เพราะว่าการคลอดลูกว่ายากแล้ว แต่การดูแลสุขภาพหลังคลอด ทั้งของแม่และลูก ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ยากตามมาด้วย นั่นรวมไปถึงการมีสิ่งแปลกปลอม ค้างภายในร่างกายของแม่ด้วยค่ะ อีกหนึ่งอาการที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นก็คือ รกค้าง หนึ่งในความเสี่ยงของแม่หลังคลอด ที่อาจพัฒนาไปเป็นอันตรายต่อเนื่อง อย่างการตกเลือดได้
ดังนั้นเมื่อหลังคลอดลูกแล้ว การที่คุณแม่หมั่นสังเกตตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย ก็เป็นเรื่องที่สำคัญต่อร่างกายค่ะ วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความเข้าใจกับ อันตรายของรกค้างให้มากขึ้นค่ะ หากพร้อมแล้วไปดูพร้อมกันได้เลย !
รกค้าง คืออะไร ?
รกค้าง หรือ Retained Placenta คือ การที่รกไม่หลุดจากผนังมดลูก ภายในเวลา 12 ชั่วโมงหลังการคลอด หรือรกไม่คลอดหลังทารกคลอดแล้ว ภายใน 30 นาที ซึ่งอาการนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- รกไม่คลอดทั้งอัน หรือไม่คลอดทั้งรก
- รกคลอดบางส่วน มีเศษค้างในโพรงมดลูก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผ่าคลอดแล้ว ท้องต่อไปจะต้องผ่าอีกไหม ครรภ์แบบไหนต้องผ่าคลอด ?
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน แต่การที่มีเศษรกค้างภายใน มักทำให้เกิดปัญหาภายหลัง และเป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเกิดอุบัติการณ์ที่ รกลอกตัวช้าจนต้องล้วงออก มักเกิดกับคุณแม่คลอด 1-2 ราย จากการคลอดทั้งหมด
อันตรายจากรกค้าง
หากหลังคลอดทารก แล้วรกไม่คลอดตาม รกจะไปขัดขวางการหดรัดตัวของมดลูก ที่อยู่ในช่วงการเข้าอู่ ทำให้เกิดเป็นเลือด ที่ไหลออกมาจากมดลูก จากแผลรอยเกาะของรก ที่เรียกว่า “ตกเลือดหลังคลอด” ซึ่งอาการต่อเนื่องนี้ เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของแม่ เพราะในบางครั้งเศษรก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ ที่เป็นสาเหตุของการเลือดออก ที่ผิดปกติหลังการคลอด
สาเหตุที่รกค้างในมดลูก
- มดลูกหยุดหดรัดตัว มีกำลังหดรัดไม่มากพอ ที่จะคลอดรกจากผนังมดลูก
- รกอาจลอกจากผนังมดลูก แต่ติดค้างที่ปากมดลูก เพราะเริ่มปิดหลังจากการคลอด
- กระเพาะปัสสาวะเต็ม อาจขวางทางรกจนไม่หลุดออก
ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะรกค้าง
- การผ่าคลอด เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดจากรอยแผลผ่าตัด ทำให้รกเกาะบริเวณนี้ลึกเกินไป เป็นสาเหตุที่ทำให้รกคลอดยาก หรือลอกไม่สมบูรณ์จนมีเศษค้าง
- การขูดมดลูกหลังแท้ง มีความเสี่ยงที่ทำให้รกเกาะแน่น หรือค้างในครรภ์ต่อไป อีกทั้งการขูดมดลูกทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบาง ยิ่งแม่ที่เคยมีประวัติขูดหลายครั้ง ยิ่งเสี่ยงต่อภาวะรกค้างในนอนาคต
- รกเกาะต่ำเกิดจากสาเหตุส่วนล่างของโพรงมดลูกมีชั้นกล้ามเนื้อบางกว่าส่วนบน
- มีรกน้อย อาจเกิดได้จากการมีรก 2 อัน โดยที่ขนาดไม่เท่ากัน อันเล็กอาจยังค้างอยู่ ทำให้ไม่รู้ว่ามีรกค้างในโพรงมดลูก
- การแท้งติดเชื้อ เป็นสาเหตุที่ทำให้เยื่อโพรงมดลูกอักเสบ เป็นเหตุให้เนื้อเยื่อรกยุ่ยหรือฉีกขาดง่าย และรกอาจไม่คลอดตามมา
