รอบรู้ทุกประโยชน์ของนมแม่ และการเก็บรักษานมเพื่อลูกรัก

นมแม่ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ต้องให้ลูกได้กินตั้งแต่ช่วง 6 เดือนแรก ควรให้ลูกหลังคลอดกินเร็วที่สุดเพื่อสายใยสัมพันธ์ หากต้องเก็บรักษ 

 1539 views

นมแม่ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ต้องให้ลูกได้กินตั้งแต่ช่วง 6 เดือนแรก ควรให้ลูกหลังคลอดกินเร็วที่สุดเพื่อสายใยสัมพันธ์ หากต้องเก็บรักษานมควรเก็บไว้ในตู้เย็น ตามระยะเวลาที่เหมาะสม และต้องอุ่นก่อนเสมอก่อนให้ทารกกิน ยังมีเรื่องอะไรอีกบ้างที่ต้องรู้ มาหาคำตอบกันในบทความนี้กันเลย

ช่วงไหนสำคัญที่สุดในการให้นมแม่

การให้ทารกดื่มนมจากคุณแม่ไม่ใช่ว่าจะเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะมีช่วงที่สำคัญมากที่สุด ที่ไม่ควรขาด นั่นคือ ช่วง 6 เดือนแรกหลังจากคลอดทารก (นอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์จากข้อบ่งชี้ต่าง ๆ) เนื่องจากในช่วงนี้ทารกจะไม่สามารถรับน้ำ หรืออาหารชนิดอื่น ๆ เพราะการที่สมองเติบโตเร็ว แต่กระเพาะอาหารเล็ก หากให้อาหารอื่นร่วมด้วย จะทำให้ลูกน้อยรับน้ำนมจากแม่น้อยจนเกินไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกน้อยได้

นอกจากจะเป็นช่วง 6 เดือนแรกที่มีความสำคัญแล้ว การให้ลูกดื่มนมจากแม่ให้เร็วที่สุดหลังจากคลอด จะเป็น “นาทีทอง” ที่จะสร้างสายใยความสัมพันธ์ของทารก และคุณแม่ได้อย่างดีเยี่ยม โดยปกติแล้วมักจะไม่ปล่อยให้เกิน 30 นาทีหลังคลอด

ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง

การให้นมลูกต้องให้อย่างถูกวิธี มีท่าทางที่ถูกต้อง คุณแม่ต้องจับลูกตะแคงเข้าหาตัวคุณแม่ สังเกตให้ศีรษะกับลำตัวระดับเดียวกัน ระหว่างให้นมต้องคอยประคองหัวของทารกให้สามารถดูดนมได้ถึงและลึก ลูกน้อยจะดูดเบา ๆ เป็นจังหวะ และมีเสียงเล็กน้อยเวลาลูกน้อยกลืนน้ำนม เพื่อเตรียมความพร้อมที่ดีที่สุดคุณแม่ควรเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการให้นมเด็กทารกมาก่อนจะดีที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 วิธีแก้อาการหลังลูก “เบื่ออาหาร” ให้กลับมามีความสุขกับมื้ออาหารอีกครั้ง

วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกอิ่มนมแล้ว ?

  • บริเวณเต้าของนมจะกลับมานุ่มหลังลูกกินเสร็จ (ในระหว่างลูกดูดนมจะมีลักษณะตึง)
  • ลูกจะอ้าปากกว้าง และคายหัวนมออกมาเอง
  • ท้องของทารกจะมีลักษณะป่องขึ้นมากกว่าตอนก่อนดูดนม
  • ร่างกายของทารกจะดูผ่อนคลายมากขึ้น ไม่เกร็ง ไม่ได้แสดงออกว่าต้องการดูดนมแต่
  • ลูกจะนอนหลับสนิท ไม่งอแง หรือร้องไห้


ประโยชน์ของนมแม่ต่อทารก และตัวคุณแม่เอง

เรารู้กันดีว่าน้ำนมแท้จากคุณแม่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยมากมายหลายประการ แต่ไม่ใช่แค่ลูกน้อยเท่านั้น คุณแม่เองก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน ถือว่าการให้นมลูกเป็นสิ่งที่ดีต่อทั้งผู้ให้ และผู้รับ

