แพ้แล็กโทส อาการเป็นอย่างไร ลูกแพ้แล็กโทสในนมทำไงดี?

นมเป็นอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโต และช่วยให้ร่างกายได้รับคุณค่าทางสารอาหารมากมาย เด็กบางคนอาจมีอาการผิดปกติหลังจากดื่มนม เช่น ปวดท้อง ท 

 933 views

นมเป็นอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโต และช่วยให้ร่างกายได้รับคุณค่าทางสารอาหารมากมาย เด็กบางคนอาจมีอาการผิดปกติหลังจากดื่มนม เช่น ปวดท้อง ท้องอืด และท้องเสีย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการแพ้แล็กโทสในน้ำนมได้ วันนี้ Mama Story จะพามาดูกันว่า แพ้แล็กโทส อาการเป็นอย่างไร หากลูกแพ้แล็กโทสจะมีวิธีช่วยลูกดื่มนมอย่างไรบ้าง พร้อมแล้ว ไปดูกันค่ะ

แล็กโทสคืออะไร

แล็กโทส คือ น้ำตาลชนิดหนึ่งที่เป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ ประกอบไปด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 2 ชนิด ได้แก่ น้ำตาลกลูโคส และน้ำตาลกาแล็กโทส น้ำตาลแล็กโทส มักพบได้บ่อยในน้ำนมของสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น นมวัว นมแพะ หรือนมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่น ๆ รวมถึงนมแม่ และขนมบางอย่างที่มีส่วนประกอบของแล็กโทส เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมปังต่าง ๆ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าแล็กโทสสามารถพบได้ในอาหารทั่วไปที่เรารับประทาน

แพ้แล็กโทส

แพ้แล็กโทสคืออะไร

แพ้แล็กโทส คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยแล็กโทสได้ เพราะร่างกายขาดเอนไซม์แลคเตสที่จะย่อยในลำไส้เล็ก ซึ่งแล็กโทสมักจะพบได้บ่อยในนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว หากลูกรับประทานนมวัว แล้วมีอาการบางอย่างผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย มีแก๊สในกระเพาะ เวียนหัว และอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ก็อาจเป็นสัญญาณในการแพ้แล็กโทสได้ การแพ้แล็กโทส มีความแตกต่างจากการแพ้นม และแพ้โปรตีนในนมวัว คุณแม่จึงควรสังเกตอาการผิดปกติของลูก หลังจากดื่มนม หรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัว เพื่อป้องกันอาการแพ้แล็กโทสที่สามารถเกิดขึ้น

แพ้แล็กโทส เกิดจากอะไร

โดยทั่วไปแล้ว การแพ้แล็กโทสสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็ก และผู้ใหญ่ โดยร่างกายของเรามีเอนไซม์แลคเตสที่ผลิตในลำไส้เล็ก มีหน้าที่ย่อยน้ำตาลแล็กโทสให้มีขนาดเล็กลง และดูดซึมไปใช้เป็นพลังงานในร่างกาย แต่ร่างกายของผู้ที่แพ้แล็กโทสไม่สามารถย่อยน้ำแล็กโทสได้หมด เพราะลำไส้เล็กผลิตเอนไซม์แลคเตสได้ไม่เพียงพอ เมื่อแล็กโทสไม่ถูกย่อย ก็จะทำให้เกิดแก๊สจนส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด ปวดท้อง และท้องเสียตามมา โดยอาการแพ้แล็กโทส อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • คลอดก่อนกำหนด
  • บาดเจ็บที่ลำไส้เล็ก
  • การติดเชื้อระบบย่อยอาหาร
  • คนในครอบครัวเคยมีประวัติการแพ้แล็กโทส
  • ร่างกายผลิตเอนไซม์แลคเตสน้อยลง มักเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม และการคลอดก่อนกำหนด
  • มีอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้เล็กอักเสบ หรือโรคโครห์น เป็นต้น

อาการแพ้แล็กโทส

ผู้ที่มีอาการแพ้แล็กโทส จะมีอาการท้องอืด ปวดท้องบริเวณสะดือหรือท้องน้อย ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน บางรายอาจมีอาการท้องผูกร่วมด้วย ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากดื่มนม หรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมเข้าไปประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง โดยความรุนแรงของอาการ จะขึ้นอยู่กับปริมาณของอาหารที่รับประทานเข้าไป และความสามารถในการย่อยแล็กโทสของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม การแพ้แล็กโทส และการแพ้นมวัว มีความแตกต่างกันทั้งในด้านของสาเหตุ และความรุนแรงของอาการ สำหรับการแพ้นมวัว จะเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน จนทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ผื่นแดง อาการคัน บวม ปวดท้อง อาเจียน คัดจมูก และหายใจดังวี้ดหลังจากดื่มนม บางรายอาจมีอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ ซึ่งจะแตกต่างจากการแพ้แล็กโทสที่มีอาการปวดท้อง ท้องอืด และท้องเสีย เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกน้อย “แพ้นมวัว” ทำไงดี ให้ลูกกินนมอะไรแทนได้บ้าง?

