มาดู น้ำตาลในเลือดผิดปกติ ภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กทารกแรกเกิด

เพราะกลูโคส หรือน้ำตาล เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุด สำหรับทารกที่อยู่ในครรภ์แม่ เมื่อสายรกถูกตัดหลังคลอด โดยปกติแล้วเด็กจะมีปริมาณน้ำต 

 858 views

เพราะกลูโคส หรือน้ำตาล เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุด สำหรับทารกที่อยู่ในครรภ์แม่ เมื่อสายรกถูกตัดหลังคลอด โดยปกติแล้วเด็กจะมีปริมาณน้ำตาลในตับสำรองที่เพียงพอ แต่ถ้าได้ไม่มากพอก็อาจจะเสี่ยงอยู่ในภาวะ น้ำตาลในเลือดผิดปกติ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งน้ำตาลต่ำ และน้ำตาลสูง

วันนี้ Mamastory จะพาไปดูว่าภาวะนี้จะสร้างความเสี่ยงอย่างไร และควรจะดูแลลูกตั้งแต่เริ่มต้นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงไปมากกว่านี้ ไปดูกันเลยค่ะ !

ความผิดปกติของน้ำตาลในเลือดในทารก

อย่างที่รู้กันค่ะว่า “กลูโคส” หรือ “น้ำตาล” คือ แหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดของร่างกาย ในช่วงที่เด็กอยู่ในครรภ์ของแม่ เด็กจะได้รับน้ำตาลโดยผ่านสายรก การลำเลียงอาหารจะสิ้นสุดลง เมื่อสายรกถูกตัดออกในตอนที่เด็กคลอดออกมา ปกติแล้วเด็กจะมีปริมาณน้ำตาลในตับสำรองเพียงพอ และน้ำตาลในเลือดของเด็กควรอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ไปจนถึงช่วงเวลาการเริ่มผลิตน้ำนมของแม่ และช่วงที่เด็กเรียนรู้ที่จะดูดนมแม่

ภาวะน้ำตาลต่ำ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด โดยทั่วไปมักพบในทารกที่มารดาเป็นเบาหวาน ทารกที่คลอดก่อนกำหนด และทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ แต่จะไม่พบในทารกที่คลอดครบกำหนดปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดของทารกจะต่ำที่สุดในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

ดังนั้นการที่จะช่วยป้องกัน หรือลดปัญหาภาวะน้ำตาลต่ำในทารก สามารถทำได้โดยการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และให้ทารกเริ่มต้นกินนมแม่ ตั้งแต่ในระยะแรกภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาภาวะน้ำตาลต่ำ



น้ำตาลในเลือดผิดปกติ



ความเสี่ยงสำหรับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หมายถึง ความเสี่ยงที่สมองจะไม่ได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ และหากน้ำตาลในเลือดมีปริมาณที่ต่ำมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการเฉียบพลัน ส่วนใหญ่แล้วอาการนี้ จะมีพบมากในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีน้ำหนักในตอนแรกเกิดน้อย จึงไม่ได้มีน้ำตาลสำรองไว้ในปริมาณที่สูง ความเสี่ยงยังมีมากขึ้นหากพลังงานที่เก็บไว้เริ่มหมดไป เช่น ในกรณีที่ติดเชื้ออย่างรุนแรง หรือการขาดออกซิเจนในขณะคลอด เด็กที่แม่เป็นโรคเบาหวานเพราะฮอร์โมนอินซูลินไปลดปริมาณน้ำตาลในเลือด

สำหรับอาการของทารกที่มีภาวะน้ำตาลต่ำนั้น ในบางคนอาจไม่แสดงอาการ และหากมีอาการ สามารถเป็นได้ตั้งแต่ กระวนกระวาย หงุดหงิด เฉื่อยชา ง่วงซึม โคม่า หายใจเร็ว หยุดหายใจ เขียว อุณหภูมิร่างกายต่ำหรือไม่คงที่ ความตึงตัวของกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชัก หรือมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของการกิน



ระดับน้ำตาลในเลือดดูอย่างไร ?

  • ระดับน้ำตาลในเลือด อยู่ระหว่าง 70-100 คือ อยู่ในภาวะปกติ
  • ระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 100-125 คือ มีภาวะความเสี่ยง หรือเรียกว่า เบาหวานแฝง
  • ระดับน้ำตาลในเลือด มากกว่า 126 คือ มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน



การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด คืออะไร ?

การตรวจวัด หาระดับน้ำตาลในเลือด คือการวัดระดับความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือด เพื่อประเมินว่าร่างกายสามารถควบคุมน้ำตาลได้ดีมากน้อยแค่ไหน สำหรับในเด็กทารกการตรวจคัดกรองระดับน้ำตาลในเลือด (DTX) ส่วนใหญ่จะทำใน 1-2 ชั่วโมงหลังคลอด และเฉพาะทารกที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ

  1. ทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม และน้ำหนักมากกว่า 3,800 กรัม
  2. แม่เด็กที่เป็นโรคเบาหวาน
  3. ทารกที่มีภาวะเลือดข้น
  4. ทารกที่ป่วยหนัก เช่น ทารกเกิดก่อนกำหนด, ภาวะหายใจลำบาก, ภาวะขาดอากาศหายใจ, ภาวะติดเชื้อในเลือด



น้ำตาลในเลือดผิดปกติ



สำหรับผู้ใหญ่ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด สามารถทำได้ด้วยตัวเอง (Self Monitoring of Blood Glucose) ซึ่งสามารถตรวจได้เองเป็นประจำ ควรทำหลังอดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยระดับน้ำตาลในเลือดจะสามารถบ่งบอกถึงปริมาณของกลูโคสในกระแสเลือด ณ ขณะนั้นว่าอยู่ในระดับใด ซึ่งการตรวจน้ำตาลในเลือดนี้ เป็นการตรวจที่ช่วยคัดกรองและวินิจฉัยว่า มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานหรือไม่ และทำให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานสามารถปรับพฤติกรรมการดูแลตนเองได้ทันที

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคทอนซิลโตในเด็ก ปัญหาที่ห้ามละเลย หากไม่อยากให้ลูกเจ็บหนักกว่าเคย !



