ลูกมีผื่นแดง ปัญหาผิวที่แม่ป้องกันได้ แค่เพียงรู้สาเหตุ !

หากปัญหาหลักของแม่คือการน้ำนมน้อย ปัญหาเรื่องผื่นบนผิวลูก ก็เป็นอีกหนึ่งความกวนใจค่ะ เพราะแม่บางคนอาจเป็นกังวลได้ ลูกมีผื่นแดง แบบนี้จะเ 

 832 views

หากปัญหาหลักของแม่คือการน้ำนมน้อย ปัญหาเรื่องผื่นบนผิวลูก ก็เป็นอีกหนึ่งความกวนใจค่ะ เพราะแม่บางคนอาจเป็นกังวลได้ ลูกมีผื่นแดง แบบนี้จะเป็นสาเหตุอันตรายอะไรหรือไม่ หรือปล่อยไว้ก็หายได้เอง วันนี้ Mamastory มีคำแนะนำมาฝาก ผื่นแดงตามตัวลูกน้อย สามารถป้องกันได้ หากคุณแม่เข้าใจและรู้สาเหตุ จะมีอะไรบ้างไปดูกันได้เลยค่ะ !

ลูกมีผื่นแดง สาเหตุจากอะไร ?

ผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นผื่นแพ้เรื้อรัง ที่พบบ่อยที่สุดในเด็กช่วงวัยทารก ผื่นจะมีลักษณะเป็น ตุ่มแดงคัน หรือตุ่มน้ำใส โดยผื่นจะขึ้นบ่อย บริเวณใบหน้า ด้านนอกของแขนขา อาจมีน้ำเหลืองไหลได้ ส่วนในเด็กโต ผื่นจะขึ้นเป็นตุ่มหรือปื้นแดงหนาที่บริเวณคอ ข้อพับต่าง ๆ ในรายที่เป็นมาก ผื่นสามารถขึ้นได้ทั่วร่างกาย และมีอาการคันมาก

จากการสำรวจพบว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า ภายใน 40 ปี เด็กไทยมากกว่าร้อยละ 50 ที่มีภาวะแพ้ มีความเสี่ยงสูงที่จะแสดงอาการแพ้รุนแรงมากขึ้นจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่

  • พันธุกรรม หากพ่อแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ ย่อมมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูง
  • สิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมี มลภาวะ สภาพอากาศ อาหาร เสื้อผ้า ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ แมลง ไรฝุ่น แบคทีเรีย เชื้อรา บุหรี่ ผู้ป่วยราว 10% พบว่าอาหารจำพวกไข่ ถั่ว นมวัว เป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นผิวหนังกำเริบรุนแรง

บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกผิวลอก พ่อแม่ไม่ต้องกังวล เป็นภาวะปกติในทารกแรกเกิด



สาเหตุการเป็นผื่นภูมิแพ้

  • มาจากกรรมพันธุ์ สิ่งนี้ไม่อาจเลี่ยงได้ หากคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด โรคแพ้อากาศ หรือผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง
  • เหงื่อจากอากาศร้อน หรือผิวหนังแห้งจากอากาศหนาว
  • เกิดจากสารระคายเคืองต่าง ๆ ที่มีการสัมผัสกับทารก เช่น เสื้อผ้าที่สวมใส่ น้ำหอม สบู่ แป้ง ผงซักฟอก หรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น
  • อาหารบางชนิด ที่ทารกมีอาการแพ้ เช่น นมวัว ไข่
  • เกิดจาก การติดเชื้อ
  • สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น



