ในช่วงใกล้คลอด มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่กำลังสงสัยว่า น้ำเดิน เป็นอาการอย่างไร แล้วจะเกิดขึ้นเมื่อไร ควรจะสังเกตอย่างไรว่าเป็นปัสสาวะปกติ หรือเตือนใกล้คลอด ไม่ต้องเป็นกังวลไปค่ะ เพราะวันนี้ Mamastory ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจ พร้อมตัวอย่างอาการมาตอบให้กับคุณแม่ทุกคนแล้ว ถ้าหากพร้อมแล้ว ไปอ่านบทความดี ๆ พร้อมกันที่ด้านล่างได้เลยค่ะ !
น้ำเดิน คืออะไร ?
น้ำเดิน หรือชื่อทางการแพทย์ ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ (Premature Rupture of Membranes: PROM) เป็นอาการที่เกิดขึ้น เมื่อถุงน้ำคร่ำห่อหุ้มตัวทารก กำลังจะแตกหรือรั่วก่อนการเจ็บครรภ์ ในบางกรณีก็อาจเกิดภาวะน้ำเดิน ก่อนครบกำหนดคลอดได้ เนื่องจากเกิดการบีบตัวของมดลูกอย่างรุนแรง ที่อาจเกิดจากการกระแทกของอุบัติเหตุได้
โดยปกติแล้ว อาการน้ำเดินจะเกิดขึ้นในช่วง 37 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ทารกจะพร้อมจะคลอดออกมาแล้ว แต่ถ้าหากเกิดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ อาจมีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด และภาวะอื่นที่อันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม แม่ท้องบางรายก็อาจเผชิญกับน้ำเดิน ในระยะก่อนหน้าได้เช่นกัน โดยแม่ท้องจะรู้สึกเปียกแฉะบริเวณอวัยวะเพศ และจะมีน้ำไหลออกมาให้เห็น สีของน้ำที่ออกมา อาจเป็นสีใส หรือ สีเหลืองอ่อน ๆ
ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด คืออะไร ?
ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด หมายถึง ภาวะที่ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกเอง ก่อนมีการเจ็บคลอด ซึ่งอาจเกิดขึ้นขณะอายุครรภ์ครบกำหนดตั้งแต่ 37 สัปดาห์ หรือ ก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด 37 สัปดาห์ โดยสามารถพบอาการก่อนกำหนดได้ถึง 3-10% ถึงแม้สาเหตุจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็พบว่ามีสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงได้หลายอย่าง
สาเหตุและปัจจัย น้ำเดินก่อนกำหนด
- มีประวัติน้ำเดินก่อนกำหนดในครรภ์ก่อนหน้า
- มีประวัติเชื้อที่อวัยวะเพศ เช่น ปากมดลูก ช่องคลอด และปากช่องคลอด
- มีภาวะเลือดออกทางช่องคลอด
- มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ เสี่ยงกว่าคนทั่วไป 2-4 เท่า
- เกิดการติดเชื้อในร่างกายแม่ หรือทารกในครรภ์
- ทารกเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน จากการคลอดก่อนกำหนด
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ได้แก่ ตั้งครรภ์แฝด, ภาวะน้ำคร่ำมาก, เนื้องอกมดลูก, ประวัติเคยผ่าตัดปากมดลูก, ตรวจพบปากมดลูกสั้น, รกเกาะต่ำ, รกลอกตัวก่อนกำหนด, โลหิตจาง และตรวจพบความพิการของทารกในครรภ์
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องนอกมดลูก เกิดจากอะไร อาการแบบไหนเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก?
น้ำเดินต่างจากปัสสาวะเล็ดอย่างไร
โดยภาวะน้ำเดิน กับปัสสาวะเล็ดของแม่ท้อง แตกต่างกันโดยสังเกตได้จาก ลักษณะและกลิ่นของน้ำที่ไหลออกมา โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้
- หากน้ำเดินเพราะถุงน้ำคร่ำแตก จะมีน้ำไหลไม่หยุด ไม่ว่าจะมากหรือน้อย
- หากปัสสาวะเล็ด จะมีน้ำเล็ดออกมาครั้งเดียวแล้วหยุด
- หากเป็นน้ำคร่ำ จากภาวะน้ำเดิน จะไม่มีสี และไม่มีกลิ่น
- หากเป็นปัสสาวะ จะมีกลิ่นของปัสสาวะ
นอกจากนี้แม่ท้องส่วนใหญ่ มักตั้งข้อสงสัยว่า น้ำเดินไปแล้ว กี่ชั่วโมงถึงจะคลอดลูก ซึ่งมักจะเกิดหลังจากนั้นไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่ก็มีกรณีที่ไม่คลอดเช่นกัน ซึ่งอาการนี้ค่อนข้างเป็นอันตราย ต่อทั้งแม่และเด็ก ยิ่งดึงเวลาไว้นาน ยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น แต่ก็มีแม่ท้องบางคน ที่มีอาการน้ำเดินแต่ปากมดลูกยังไม่เปิดค่ะ ซึ่งหากกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เมื่อรู้สึกว่าใกล้คลอดแล้ว หรือมีอาการน้ำเดิน ควรรีบเตรียมตัวไปโรงพยาบาล เพื่อรับการช่วยเหลือจากแพทย์ ที่จะมีวิธีทำให้ปากมดลูกเปิดได้
โดยปกติแล้ว คุณแม่ท้องหลาย ๆ ท่าน จะมีอาการน้ำเดินในช่วง 3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอด หรือเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงหลังสัปดาห์ที่ 34 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป ซึ่งแพทย์มักให้รอดูอาการที่โรงพยาบาล เพื่อดูว่าแม่ท้องสามารถคลอดแบบธรรมชาติได้หรือไม่ แต่หากไม่สามารถคลอดเองได้ แพทย์มักเร่งให้เกิดการคลอด เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังได้ค่ะ
อันตรายจากการน้ำเดิน นอกจากน้ำคร่ำจะออกมาแล้ว แม่ท้องบางรายยังอาจมีสายสะดือ โผล่มาทางปากช่องคลอดได้อีกด้วย ซึ่งกรณีแบบนี้ อาจทำให้ลูกน้อยขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เสียชีวิตได้ ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที เพื่อความปลอดภัยจึงควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในช่วงใกล้คลอด อย่าลืมดูแลสุขภาพ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอยู่เสมอนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่ควรเข้าใจ !
สายรกพันคอ ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ที่แม่ท้องควรรู้วิธีสังเกต
เอ็ดเวิร์ดซินโดรม โรคที่เกิดจากพันธุกรรม ลูกจะออกมาน้ำหนักน้อย ?
ที่มา : 1