รู้หรือไม่ บริจาคน้ำนม คือทางเลือกรองของการให้นมลูกเท่านั้น !

การบริจาคน้ำนม และการรับบริจาคนั้น ในความเป็นจริงหากไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็น ถือว่าไม่ควรทำ เนื่องจากมีความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสในน้ำนมไ 

 1757 views

การบริจาคน้ำนม และการรับบริจาคนั้น ในความเป็นจริงหากไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็น ถือว่าไม่ควรทำ เนื่องจากมีความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสในน้ำนมได้ น้ำนมของแม่แท้ ๆ จึงปลอดภัยที่สุด แต่ในกรณีที่มีความจำเป็น หรือมีความต้องการบริจาค ไม่ควรทำกันเอง ควรบริจาคผ่าน “ธนาคารน้ำนม” เท่านั้น เนื่องจากจะได้รับการตรวจสอบที่ละเอียด และมีกระบวนการฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐาน

รู้ไว้ก่อน นมแม่คนอื่นมีโอกาสทำให้ทารกติดเชื้อได้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การให้นมแม่คนอื่นต่อทารกนั้น อาจมีความเสี่ยงมากกว่าที่คิด เนื่องจากน้ำนมเป็นชีววัตถุ คล้ายกับเลือด หรือน้ำหนองนั่นเอง ซึ่งอาจมีเชื้อโรค หรือโรคร้ายที่หลบซ่อนไม่สามารถตรวจพบเจอได้โดยง่าย และความเสี่ยงจะยิ่งมากขึ้นได้ หากคุณแม่ที่ต้องการบริจาคนมมั่นใจว่าตนเองแข็งแรง และนำนมที่ปั๊มมาไปแจกจ่ายโดยไม่ผ่านการตรวจสอบที่มากเพียงพอ ทารกจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับน้ำนมจากแม่คนอื่น นอกจากผู้ที่เป็นแม่แท้ ๆ ของทารกเอง

ทนพ.ภาคภูมิ  เดชหัสดิน ยังเคยให้ข้อมูลไว้ว่ามีคุณแม่เป็นจำนวนมากที่มั่นใจว่าตนเองมีความแข็งแรงมากพอ และต้องการทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น จึงทำการตรวจร่างกายในเชื้อโรค หรือไวรัสต่าง ๆ ที่อันตราย รวมถึงทำแบบสอบถามต่าง ๆ อย่างครบถ้วนตามหลักข้อบังคับแล้ว จากคุณแม่ 1,091 คน เมื่อตรวจอย่างละเอียดกลับพบว่า มีคุณแม่ที่มีเชื้อไวรัสอันตรายโดยที่ตนเองก็ไม่รู้หลายคน ได้แก่ เชื้อ HIV 4คน, เชื้อ HTLV 6 คน, เชื้อซิฟิลิส 6 คน, เชื้อไวรัสตับอักเสบซี 3 คน และไวรัสตับอักเสบบีจำนวน 17 คน และที่เป็นข่าวร้ายคือ เชื้อเหล่านี้สามารถส่งต่อไปสู่ทารกน้อย ผ่านน้ำนมได้ด้วยเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : รอบรู้ทุกประโยชน์ของนมแม่ และการเก็บรักษานมเพื่อลูกรัก

วิดีโอจาก : RAMA Channel

คุณแม่ยังบริจาคน้ำนมได้ไหม เมื่อมีความเสี่ยงแบบนี้ ?

เชื่อว่าคุณแม่หลายคนพออ่านมาถึงจุดนี้แล้ว อาจเกิดความสับสน และความกลัว หากกำลังไปบริจาคนมให้กับทารกอื่น เพราะกลัวว่าตนจะมีความเสี่ยง หรือมีเชื้อไวรัสร้ายแอบซ่อนในร่างกาย ทำให้ทารกอื่นเป็นอันตรายไปด้วย เรื่องนี้ทาง มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงความยินยอมในการรับบริจาค ซึ่งต้องเกิดจากความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงแม่ที่จะทำการบริจาคนมนั้น จะต้องเข้ารับการตรวจโดยละเอียด และได้การรับรองจากสถาบันทางการแพทย์ ว่าไม่มีเชื้อไวรัสอันตรายต่อทารก ได้แก่ เชื้อ HIV, เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดต่าง ๆ, เชื้อซิฟิลิส และเชื้อไซโตเมกกาโลไวรัส (CMV) เป็นต้น

รวมไปถึงการคัดกรองเกี่ยวกับสารอันตรายอันเกิดจากสารเสพติด หรือบุหรี่ด้วย เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของทารกจนถึงที่สุด และลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นคุณแม่ที่ต้องการบริจาคนม จะต้องผ่านการตรวจสอบเหล่านี้ทั้งหมดด้วย และไม่ควรไปบริจาคกันเอง นอกจากทำผ่านธนาคารน้ำนมเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้กำลังบอกอะไรกับคุณแม่ ?