ประโยชน์น้ำนมจากแม่สู่ลูกน้อย

นมจากเต้าคุณแม่มีส่วนสำคัญในพัฒนาการของทารกให้เป็นไปตามปกติ นอกเหนือจากนี้ยังมีสารอาหาร หรือภูมิคุ้มกันที่มีความสำคัญ และมีความจำเป็นต่อทารกแรกเกิดด้วย

ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง และร่างกาย

ลูกน้อยที่ได้รับน้ำนมของคุณแม่จะได้สารอาหารที่ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท งานวิจัยยืนยันว่าการให้ลูกน้อยทานนมจากเต้าช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้าน IQ มากกว่าเด็กที่ทานนมแบบผสม ซึ่งเป็นการวัดจากเด็กเล็กช่วงกำลังเข้าสู้วัยเรียน นอกจากนี้หากทารกคลอดก่อนกำหนด และมีพัฒนาการทางสมองที่อาจช้ากว่าเด็กทั่วไป การให้ทานนมจากแม่สามารถช่วยให้มีพัฒนาการกลับสู่ความปกติได้ อีกทั้งยังช่วยลดโอกาสที่จะเกิดโรคทางจิตเวชได้ด้วย

การที่ลูกน้อยได้รับนมจากคุณแม่ยังช่วยให้มีพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อ และกระดูกเป็นไปได้อย่างปกติ และยังมีส่วนช่วยเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก ลดโอกาสการเกิดฟันผุ ฟันเกได้ดี

นมแม่


ช่วยลดโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ

การให้ลูกน้อยได้ดื่มน้ำนมของแม่ โดยไม่ได้ผสม มีส่วนช่วยป้องกันโรคหลายโรค ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายต่อเด็กเล็ก หรือโรคที่พบเจอได้บ่อยในเด็ก ได้แก่

  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ลดโอกาสเกิดสูงสุด 3.8 เท่า
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ลดโอกาสเกิดสูงสุด 2-4 เท่า
  • โรคลำไส้อักเสบ ลดโอกาสเกิดสูงสุด 20 เท่า
  • หูชั้นกลางอักเสบ ลดโอกาสเกิดสูงสุด 3-4 เท่า
  • โรคภูมิแพ้ ลดโอกาสเกิดสูงสุด 2.7เท่า
  • โรคท้องเสีย และปอดบวม ลดโอกาสเกิดสูงสุด 3.5-4.9 เท่า
  • โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ลดโอกาสเกิดสูงสุด 2.6-5.5 เท่า


ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของทารก

น้ำนมของแม่ช่วยกระตุ้นการสร้างแอนติบอดี (Antibody) ของลูกน้อย ช่วยลดโอกาสติดเชื้อโรค หรือไวรัสบางชนิดได้มากขึ้น เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (RSV) เป็นต้น โดยภูมิคุ้มกันเหล่านี้สามารถมาจากแม่ได้โดยตรง จากการที่คุณแม่อาจเคยเป็นโรคนี้มาก่อนแล้ว จนมีภูมิตามธรรมชาติ ภูมิเหล่านี้สามารถส่งต่อมาให้ลูกน้อยได้ ผ่านการให้ลูกน้อยทานน้ำนมจากคุณแม่นั่นเอง

ประโยชน์ของนมแม่จากการให้นมลูก

ขณะที่แม่กำลังให้นมลูก ร่างกายของแม่จะมีการหลั่ง “ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin)” ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้มดลูกกลับสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้น ภายหลังคลอด รวมไปถึงการใช้พลังงานมากขึ้นกว่าปกติ เพราะต้องให้นมลูก ร่างกายจะถูกบีบให้ทำงาน โดยจะมีการดึงไขมันที่สะสมอยู่ออกมาใช้ได้มากขึ้น ส่งผลให้การให้นมลูกมีส่วนช่วยให้รูปร่างของคุณแม่ดีขึ้นได้