แพ้แล็กโทส

ลูกแพ้แล็กโทส ดูแลอย่างไร

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะแพ้แล็กโทสให้หายขาด คุณแม่สามารถสังเกตอาการ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของลูกน้อย ได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มเอนไซม์แลคเตสตามคำแนะนำของแพทย์
  • เน้นการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินที่สูง เพื่อทดแทนการขาดสารอาหารจากการงดดื่มนม
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานนม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม โดยอาจให้ลูกดื่มนมที่ไม่มีแล็กโทส เพื่อไม่ให้เกิดอาการแพ้ได้
  • ให้ลูกดื่มนมที่ทำมาจากพืชแทน เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ และนมข้าวโอ๊ตแทนการดื่มนมวัว หากลูกยังมีอาการผิดปกติอีก ให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับคำแนะนำ
  • หากลูกมีอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง สามารถรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมได้ทีละน้อย และต้องคอยสังเกตอาการ คุณแม่อาจให้ลูกรับประทานนมกับอาหารอื่น ๆ เช่น ซีเรียล คุกกี้ ขนมปังกรอบ หรือรับประทานผลิตภัณฑ์นมที่มีปริมาณแล็กโทสน้อย เช่น โยเกิร์ต หรือชีส เป็นต้น

ลูกแพ้แล็กโทส ควรกินอาหารอะไร

หากลูกมีอาการแพ้แล็กโทส คุณแม่ควรให้ลูกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดีอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า หรือบรอกโคลี ปลา เช่น ปลาแซลมอน และปลาซาดีน น้ำเต้าหู้ น้ำส้ม นมถั่วเหลือง หรือซีเรียลที่ล้วนมีแคลเซียม และไข่ หรือตับที่มีวิตามินดีสูง เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหาร และพัฒนาการทางด้านการเจริญเติบโต นอกจากนี้ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง หากจะให้ลูกกินอาหารเสริมแคลเซียมเพิ่ม เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องร่างกายของร่างกายเด็กค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 สารอาหารในนมกล่อง เลือกแบบไหนให้ลูกแข็งแรงสมวัย

แพ้แล็กโทส

ลูกแพ้แล็กโทสแต่อยากให้ดื่มนมทำไงดี

สำหรับคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกน้อยดื่มนม อาจต้องเลี่ยงไปดื่มนมอย่างอื่นแทน เช่น นมถั่วเหลือง หรือนมอัลมอนด์ เป็นต้น เพราะในน้ำตาลแล็กโทสมีอยู่ในนมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีนมวัวที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโทสออกมาวางจำหน่าย ทำให้คุณแม่สามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ อาการแพ้แล็กโทสยังสามารถแก้ไขได้ด้วยการฝึกให้ร่างกายเคยชิน โดยการสังเกตอาการของลูกหลังจากดื่มนมเล็กน้อยว่ามีอาการผิดปกติเมื่อไหร่ ตัวอย่างเช่น ปวดท้องหลังดื่มนมในตอนเช้า หรือท้องเสียทุกครั้งหลังจากดื่มนม 1 แก้ว คุณแม่สามารถปรับให้ลูกเปลี่ยนวิธีดื่ม และปริมาณในการดื่มให้เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มนมในช่วงท้องว่าง ให้ดื่มนมหลังรับประทานอาหารเช้า หรือระหว่างมื้อแทน คุณแม่ควรให้ลูกค่อย ๆ จิบนมทีละนิด จากครึ่งแก้ว เป็น 1 แก้ว ถ้าหากมีอาการปกติค่อยให้ลูกหยุดดื่ม แล้วลองลดปริมาณในครั้งถัดไป ก็จะช่วยให้ร่างกายปรับตัวให้เคยชินได้ง่ายขึ้น

แพ้แล็กโทส อาจเป็นอาการที่ไม่น่ากลัวเท่าที่คิด ทางที่ดีหากลูกแพ้แล็กโทสในนม ให้คุณแม่หลีกเลี่ยงนมวัว แล้วให้ลูกนมถั่วเหลือง หรือนมอัลมอนด์แทน นอกจากนี้ เด็กที่แพ้แล็กโทสอาจมีความเสี่ยงในการได้รับแคลเซียม และวิตามินดีที่ไม่เพียง เพราะฉะนั้นคุณแม่อย่าลืมให้ลูกกินวิตามินเสริม หรือกินอาหารอื่น ๆ ที่มีแคลเซียมสูงนะคะ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

8 สารอาหารในนมผง ที่ต้องมองหาก่อนเลือกซื้อ

นมแพะ มีประโยชน์อย่างไร ให้ลูกดื่มนมแพะดีกว่านมวัวจริงไหม?

รีวิว 6 นม UHT สำหรับเด็ก ยี่ห้อไหนดี ช่วยให้สารอาหารสมองดีที่สุด

ที่มา : 1, 2, 3