อาการปวดท้องน้อยที่เกิดขึ้นกับแม่ท้องนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เนื่องจากสามารถพบได้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันที่อาจส่งผลต่ออาการปวดได้ แต่หากมีอาการปวดมากเกินไป หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย ไม่ควรนางนอนใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายกับคุณแม่ และทารกในครรภ์ได้
แม่ท้องปวดท้องน้อย เกิดจากอะไร
อาการปวดบริเวณท้องน้อย ปกติพบได้ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก และจะมีอาการปวดไม่กี่วันเท่านั้น ในบางรายอาจถึงสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และสาเหตุด้วย
- การขยายของมดลูก : เมื่อตั้งครรภ์มดลูกจะขยายตัวมากขึ้นกว่าปกติ ตัวอ่อนของทารก เริ่มฝังตัวเข้ามดลูกในช่วงนี้อาจทำให้คุณแม่รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อยได้
- การเคลื่อนไหวร่างกาย : การเคลื่อนไหวตัวที่เร็วเกินไป สามารถส่งผลต่อร่างกายของคุณแม่ ให้ปวดตามจุดต่าง ๆ รวมถึงท้องน้อย รวมไปถึงการใช้แรงที่มากเกินไป หรือการก้มยกของหนักด้วย เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องปวดหลัง อันตรายไหม บรรเทาอาการด้วยวิธีใดได้บ้าง ?
วิดีโอจาก : คนท้อง Everything Channel
ปวดตรงท้องน้อยตอนตั้งครรภ์อาการเป็นอย่างไร ?
แม่ท้องจะปวดบริเวณช่องท้องน้อย จะปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างไร แต่คุณแม่ต้องสังเกตอาการปวดให้ดี เพราะอาการที่รุนแรงมากเกินไป หรือมีอาการอื่น ๆ ประกอบด้วย อาจเป็นสัญญาณที่ไม่ดี และอาจรุนแรงที่สุดถึงขั้นแท้งคุกคาม, ไส้ติ่งอักเสบ, ครรภ์เป็นพิษ,กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
ซึ่งอาการที่ควรระวังนอกจากความปวดที่มากเกินไป มีอยู่หลายอาการ หากพบว่ามีอาการที่เข้าข่าย ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยถึงสาเหตุ และสามารถรักษาได้ทันท่วงที ได้แก่
- เวียนศีรษะ หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- มีอาการปวดตรงท้องน้อยมาก จนเคลื่อนไหวไม่ได้
- มีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียนต่อเนื่อง
- ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง / ชั่วโมง
- มีอาการหน้าบวม มือบวม และเท้าบวมอย่างรวดเร็ว
- มีตกขาวผิดปกติ เช่น สีออกเขียว หรือมีเลือดปนออกมาด้วย
- มดลูกบีบตัวเกิน 4 ครั้ง / ชั่วโมง
- มีมูกเลือด หรือเลือดสดออกจากช่องคลอด
- ปวดบริเวณท้องน้อยไปจนถึงบริเวณด้านหลัง
ทำอย่างไรเมื่อแม่ท้องมีอาการปวดท้องน้อย ?
- หากคุณแม่กำลังเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ แล้วมีอาการปวด ควรหยุดกิจกรรมนั้น แล้วนั่งพักจนกว่าอาการปวดจะบรรเทาลง
- ในช่วงที่นั่งพัก คุณแม่สามารถใช้หมอนเพื่อหนุนหลัง จะทำให้อาการปวดตรงท้องน้อยบรรเทาได้เร็วมากขึ้น
- การอาบน้ำอุ่นมีส่วนช่วยให้อาการปวดบรรเทาลงได้ นอกจากนี้ยังสามารถลูบท้องเบา ๆ หรือดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้มากขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาได้
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อการใช้แรง รวมไปถึงการใส่รองเท้าส้นสูงด้วย เพราะอาจทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อไปจนถึงท้องน้อยได้
- แม่ท้องบางคนอาจปวดขณะนอนหลับ ซึ่งต้องระวัง หากท้องอ่อนสามารถนอนตรงได้ หากท้องแก่ ควรนอนตะแคง และควรมีหมอนเพื่อช่วยในการพลิกตัว
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท่านอนคนท้องที่ปลอดภัย ท้องอ่อน ท้องแก่ ต้องนอนแบบไหน ?
เพื่อป้องกันอาการปวด เบื้องต้นคุณแม่อาจออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงมากขึ้น เช่น เล่นโยคะ หรือเดินเร็ว และต้องคอยหมั่นสังเกตความรุนแรงเมื่อมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โยคะคนท้อง ดีต่อคุณแม่อย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม ?
7 สัญญาณเตือนก่อนคลอด มีอาการอะไรบ้างที่คุณแม่ห้ามพลาด
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายอย่างไร เสี่ยงต่อลูกในท้องหรือไม่ ?