่ตั้งครรภ์จึงต้องหมั่นทานและห้ามขาด

ทำไมโคลีนจึงสำคัญ ระหว่างการตั้งครรภ์

โคลีนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสมองของลูก ซึ่งส่งผลต่อสมองส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความจำ จากงานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าเมื่อทารกในครรภ์ได้รับโคลีนมากขึ้น พวกเขามีโอกาสที่จะมีสมองที่ทำงานมีประสิทธิภาพได้ดีกว่าเมื่อเติบโตขึ้น และมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของสมองลดลง นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีระดับโคลีนในเลือดต่ำ จะมีความเสี่ยงต่อการมีลูกที่มีภาวะหลอดประสาทไม่ปิดสูงขึ้น

โคลีน



โคลีนพัฒนาทารกอย่างไรบ้าง ?

  1. ช่วยเพิ่มพูนการทำงานให้กับเซลล์สมองทารกให้มีพัฒนาการอย่างเหมาะสม เสริมสร้างความแข็งแรงแก่เยื่อหุ้มเซลล์ และสังเคราะห์อะซิติลโคลีน ซึ่งเป็นสารเกี่ยวข้องกับความจำ
  2. โคลีนจะตรงเข้าไปยังเซลล์สมอง เพื่อผลิตสารเคมีที่ช่วยเรื่องความทรงจำ รวมถึงสารสื่อประสาทที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทต่าง ๆ มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างการเรียนรู้
  3. ทารกในครรภ์ได้รับโคลีนจากการรับประทานอาหารของแม่ แล้วไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท สมอง และความจำ ซึ่งส่งผลให้ทารกมีความพร้อมในการเรียนรู้ และต่อยอดความฉลาดต่อไปในอนาคต
  4. สถาบันทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดปริมาณโคลีนที่เพียงพอสำหรับทารก เด็ก ผู้ใหญ่ และแม่ตั้งครรภ์ หรือแม่ให้นม ได้แก่ คนท้องควรได้รับ 40 มิลลิกรัม/วัน แม่ให้นมควรได้รับ 550 มิลลิกรัม/วัน และ ปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้คือไม่เกิน 3.5 กรัม / วัน

ควรเริ่มทานโคลีนเมื่อไหร่ และทานถึงตอนไหน ?

เนื่องจากโคลีนมีความสำคัญเกี่ยวกับปิดของระบบประสาท (Neural tube) ซึ่งระบบประสาทจะปิดประมาณ 4 สัปดาห์หลังตัวอ่อนปฏิสนธิ หรือประมาณช่วงสัปดาห์ที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะก่อนที่คุณแม่จะรู้ตัวด้วยซ้ำ ดังนั้น คุณแม่ควรเริ่มทานตั้งแต่ก่อนเริ่มท้องเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้ายังไม่เริ่มทานก็ควรทานให้เร็วที่สุดหลังจากทราบว่าตั้งครรภ์ เนื่องจากจะได้ช่วยในการสร้างระบบประสาท สร้างรก และการพัฒนาต่าง ๆ ของทารก และควรทานต่อเนื่องตลอดการตั้งครรภ์

บทความที่เกี่ยวข้อง : สังกะสี ดีต่อแม่ท้องอย่างไร กินปริมาณเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัย ?

งานวิจัยที่พิสูจน์เรื่องความจำทารก กับโคลีน

มีนักวิจิยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนว (Cornell) ที่ต้องการตรวจสอบว่า โคลีนนั้นส่งผลกับด้านการพัฒนาความจำและสมองของทารกในครรภ์ได้จริงหรือไม่ จึงได้เริ่มทำการค้นคว้าจากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์จำนวนทั้งสิ้น 26 ราย

โดยงานวิจัยนั้นแบ่งคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 13 คน และเริ่มทดลองด้วยการให้คุณแม่ตั้งครรภ์กลุ่มแรกรับประทานโคลีนให้ได้ในปริมาณวันละ 450 มิลลิกรัมต่อวัน กับอีกกลุ่มนึงต้องทานให้ได้ปริมาณวันละ 980 มิลลิกรัมต่อวัน วันเวลาผ่านไปจนกระทั่งคุณแม่ทั้ง 26 รายคลอดบุตร นักวิจัยก็รอให้ทารกเหล่านี้มีอายุครบ 4 เดือนก่อนถึงจะเริ่มทำการทดสอบอีกครั้ง

นักวิจัยได้ทำการแบ่งการทดสอบออกเป็น 4 ช่วงอายุด้วยกัน คือ 4 เดือน, 7 เดือน, 10 เดือน และ 13 เดือน พบว่าเด็กเหล่านี้มีความสามารถในเรื่องของความจำดีเยี่ยม ทำให้นักวิจัยเหล่านี้เชื่อมั่นว่า เมื่อแม่ท้องรับประทานโคลีนเข้าไป มีผลกระทบกับสมองของทารกในครรภ์อย่างแน่นอนถึงแม้ว่าจะทานในปริมาณที่มากกว่าที่กำหนดไว้ก็ตาม

คุณแม่และลูกจำเป็นต้องได้รับโคลีนเท่าไหร่ ?

ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรได้รับโคลีนในปริมาณ 450 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หลังจากคลอดแล้ว ควรจะเพิ่มปริมาณ เป็น 550 มิลลิกรัม โดยโคลีนจะถูกส่งต่อจากแม่ไปยังลูกน้อยผ่านทางน้ำนม โดยในไข่ 1 ฟอง จะให้โคลีนประมาณ 150 มิลลิกรัม เนื้อสัตว์หรือ เนื้อปลา 100 กรัม ให้โคลีน 100 มิลลิกรัม ขณะที่นม 1 แก้ว (200 มิลลิลิตร) จะให้โคลีนประมาณ 40 มิลลิกรัม

โคลีน



รับโคลีนจากอะไรได้บ้าง ?

แหล่งโคลีนที่สำคัญที่คุณแม่ควรได้รับในระหว่างวันในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านสมองของลูกน้อย มีดังต่อไปนี้

  • ไข่ โดยเฉพาะไข่แดง
  • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัว และเนื้อหมู
  • ปลา เช่น ปลาค้อด ปลาแซลมอน และปลานิล
  • ผัก เช่น บรอกโคลี ผักโขม และดอกกะหล่ำ
  • นมและผลิตภัณฑ์จากนมสำหรับคุณแม่
  • ถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วลันเตา ถั่วลิสง ถั่วพิสตาชิโอ มะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังรวมไปถึง ผลไม้รสเปรี้ยว กล้วย ข้าวโพด ข้าวสาลี เนื้อไก่ ปลา หอย นม กะหล่ำปลี ธัญพืช ยีสต์ ตับ จมูกข้าวสาลี และถั่วเหลือง เป็นต้น

ควรทานวิตามินเสริมโคลีนหรือไม่

คุณแม่สามารถได้รับปริมาณโคลีนอย่างเพียงพอ โดยการรับประทานอาหารที่หลากหลาย แต่คุณแม่บางคนอาจไม่ได้รับโคลีนเพียงพอจากอาหารเพียงอย่างเดียว ถ้าคุณแม่กังวลควรปรึกษากับคุณหมอ หากต้องการรับประทานวิตามินเสริมโคลีน

โคลีน



โคลีน กับการให้นม

โคลีน สามารถพบได้ในนมแม่ และนักวิจัยพบว่าการบริโภคนมแม่แทนการให้นมผงนั้น มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มไอคิวเมื่อทารกเติบโตขึ้น คุณแม่สามารถช่วยเสริมสร้างสมองที่กำลังพัฒนาของลูกได้ ด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโคลีน ยิ่งมีโคลีนในอาหารของคุณแม่มากเท่าไหร่ โคลีนนั้นก็จะส่งผ่านน้ำนมของคุณแม่ไปสู่ลูกน้อยได้มากขึ้นเท่านั้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องกิน วิตามินซี ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือไม่ ?

ประโยชน์เพิ่มเติมของโคลีน

โคลีนช่วยปกป้องลูกน้อยในครรภ์จากความเครียดได้ ถ้าคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ต้องอยู่ในภาวะที่มีความเครียดมาก หรือทุกข์ทรมานจากความวิตกกังวล หรือมีภาวะซึมเศร้า ทารกในครรภ์ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะมีความผิดปกติจากความเครียดและระบบการเผาผลาญอาหารได้ การบริโภคโคลีนปริมาณ 930 มิลลิกรัมในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์สามารถลดความเข้มข้นของฮอร์โมนคอร์ติซอลซึ่งเกิดจากความเครียดได้ถึง 33% เมื่อเทียบกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่บริโภคโคลีนเพียง 430 มิลลิกรัมต่อวัน การบริโภคโคลีนในระหว่างตั้งครรภ์อาจช่วยปกป้องลูกจากภาวะสุขภาพจิต ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานประเภท 2 เมื่อเขาเติบโตขึ้นอีกด้วย

นอกจากโคลีน จะส่งผลดีกับสมองของทารกแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการช่วยลดการสะสมตัวของคอเลสเตอรอล ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยลดภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด ช่วยลดปัญหาการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และช่วยป้องกันโรคหัวใจได้อีกด้วย ของดี ๆ แบบนี้ หากคุณแม่ท้องไม่ทานแล้วละก็ เสียใจแย่เลยละค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

วิตามินบี 3 สำคัญอย่างไร ช่วยป้องกันการแท้งจริงมั้ย แม่ท้องต้องอ่าน!

แคลเซียม สำหรับเด็ก สำคัญอย่างไร กินปริมาณเท่าไหร่ถึงจะดี ?

วิตามินบี 12 มีประโยชน์อย่างไร จำเป็นสำหรับคนท้องหรือไม่ ?

ที่มา : 1