นอกจากนี้การให้นมทารกยังมีประโยชน์ต่อสภาพจิตใจด้วย เนื่องจากฮอร์โมนออกซิโทซิน จะทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย สามารถช่วยลดความเครียดได้ และเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างทารกกับคุณแม่ด้วย ทำให้เกิดความรัก และความผูกพันที่ไม่สามารถมองเห็น

การเก็บรักษานมแม่

  • เก็บให้มีปริมาณที่เพียงพอในแต่ละมื้อ ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป
  • หลังเก็บน้ำนมควรรีบปิดภาชนะที่เก็บทันที เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก
  • ตู้เย็น 1 ประตู ใส่ช่องแช่แข็งได้ 1 สัปดาห์ ชั้นใต้ช่องแช่แข็งเก็บได้เพียง 1 วันเท่านั้น
  • กรณีตู้เย็น 2 ประตู ใส่ช่องแช่แข็งได้ 3 เดือน และชั้นใต้ช่องแช่แข็งเก็บได้ 2 วัน
  • ไม่ควรเก็บที่ประตูของตู้เย็น เนื่องจากการเปิด-ปิดตู้เย็น จะทำให้อุณหภูมิบริเวณประตูไม่คงที่


หากตั้งทิ้งเอาไว้โดยไม่ได้นำไปแช่เย็น น้ำนมจะมีอายุอยู่ได้เพียง 4-6 ชั่วโมงเท่านั้น หากเก็บในกระติก หรือถังภาชนะที่มีน้ำแข็งสามารถอยู่ได้ 24 ชั่วโมง แต่ต้องมีน้ำแข็งตลอดเวลา

การเก็บรักษานมแม่


ข้อควรรู้เมื่อต้องการนำนมแม่ที่แช่เย็นมาให้ลูก

  • ทำการละลายก่อนด้วยการนำมาใส่ในช่องธรรมดาในตู้เย็น เก็บไว้ใช้ใน 24 ชั่วโมง ก่อนให้ลูกควรนำไปกวนในน้ำอุ่นก่อนเสมอ
  • ไม่ควรใช้น้ำร้อนในการอุ่น เนื่องจากจะเป็นการทำลายสารอาหารที่อยู่ในนม และห้ามใช้การอุ่นวิธีเร่งด่วน เช่น ไมโครเวฟ
  • หากนำนมออกมาละลายไว้แล้ว แต่ไม่ได้ใช้ในตอนนั้น สามารถใส่กลับเข้าตู้เย็นช่องธรรมดา แต่ต้องใช้ภายใน 4 ชั่วโมงเท่านั้น
  • ควรเรียงลำดับการใช้งานนมที่แช่ไว้ก่อน และหลังให้ดี นำขวดที่แช่ก่อนมาใช้ก่อน เพื่อป้องกันการเลยเวลา หากเรียงลำดับผิด อาจทำให้ขวดอื่น ๆ เสียเปล่าไปด้วย
  • ห้ามนำนมที่ผ่านการละลายแล้ว ใส่กลับเข้าไปแช่ให้แข็งอีก
  • หากใช้นมไม่หมด มีนมเหลือไม่ควรเก็บไว้ ให้ทิ้งไปได้เลย


การให้นมลูกด้วยตัวของคุณแม่เอง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาสิ่งใดมาทดแทนได้ ช่วง 6 เดือนแรก เป็นช่วงที่สำคัญ ไม่ควรมีอะไรมาผสมน้ำนม เพื่อให้ลูกน้อยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่มากที่สุด

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

4 วิธีเคล็ดไม่ลับ เพิ่มส่วนสูง ให้ลูกน้อยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ

6 ประโยชน์ของน้ำสะอาด ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจไม่รู้

5 วิธีแก้คลื่นไส้อาเจียน ปัญหาน่าปวดหัวของคุณแม่ตั้งครรภ์

ที่มาข้อมูล : 1 2 3 4 5