ลูกมีผื่นแดง



ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นผื่น

  1. น้ำลาย น้ำนม : ที่เลอะบนผิวหน้า ซอกคอ ทำให้เกิดผื่นแดงที่หน้า หรือที่คุณแม่ ๆ คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งก็คือ ผื่นแพ้น้ำลาย ผื่นน้ำนม นั่นเอง ป้องกันโดยทาครีมทุกครั้งหลังอาบน้ำ และทาปิโตรเลียมเจลทับหลังทาครีมอีกที
  2. อากาศร้อน : ทำให้เหงื่อออกเยอะ จนอาจเกิดการระคายเคืองผิวอันบอบบางของลูกได้ เกิดผื่น แดง คัน ผดร้อน ผื่นแพ้เหงื่อ
  3. สวมเสื้อผ้าหนาเกินไป : ระบายอากาศได้ไม่ดี มีการอับชื้นของเหงื่อ เกิดความระคายเคืองแก่ผิวหนัง เกิดผื่น แดง คัน ผดร้อน ตามพุง และหลังของลูก
  4. การอยู่ห้องแอร์ตลอดเวลา : หากไม่ได้ทาครีม จะทำให้ผิวแห้งมากเกินไป เกิดผื่น แดง คัน แห้งลอกเป็นขุย ๆ ได้
  5. ใส่ผ้าอ้อมที่รัดแน่นเกินไป : ทำให้เกิดการเสียดสี หรือเกิดความอับชื้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของความระคายเคืองผิวหนัง รวมถึงการเช็ดทำความสะอาดผิวหนังด้วยทิชชูเปียก ส่วนประกอบก่อให้เกิดอาการแพ้ระคายเคืองผิวได้
  6. กิจกรรมบางอย่าง : เช่น ว่ายน้ำสระคลอรีน เล่นน้ำนาน ทำให้ลูกเกิดผื่นแดง ผิวแห้งได้ เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ระคายเคืองผิวจากคลอรีน
  7. ใช้น้ำอุ่นอาบน้ำให้เด็ก : น้ำที่อุณหภูมิสูงเกิน จะทำลายความชุ่มชื้นในผิวหนังของลูก พ่อแม่ควรใช้น้ำอุณหภูมิปกติในการอาบน้ำให้ลูก อย่าผสมน้ำจนรู้สึกอุ่น ต้องแค่รู้สึกธรรมดาหรือเย็นนิด ๆ
  8. น้ำยาปรับผ้านุ่ม : เพราะสารตกค้างที่เสื้อผ้าจะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ระคายเคืองผิว เกิดเป็นผื่น แดง คัน ที่ผิวหนัง
  9. สบู่ : จำพวกหอม ๆ ฟองเยอะ ๆ ที่ทำให้ผิวเสียความชุ่มชื้น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดผื่น แดง แพ้ระคายเคืองผิว



อาการของโรคผื่นภูมิแพ้

1. วัยทารก

พบระหว่างอายุ 2 เดือนถึง 2 ปี ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่อ 2 เดือนขึ้นไป โดยมักจะเริ่มพบผื่นแดงคัน มีตุ่มแดง และตุ่มน้ำเล็ก ๆ อยู่ในผื่นแดงที่แก้ม ถ้าตุ่มน้ำแตกจะมีน้ำเหลืองหรือตกสะเก็ด อาจพบร่องรอยจากการเกาหรือขัดถู โดยเฉพาะบริเวณที่ทารกถูหรือสัมผัสกับพื้นหรือที่นอน ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้

2. วัยเด็ก

อายุระหว่าง 2-12 ปี ตำแหน่งรอยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณรอบคอ ข้อพับด้านในของแขนและขา เมื่อโรครุนแรงอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ ได้ ผื่นมักประกอบด้วยตุ่มนูนแดงแห้ง ๆ มีขุยเล็กน้อย มักไม่พบตุ่มน้ำแตก ผู้ป่วยมักเกาจนเกิดรอยถลอก หรืออาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในรอยโรคได้



ลูกมีผื่นแดง



3. วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่

มักพบผื่นบริเวณรอบคอ ข้อพับแขน ขา คล้ายที่พบในเด็กโต ในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณมือได้ง่าย