- ออกแรงดึงมากไป ในขณะที่รกยังไม่ลอกตัว ทำให้เกิดบางส่วนค้างภายในโพรงมดลูก
- มีประวัติภาวะรกค้างในครรภ์ก่อน ทำให้ครรภ์ถัดไปอาจเป็นซ้ำได้
กลุ่มเสี่ยงรกค้าง
- เคยผ่าตัดคลอด หรือเคยผ่าท้องคลอด
- แม่ท้องภาวะรกเกาะต่ำ
- แม่ท้องรกใหญ่ผิดปกติ
- เคยมีประวัติขูดมดลูกหลายครั้ง
- มีประวัติเคยแท้งติดเชื้อ
- มีประวัติรกค้างในครรภ์ก่อน
- ความผิดปกติจากรก เช่น การติดเชื้อ หรือผิดปกติแต่กำเนิดของรก
นอกจากนี้ แม่ท้องที่มีความดันสูงขณะตั้งครรภ์ แต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้น อาจมีโอกาสที่รกคลอดตัวก่อนกำหนด เนื่องจากภาวะรกขาดเลือด เพราะความดันสูงมักทำให้เส้นเลือดตีบ หรือหดรัดมากกว่าปกติ
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม สาเหตุ อาการ และการป้องกัน
สัญญาณภาวะรกค้าง
หลังการคลอดลูกและรกแล้ว มดลูกจะเริ่มทำงาน หดรัดตัวเพื่อปิดเส้นเลือดทั้งหมด เพื่อให้ร่างกายกลับสู่สภาพปกติ หากมีส่วนตกค้างภายใน จะทำให้แผลไม่สมาน มดลูกหดรัดตัวไม่ได้ เกิดเป็นอาการตกเลือดไม่หยุด นอกจากนั้นแม่อาจมีไข้สูง มีของเสียหรือน้ำคาวปลาที่เหม็นรุนแรง
โดยส่วนใหญ่แล้ว หากมีภาวะรกค้าง ร่างกายจะแสดงอาการใน 2-3 วันหลังคลอด เลือดสีแดงสดจะไหลต่อเนื่อง หรือทะลักออกมาเป็นระลอก จนเกิดเป็นการติดเชื้อหลังการคลอดได้
อาการรกค้างที่พบได้บ่อย
- หลังการคลอด พบว่ารกไม่คลอดออกมาเลย จะทำให้มดลูกหดรัดตัวได้ไม่ดี เป็นเหตุในตกเลือดหลังคลอดได้บ่อย
- หากรกส่วนใหญ่คลอด แต่ยังมีส่วนน้อยตกค้าง จะทำให้แม่เกิดการปวดท้องน้อย เนื่องจากการพยายามขับไล่สิ่งแปลกปลอมของมดลูก
- เศษรกค้างอาจทำให้แม่หลังคลอด เกิดอาการอักเสบในโพรงมดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
- ช่วงพักฟื้นอาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอย จากทางช่องคลอด
- อาจมีสิ่งคัดกรอง หรือของเสียจากช่องคลอด หรือน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น
การรักษาภาวะรกค้าง
วิธีการรักษารกค้างในโพรงมดลูก ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิด ในหลาย ๆ กรณี แพทย์จะฉีดฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ทางเส้นเลือด เพื่อเร่งมดลูกให้หดรัดตัว และขับรกส่วนที่ค้างออก ซึ่งวิธีนี้มักใช้ได้ผลในหลายราย
แต่ถ้าหากยังไม่มีการคลอดรก หลังจากการฉีดฮอร์โมน แพทย์จะใช้วิธีช่วยออกมาด้วยมือแทน และหากหลังคลอดแล้ว ยังมีเลือดออกมากหลายวัน แพทย์จะตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อหาลิ่มเลือด หรือส่วนรกที่ตกค้าง
หากคุณแม่ท้อง ที่มีอาการข้างต้น และยังอยู่ในช่วงพักฟื้นที่โรงพยาบาล ควรรีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาลทันที ก่อนที่จะเป็นอันตรายตามมา เพราะหากมีอาการเมื่อกลับบ้านแล้ว อาจทำให้การเดินทางล่าช้า จนเกิดความสูญเสียได้ แต่ถ้าหากกลับไปแล้ว ยังมีอาการน่าห่วงดังที่กล่าวมา ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัดค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
7 สัญญาณเตือนก่อนคลอด มีอาการอะไรบ้างที่คุณแม่ห้ามพลาด
น้ำคาวปลา เกิดจากอะไร ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมีน้ำคาวปลาหลังคลอด?