โรคไอกรน (Pertussis) ในเด็กเล็ก ป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ !

โรคไอกรน เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่จะมีความรุนแรงและอันตรายมาก หากเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ที่สำคัญยังเป็นโรคที่คล้ายคลึงกับหวัดทั่วไ 

 807 views

โรคไอกรน เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่จะมีความรุนแรงและอันตรายมาก หากเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ที่สำคัญยังเป็นโรคที่คล้ายคลึงกับหวัดทั่วไป พ่อแม่ที่ขาดความรู้และความเข้าใจ อาจจะไม่ได้ระวังอันตรายของภาวะดังกล่าวมากพอ อาจเป็นสาเหตุหลักที่เกิดภาวะแทรกซ้อน จนเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความรู้จักกับโรคไอกรนในเด็ก ว่ามีสาเหตุจากอะไร ติดเชื้อแบบไหน และมีวิธีป้องกันอย่างไรได้บ้าง หากพร้อมแล้วไปดูพร้อมกันได้เลยค่ะ !

โรคไอกรน คืออะไร ?

ไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส ทำให้มีอาการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไอที่มีลักษณะไอ ซ้อน ๆ ติด ๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ทำให้เด็กหายใจไม่ทัน

หลังติดเชื้อในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด เช่น ไอ มีไข้ น้ำมูกไหล หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการไอต่อเนื่องอย่างรุนแรง และมีเสียงไอที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นเสียงไอที่เกิดจากการหายใจลำบาก จึงมีอีกชื่อเรียกว่า Whooping Cough เป็นการไอลึก ๆ เป็นเสียงวู้ป สลับกับการไอเป็นชุด ๆ บางครั้งอาจมีอาการเรื้อรังนาน 2-3 เดือน ซึ่งอาการนี้เป็นที่มาของชื่อไอกรนในภาษาไทย

ในทารกหรือเด็กเล็กอาจไม่พบอาการไอ แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเป็นหลัก ไอกรนเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้จากการไอหรือจาม ทารกและเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

โรคไอกรน



สาเหตุการเกิดโรคไอกรน

โรคไอกรน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bordettella โดยโรคนี้ติดต่อกันง่ายมาก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทานจะติดเชื้อจากผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน มีโอกาสมากถึง 80-100% ถึงแม้จะมีภูมิต้านทาน ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ โดยเชื้อโรคจะแพร่กระจายอยู่ในละอองของเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และจะติดต่อไปยังผู้อื่นต่อไป

เมื่อเชื้อโรคจะกระจายอยู่ในละออง ผู้สัมผัสละอองเชื้อโรคจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถึงแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแล้ว อีกทั้งหากไม่สบายหรือร่างกายอ่อนแอ ก็สามารถติดเชื้อได้ โดยเฉพาะเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี เพราะยังได้วัคซีนไม่ครบตามโปรแกรม ซึ่งจะได้วัคซีนไอกรนครบ 3 เข็มเมื่ออายุ 6 เดือน

ไอกรนจะพบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากในครอบครัว โรคไอกรนเป็นได้ตั้งแต่เดือนแรก เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านมายังลูกไม่ได้หรือได้น้อยมาก ในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงมาก และมีอัตราการตายสูง ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีอาการรุนแรง และมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมักจะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี

บทความที่เกี่ยวข้อง : โนโรไวรัส (Norovirus) ระบาดหนัก ตัวการทำเด็ก ๆ ท้องเสีย !

ไอกรนเกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อเชื้อแบคทีเรีย Bordettella เข้าสู่ทางเดินหายใจ จะไปเกาะเยื่อบุเซลล์ หรือเยื่อเมือกของเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก เกิดการแบ่งตัวและผลิตสารพิษออกมา ก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และก่อให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา ประมาณ 10% ของทารกเชื้ออาจเข้าสู่ปอดตามทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการปอดบวม อาจทำให้เสียชีวิตได้ เชื้อโรคของไอกรนมักไม่แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด จึงมักไม่แสดงอาการกับอวัยวะอื่น นอกจากระบบทางเดินหายใจส่วนบน

อาการของโรคไอกรน

1. ระยะแรก

เด็กจะเริ่มมีน้ำมูก และไอ อาการเริ่มแรกดูเหมือนเป็นหวัดธรรมดา อาจมีไข้ต่ำ ๆ ตาแดง น้ำตาไหล อาการเช่นนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้จะยังวินิจฉัยโรคไอกรนยังไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าไอนานเกิน 10 วัน และไอแบบแห้ง ๆ

2.ระยะไอ หรือระยะอาการกำเริบ

เป็นระยะที่มีอาการไอเด่นชัด มีอาการไอเป็นชุด ๆ ไม่มีเสมหะ จะเริ่มมีลักษณะอาการไอกรน คือ มีอาการไอถี่ ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้ง ตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง “วู้ป” (Whoop) เป็นเสียงการดูดลมเข้าอย่างแรง ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะหน้าแดง น้ำมูก น้ำตาไหล เส้นเลือดที่คอโป่งพอง

