แพ้นมวัว เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กทารกที่ดื่มนม หากลูกมีอาการแพ้โปรตีนในน้ำนมวัว ก็ทำให้เกิดอาการแพ้ตามมา เช่น มีผื่นขึ้น ท้องเสีย อาเจียนหลังดื่มนม ร้องไห้งอแง หรือมีอาการหอบ ซึ่งเป็นภาวะเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่หากลูกมีอาการแพ้อย่างรุนแรง ก็อาจส่งผลร้ายต่อร่างกายอย่างได้อย่างรวดเร็ว วันนี้ Mama Story จะพาคุณแม่ทุกท่านมาดูกันว่า ลูกน้อยแพ้นมวัว สังเกตอาการอย่างไร และควรให้ลูกกินนมอะไรแทน ถ้าพร้อมแล้ว เราไปดูกันค่ะ
โรคแพ้นมวัวคืออะไร
โรคแพ้นมวัว คือ โรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาผิดปกติต่อโปรตีนในนมวัว ซึ่งปฏิกิริยานี้สามารถทำให้เกิดความผิดปกติได้หลาย ๆ ส่วนในอวัยวะของร่างกาย เช่น ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารเป็นต้น ส่งผลให้ลูกมีอาการผื่นผิวหนัง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีน้ำมูก หรือมีอาการซีด เป็นต้น โรคแพ้นมวัวพบอย่างรุนแรงได้ประมาณ 0.6 และจะส่งผลร้ายต่อร่างกาย ทำให้ลูกมีผื่นลมพิษ ปากบวม หน้าบวม ลิ้นบวมจุกปาก ท้องร่วง ช็อก และชัก เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ลูกดื่มนมวัว ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีทารกมีแพ้โปรตีนนมวัวประมาณ 20,000 กว่าคนต่อปี ดังนั้นคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกต หากลูกมีอาการผิดปกติหลังจากกินนมประมาณ 2-3 สัปดาห์
บทความที่เกี่ยวข้อง : รีวิว 6 นม UHT สำหรับเด็ก ยี่ห้อไหนดี ช่วยให้สารอาหารสมองดีที่สุด
สังเกตอย่างไรว่าลูกแพ้นมวัว
เมื่อลูกแพ้นมวัว เด็กจะเริ่มเกิดอาการแพ้ต่าง ๆ ออกมาทางผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร และระบบหายใจ หากคุณแม่สังเกตอาการแพ้ได้รวดเร็วมากเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้ลูกหายจากอาการแพ้นมได้เร็วขึ้น โดยคุณแม่สามารถสังเกตความผิดปกติของลูกได้ดังต่อไปนี้
1. มีผื่นขึ้น
อาการเบื้องต้นที่คุณแม่สามารถสังเกตได้เลยคือ ผื่นต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ผื่นแพ้นมมักจะเกิดเป็นเม็ดเล็ก ๆ บริเวณใบหน้า หน้าผาก ศีรษะ เด็กบางคนอาจมีผื่นขึ้นบริเวณด้านนอกแขน ข้อมือ ข้อศอก รวมถึงตามลำตัว ซึ่งอาการดังกล่าวลูกจะเป็นได้ไม่นาน แต่พอหายแล้ว ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้
2. แหวะนม หรืออาเจียน
หากลูกน้อยมีอาการแพ้นมวัวหลังจากดื่มนม หรืออาหารที่มีส่วนผสมของนมวัวเข้าไป ก็อาจทำให้ลูกแหวะ หรืออาเจียนนมออกทุกครั้งหลังดื่มนม ดังนั้น คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติทุกครั้ง หลังลูกกินนม หรืออาหารที่มีส่วนผสมจากนมวัว เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกมีอาการแพ้นมวัวจริง ๆ
3. ถ่ายเป็นมูกเลือด
หากลูกมีอาการแพ้นมวัวอย่างรุนแรง จะทำให้เขามีอาการท้องเสีย ท้องอืด ถ่ายเป็นมูกเลือด และอาจส่งผลทำให้ลำไส้อักเสบเรื้อรัง อีกทั้งยังส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้เด็กมีปัญหาในการย่อย และดูดซึมสารอาหาร ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการ และการเจริญเติบโตของลูกน้อยอีกด้วย
4. ท้องเสียบ่อย
อาการท้องเสียของเด็ก อาจไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังจากดื่มนมวัวเข้าไป แต่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ เป็นประจำ ซึ่งคุณแม่อาจต้องหมั่นสังเกตบ่อย ๆ หลังจากที่ลูกดื่มเข้าไป หากพบว่าลูกมีอาการท้องเสียผิดปกติ ท้องเสียเรื้อรัง ก็ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกาย และเข้ารับคำปรึกษา
บทความที่เกี่ยวข้อง : นมผง แต่ละสูตรต่างกันอย่างไร เลือกนมผงแบบไหนให้ปลอดภัยต่อลูกน้อย?