วิธีดูแลเด็กที่เป็นผื่น

  1. พบแพทย์ทันทีที่สังเกตเห็นอาการผื่นแพ้ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล ลดการเสียดสี และห้ามเกาเด็ดขาด เพื่อป้องกันอาการผิวหนังอักเสบ ที่อาจติดเชื้อทั่วทั้งตัว หากพบว่าแผลมีลักษณะอักเสบ มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม หรือแผลลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับยาปฏิชีวนะสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
  3. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการก่อโรค เช่น เลี่ยงการสัมผัสสารระคายเคือง เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ทำความสะอาดบริเวณที่นอน และรอบ ๆ บ้านให้สะอาด ปราศจากไรฝุ่นหรือเกสรดอกไม้ งดทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หากลูกแพ้นมวัวผ่านนมแม่ แม่ควรงดทานนมวัวตลอดช่วงให้นม

วิธีป้องกันโรคผื่นแพ้ผิวหนัง

จากการศึกษาของสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย พบว่า เด็กเริ่มมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ งานวิจัยในการหาวิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ในเด็กจึงพุ่งเป้าไปที่ การดูแลตัวเองของมารดาขณะตั้งครรภ์ และการดูแลทารกในวัยแรกเกิด แบ่งออกเป็น 4 วิธี ดังนี้



ลูกมีผื่นแดง



1. รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่อย่างสมดุลในขณะตั้งครรภ์

โดยการทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ไม่ควรดื่มนม หรือทานผลิตภัณฑ์จากนม ในปริมาณมากกว่าปกติที่เคยทานในช่วงก่อนตั้งครรภ์ เพราะอาจไปกระตุ้นให้ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการแพ้โปรตีนนมวัวได้

2.ให้ทานนมแม่อย่างเดียว ต่อเนื่องนาน 6 เดือน

มีงานวิจัยพบว่า การทานนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 4-6 เดือน สามารถลดโอกาสการเกิดภูมิแพ้ในเด็กเล็กได้ และนมแม่เป็นอาหารที่เหมาะกับระบบย่อยอาหารของทารกที่ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ น้ำนมแม่ไม่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้นมแม่ยังมีจุลินทรีย์ที่ดี ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย และมีพัฒนาการทางสมองและร่างกายดีสมวัย

3. กินอาหารครบ 5 หมู่ อย่างสมดุลในระหว่างให้นม

ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้เสมอไป เพียงแต่ให้ทานในปริมาณที่พอดี ไม่มากเกินกว่าปกติที่เคยทาน เพราะอาจไปกระตุ้นให้ทารกที่ระบบภูมิต้านทานยังไม่สมบูรณ์ และค่อนข้างอ่อนไหวมีอาการแพ้ เนื่องจากตรวจพบสารอาหารแปลกปลอม ที่ถูกส่งผ่านทางนมแม่มายังลูกน้อยได้

4. ปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมพร้อม เผื่อลูกกินนมแม่ไม่ได้

ในกรณีที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวและไม่สามารถทานนมแม่ได้ สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ในการเลือก โปรตีนผ่านการย่อยบางส่วนที่เป็นเวย์ 100% หรือ H.A. (Hypoallergenic) ตามคำแนะนำจากแนวทางปฏิบัติในการป้องกันโรคภูมิแพ้แห่งประเทศไทย

ผื่นแพ้ผิวหนังในทารกมักเป็นอาการเรื้อรัง ตามสถิติพบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 60 จะมีอาการก่อนอายุ 1 ปี แต่อาการจะดีขึ้นตามอายุ และดีขึ้นมากเมื่ออายุประมาณ 10 ปี ดังนั้นหากพบว่าลูกเป็นผื่นแพ้ผิวหนัง ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะเมื่อลูกน้อยได้รับการรักษาที่เหมาะสม และดูแลเป็นอย่างดีเร็วเท่าไร ก็ยิ่งลดความเจ็บปวดจากแผลเรื้อรังของลูกน้อย และเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากโรคได้มากขึ้นเท่านั้นค่ะ !

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ลูกน้อย “แพ้นมวัว” ทำไงดี ให้ลูกกินนมอะไรแทนได้บ้าง?

โรคไอกรน (Pertussis) ในเด็กเล็ก ป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ !

โนโรไวรัส (Norovirus) ระบาดหนัก ตัวการทำเด็ก ๆ ท้องเสีย !

ที่มา : 1