การดูแลรักษา

ควรเริ่มต้นตั้งแต่การคัดกรองทารกที่มีความเสี่ยง เน้นให้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และเริ่มให้นมแม่เร็วและให้บ่อย ๆ ในทารกที่ไม่มีอาการ การดูแลเบื้องต้นและเจาะเลือด ก่อนการให้นมจะช่วยในการรักษาได้ โดยหากอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องพิจารณาการให้น้ำนมที่ได้จากการบีบเก็บ หรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเพิ่มเติม แต่ในทารกที่มีอาการ จำเป็นต้องใช้การให้น้ำเกลือร่วมในการดูแลด้วย

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในกรณีที่มีอาการไม่ซับซ้อน สามารถรักษาด้วยการให้สารอาหารและพลังงาน ส่วนในกรณีที่มีอาการชัดเจน ควรป้องกันด้วยการให้กินอาหารเสริมและเจลน้ำตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากค่าน้ำตาลในเลือดไม่ได้เป็นปกติ หรือถ้าเด็กแสดงอาการ จำเป็นต้องรักษาด้วยให้น้ำตาลทางหลอดเลือด หากมีอาการนานกว่าหนึ่งวัน (24 ชั่วโมง) สามารถรักษาด้วยการให้ยาที่ยับยั้งฤทธิ์ของอินซูลิน ซึ่งมักใช้กับเด็กที่มีแม่เป็นโรคเบาหวาน ที่ต้องได้รับอินซูลินในการรักษา



เบาหวานในเด็ก สังเกตได้อย่างไร

คุณพ่อคุณแม่สามารถเช็กความเสี่ยงของลูกน้อย ที่จะเป็นโรคเบาหวานได้จาก การสังเกตพฤติกรรมการทานอาหาร อย่างเด็กอ้วนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะสังเกตได้ว่าช่วงตรงคอจะมีรอยดำและหนา คล้ายกับขี้ไคล ซึ่งเป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่า ร่างกายเริ่มดื้อต่ออินซูลิน หรือหากลูกปัสสาวะบ่อยและมีมดมาตอม หิวน้ำ กินเยอะ อ่อนเพลียง่าย เมื่อมีแผลจะหายช้า ก็สามารถสันนิษฐานในเบื้องต้นก่อนได้เลยว่า ลูกเรากำลังเป็นโรคเบาหวาน แต่เพื่อความแน่นอน ควรพาไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาล เพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดว่าปกติหรือเปล่า ซึ่งถ้าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าปกติ หลังจากอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงแล้ว ยังมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็ถือว่าเด็กกำลังเป็นโรคเบาหวานแล้ว



น้ำตาลในเลือดผิดปกติ



ทำไมเด็กถึงเป็นเบาหวาน

  1. ชนิดที่เกิดจากพันธุกรรม : โดยร่างกายจะต่อต้านเซลล์ตับอ่อน ทำให้ผลิตอินซูลินไม่ได้ เด็กที่มีภาวะนี้จะน้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย ซึ่งมักพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี
  2. ชนิดที่พฤติกรรมเด็กก่อให้เกิดโรค : ในขณะที่เด็กทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมากเกินไป และไม่ได้มีการออกกำลังกาย ทำให้เด็กมีเซลล์ไขมันมาก ซึ่งเซลล์ไขมันนี้ทำให้ร่างกายต่อต้านอินซูลิน จนอินซูลินไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตาม กลายเป็นโรคเบาหวานในที่สุด โรคเบาหวานชนิดนี้ก็พักจะพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปีเช่นเดียวกัน



เมื่อเราทราบแล้วว่าเด็กกำลังเป็นเบาหวาน หรือเริ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อย่าละเลยหรือนิ่งนอนใจไป เพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังตลอดชีวิต ยิ่งถ้าไม่ดูแลและรักษาตอนนี้ ในอนาคตก็จะมีโรคอื่นแทรกซ้อนตามมา เหมือนที่ผู้ใหญ่เป็นเบาหวานเช่นกัน ทั้งเบาหวานขึ้นจอตา ปลายประสาทเสื่อม ไตเสื่อม หลอดเลือดตีบง่าย โรคหัวใจ

เพราะฉะนั้นการดูแลรักษาโรคเบาหวานในเด็กจะเหมือนในผู้ใหญ่เลย คือ เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่เกิดจากพันธุกรรม อาจจะต้องคอยประคองและรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติอยู่เสมอ โดยอาจจะต้องพึ่งอินซูลิน แต่สำหรับเด็กที่เป็นเบาหวานที่เกิดจากพฤติกรรมการทาน ก็ต้องเริ่มฝึกให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร เริ่มออกกำลังกาย เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ให้มีการเผาผลาญไขมันในร่างกายให้ออกไปใช้บ้าง เพื่อให้การทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ ระดับน้ำตาลก็จะกลับมาอยู่ในระดับปกติเช่นกัน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แพ้แล็กโทส อาการเป็นอย่างไร ลูกแพ้แล็กโทสในนมทำไงดี?

ลูกน้อย “แพ้นมวัว” ทำไงดี ให้ลูกกินนมอะไรแทนได้บ้าง?

โรคโปลิโอในเด็ก กลุ่มอาการรุนแรงมากที่สุด ป้องกันอย่างไร ?

ที่มา : 1, 2