การไอเป็นกลไกของร่างกายที่ขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมา ผู้ป่วยจะไอติดต่อกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะขับเสมหะที่เหนียวข้นออกมา ในเด็กเล็กอาจจะไอจนหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทัน ซึ่งอาการหน้าเขียวอาจเกิดจากเสมหะอุดตันทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่ในเด็กเล็กจะมีอาการอาเจียนตามหลังการไอเป็นชุด ๆ อาการเช่นนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์

3.ระยะฟื้นตัว หรือระยะพักฟื้น

ระยะนี้กินเวลาตั้งแต่ 1 – 3 เดือน เป็นระยะที่อาการไอจะค่อย ๆ ทุเลาลงจนหายในที่สุด



โรคไอกรน



อันตรายของภาวะแทรกซ้อน

ทารกและเด็กเล็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น ภาวะหยุดหายใจชั่วคราว การติดเชื้อที่ปอด หรือปอดบวม อาการชักอย่างรุนแรง กลุ่มอาการทางสมอง หรือเสียชีวิต เป็นต้น ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่ภาวะแทรกซ้อนจะไม่รุนแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดวัคซีน

การรักษาโรคไอกรน

  1. รับประทานยาต่อเนื่องนานประมาณ 2 สัปดาห์ ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดใช้ยาก่อนที่แพทย์กำหนด เพราะจะส่งผลต่อระดับของยาปฏิชีวนะในเลือด และอาจทำให้ดื้อยาได้
  2. เด็กทารกหรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับระบบการหายใจ หรือมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ร่วมด้วยหากผู้ป่วยมีอาการของภาวะขาดน้ำ
  3. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และมีอุณหภูมิที่เหมาะสมแก่การนอน
  4. ดื่มน้ำมาก ๆ ระวังการเกิดภาวะขาดน้ำโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก สังเกตได้จากอาการปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะน้อยและสีเข้ม
  5. รับประทานอาหารให้น้อยลง เพื่อหลีกเลี่ยงการอาเจียนหลังอาการไอ
  6. อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง ปราศจากตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการไอ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : มาดู น้ำตาลในเลือดผิดปกติ ภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กทารกแรกเกิด



เมื่อใดที่ควรพบแพทย์

  • ผู้ที่อาการชัดเจนว่าเป็นไอกรน คือ มีอาการไอเป็นชุด ๆ ช่วงสุดท้ายมีเสียงดังวู้ป หรือหลังไอมีอาการอาเจียนตามมาและมีไข้ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว
  • ในกรณีที่อาการไม่ชัดเจน แต่ไอติดต่อกันมาประมาณ 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยรักษา
  • ถ้าในบ้านของผู้ป่วยมีทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี หรือมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคไอกรนกับบุคคลเหล่านี้ ผู้ป่วยควรแยกน้ำดื่ม อาหารการกิน ของใช้ส่วนตัว และแยกห้องนอนจนกว่าจะได้รับยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแล้วมากกว่า 5 วัน



การป้องกันโรคไอกรน

  1. โรคไอกรนมีวัคซีนสำหรับป้องกัน ในเด็กเล็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนช่วงอายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 15-18 เดือน หลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้ง เมื่ออายุ 4-6 ปี
  2. ในช่วงอายุ 11-12 ปี ปกติเด็กควรจะได้รับวัคซีนกระตุ้นอีก 1 เข็ม
  3. สำหรับแม่ตั้งครรภ์ ควรได้รับการฉีดวัคซีนไอกรน เพราะช่วยป้องกันโรคไอกรนในแม่และลูก เพราะเกินร้อยละ 50 ของลูกที่ป่วยเป็นโรคไอกรนติดมาจากแม่ ซึ่งหากลูกเป็นโรคไอกรนใน 3 เดือนแรก ลูกมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต แต่หากฉีดวัคซีนไอกรนให้แม่ สามารถป้องกันลูกที่คลอดออกมาได้ ตั้งแต่ 2-6 เดือน



นอกจากการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนแล้ว ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กเล็กก็ต้องป้องกันตัวเองด้วยเช่นกันค่ะ เมื่อไรที่มีอาการไอหรือจาม ไม่ว่าจะเป็นโรคไอกรนหรือไม่ ควรเลี่ยงการสัมผัสเด็กโดยตรง หากจำเป็นจริง ๆ ควรสวมแมสก์ป้องกัน เพื่อลดการติดเชื้อต่อ อีกทั้งการล้างมือด้วสบู่ ก่อนการสัมผัสหรือกอดหอมเด็ก ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการแพร่ระบาดได้แล้วค่ะ !

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โคลิค ร้องไม่หยุด ร้องนาน อาการนี้รับมืออย่างไร ?

โรคลมบ้าหมู หรือ โรคลมชักในเด็ก พ่อแม่รู้เท่าทัน ลูกรักก็ปลอดภัย !

ลูกน้อย “แพ้นมวัว” ทำไงดี ให้ลูกกินนมอะไรแทนได้บ้าง?

ที่มา : 1