การบริจาคน้ำนมไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ผลกระทบอาจไม่คุ้มค่าหากเกิดความผิดพลาด เพราะยังคงอยู่บนความเสี่ยงอยู่ อีกทั้งน้ำนมไม่ใช่สิ่งที่ขาดแคลนในปัจจุบัน หากไม่มีความจำเป็นใด ๆ ไม่ว่าอย่างไรก็ตามทารกน้อยควรได้กินนมแม่แท้ ๆ ของตนเองจะดี และปลอดภัยต่อลูกมากที่สุดแล้ว พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวไว้ว่าการบริจาคนมแม่ ควรทำผ่านระบบของ “ธนาคารน้ำนม” เท่านั้น เนื่องจากมีระบบการฆ่าเชื้อ ช่วยให้มีความปลอดภัยมากขึ้น แต่แนะแม่หลังคลอดให้ลูกกินนมตนเองจะดีที่สุด

พ.ญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ยังยืนยันว่าเคยมีคุณแม่ให้นมสอบถามหลายคนว่า ตนเองมีน้ำนมเยอะ และอยากจะช่วยให้ทารกอื่นที่ต้องการน้ำนมจะได้ไหม ทางด้าน พ.ญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ อธิบายว่าไม่ควรบริจาคให้ทารกอื่น เพราะหากเกิดความเสี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจรุนแรงเกินกว่าที่จะรับผิดชอบได้

บริจาคน้ำนม


11 ขั้นตอนการ บริจาคน้ำนมแม่ ผ่านธนาคารนมแม่รามาธิบดี

การบริจาคนั้นคุณแม่สามารถติดต่อได้ที่ธนาคารนมแม่รามาธิบดี เพื่อทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องตั้งแต่การนัดวันตรวจร่างกาย ไปจนถึงการบีบน้ำนม หรือติดต่อสอบถามได้ที่ชั้น 6 อาคารศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี น้ำนมในตู้ธนาคารนมแม่ จะสามารถเก็บได้นานถึง 6 เดือน แต่ถ้านำมาละลายแล้วอยู่ได้ 24 ชั่วโมงเท่านั้น เบื้องต้นมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

  1. แสดงความต้องการบริจาคด้วยการโทรติดต่อทางธนาคารนมแม่ก่อน โทร 02-200-4530
  2. ทำการนัดหมายเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกับทางเจ้าหน้าที่
  3. ตรวจสุขภาพ และตรวจเลือด คล้ายกับการตรวจก่อนบริจาคเลือด
  4. เดินทางมาบีบน้ำนมได้ที่ธนาคารน้ำนมตามนัดหมาย
  5. น้ำนมจะถูกแบ่งใส่ขวดนมไซส์ L
  6. น้ำนมจะถูกนำไปตรวจสอบผ่านเครื่องพาสเจอไรซ์
  7. แบ่งขวดใส่เข้าตู้ ขวดละ 2 ออนซ์
  8. ตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพของน้ำนม
  9. ตรวจหา และวิเคราะห์สารอาหาร ผ่านเครื่องสารอาหาร
  10. นำน้ำนมเก็บเข้าตู้เย็นที่อุณหภูมิ -21 องศาเซลเซียส
  11. น้ำนมจะถูกส่งให้ทารกที่มีความจำเป็นในการใช้นมจากธนาคารน้ำนมเท่านั้น


นอกจากนี้สำหรับคุณแม่ที่ไตร่ตรองแล้วว่าต้องการบริจาค ยังสามารถติดต่อได้ที่ ธนาคารนมแม่ศิริราช ตึกอานันทมหิดล ชั้น 9 โรงพยาบาลศิริราช โทร. 0-2414-1076

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

อาหารเสริมเพิ่มน้ำนม จำเป็นไหม แม่ท้องกินอะไรแล้วช่วยบำรุงน้ำนม ?

ฟักทอง ช่วยบำรุงน้ำนมได้จริงไหม กินฟักทองแล้วมีประโยชน์อย่างไร ?

นมผง แต่ละสูตรต่างกันอย่างไร เลือกนมผงแบบไหนให้ปลอดภัยต่อลูกน้อย ?

ที่มา : 1, 2, 3