5. ร้องไห้งอแง
หากลูกมีอาการร้องไห้งอแงผิดปกติหลังจากดื่มนมเข้าไป ก็อาจแสดงว่าลูกมีอาการแพ้นม หรือนมวัวไม่ย่อยได้ ซึ่งอาการดังกล่าวทำให้ลูกปวดท้อง ไม่สบายตัว จนเกิดอาการร้องไห้งอแงออกมา หากคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการร้องไห้ผิดปกติ ซึ่งต่างไปจากเวลาที่ลูกร้องไห้แบบเดิม ก็เป็นไปได้ว่าลูกอาจแพ้นมวัวนั่นเอง
6. น้ำมูกไหล
เมื่อลูกมีอาการน้ำมูกไหล คุณแม่อาจเข้าใจว่าลูกเป็นหวัดธรรมดา หรือภูมิแพ้อากาศ แต่หากคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการน้ำมูกไหลผิดปกติ น้ำมูกไหลบ่อย ๆ หลังจากที่กินนมเข้าไป ก็อาจแสดงว่าลูกมีอาการแพ้นมวัวได้
7. มีอาการหอบ
อีกหนึ่งอาการที่คุณแม่สามารถสังเกตได้ลูกแพ้นม คือ ลูกมักหายใจมีเสียงวี้ด ๆ ร่วมกับมีอาการหายใจเหนื่อย หน้าอกกระเพื่อม ซึ่งอาจแสดงว่าลูกมีอาการผิดปกติทางระบบหายใจ จนอาจสรุปได้ว่าลูกมีอาการแพ้นม หากลูกมีอาการดังกล่าว คุณแม่จึงควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยต่อไป
แพ้นมวัว กินนมอะไรแทน
เมื่อลูกมีอาการแพ้นมวัว คุณแม่ควรให้ลูกงดดื่มนมวัว และงดรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวไปก่อน และให้หันมาดื่มนมแม่แทน ซึ่งคุณแม่ก็ควรงดดื่มนมวัว และงดรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัวระหว่างให้นมลูกด้วย แต่หากคุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ก็ควรใช้นมสูตรสำหรับเด็กแพ้นมวัวเป็นพิเศษ ไม่ควรใช้นมถั่วเหลือง หรือนมแพะให้ลูกดื่มแทน เนื่องจากเด็กที่แพ้นมวัว ก็มีแนวโน้มที่จะแพ้นมถั่วเหลือง และนมแพะร่วมด้วย เพราะโปรตีนในน้ำนมแพะก็มีลักษณะใกล้เคียงกับโปรตีนในน้ำนมวัว ฉะนั้นแล้ว การให้ลูกดื่มนมแม่จึงเป็นวิธีที่ช่วยให้ลูกปลอดภัยจากการแพ้นมวัวมากที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : รอบรู้ทุกประโยชน์ของนมแม่ และการเก็บรักษานมเพื่อลูกรัก
วิธีป้องกันลูกแพ้นมวัว
ในกรณีที่ลูกน้อยมีความเสี่ยงในการแพ้นมวัว คุณพ่อหรือคุณแม่สามารถใช้วิธีป้องกันลูกแพ้นมได้ดังต่อไปนี้
- คุณแม่ไม่ควรงดรับประทานอาหารชนิดใด ๆ ในช่วงตั้งครรภ์ หรือช่วงให้นมลูก
- คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมวัวมากกว่าปกติ ในช่วงตั้งครรภ์ หรือช่วงให้นมลูก
- หากคุณแม่หรือคนในครอบครัวมีประวัติแพ้นมวัวมาก่อน ก็มีแนวโน้มที่ลูกจะมีอาการแพ้นมวัวได้เช่นกัน
- ในช่วง 6 เดือนแรก ให้ลูกดื่มนมแม่อย่างเดียว โดยที่แม่ไม่จำเป็นต้องงดดื่มนมวัว หรืองดรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว
เมื่อลูกมีอาการแพ้นมวัว คุณแม่ควรให้ลูกกินนมแม่ให้นานที่สุดอย่างน้อย 4-6 เดือน เพื่อป้องกัน และลดอาการแพ้โปรตีนในนมวัว นอกจากนี้ ในช่วงให้นม คุณแม่ก็ควรงดบริโภคนมวัว และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัวด้วย หากคุณแม่สงสัยว่าลูกมีความเสี่ยงที่จะแพ้นมวัว ก็ควรพาเด็กมาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับคำปรึกษา และวางแผนในการให้อาหารเสริมเด็กต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
รู้หรือไม่ บริจาคน้ำนม คือทางเลือกรองของการให้นมลูกเท่านั้น!
DHA กับ 3 คุณประโยชน์ที่มากกว่าแค่พัฒนาสมอง และดวงตา
อาหารเสริมเพิ่มน้ำนม จำเป็นไหม แม่ท้องกินอะไรแล้วช่วยบำรุงน้ำนม?