เพราะทุกวันนี้เชื้อโรค หรือแบคทีเรีย เป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายของเรา เจ็บป่วยได้ง่ายกว่าเดิม โดยเฉพาะในเด็กที่อายุไม่เกิน 12 ปี เพราะอยู่ในช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่โตมากพอ โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นทอนซิลอักเสบ จึงมีมากกว่าในวัยผู้ใหญ่ วันนี้ Mamastory จะพาคุณพ่อคุณแม่ ไปรู้จักกับ โรคทอนซิลโตในเด็ก อาการเจ็บป่วยระยะแรก ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อลูกกว่าเดิม เมื่อละเลยการรักษา
ต่อมทอนซิล คืออะไร ?
อย่างที่เรารู้กันดีว่า “ต่อมทอนซิล” มีบทบาทสำคัญมากในเด็ก เพราะเป็นเสมือนป้อมปราการแรก ที่ช่วยดักจับ และกรองเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปในร่างกาย แต่หลาย ๆ ครั้งที่ทอนซิลก็กลายเป็นผู้ร้าย ทำลายสุขภาพเสียเอง เมื่อเป็นแล้ว จะต้องได้รับการดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด และต้องรักษาให้หายขาด เพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยระวัง และทำความรู้จักโรคนี้ให้ดีขึ้น
สาเหตุของทอนซิลอักเสบ
อย่างที่บอกว่าต่อมทอนซิลมีหน้าที่กรองเชื้อโรค ในวันที่ร่างกายอ่อนแอ หรือรับเชื้อโรคมาเยอะ ต่อมนี้ก็ต้องทำงานหนัก ทำให้ทอนซิลมีอาการบวมแดง โต และอักเสบในที่สุด สำหรับเด็กเล็กส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคหวัด ซึ่งติดต่อกันได้ง่ายเวลาไอจาม เพราะอยู่รวมกันมาก ๆ ในโรงเรียนอนุบาลหรือสถานรับเลี้ยงเด็กนั่นเองค่ะ ซึ่งตัวการของโรคทอนซิลก็แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ เกิดจากติดเชื้อไวรัส และเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไรให้ห่างไกลจากโรค?
- ซึ่งกว่า 80% จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไม่เป็นอันตราย เพียงแค่ต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานยาควบคู่ไปด้วย เพียงเท่านี้ลูกก็จะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม
- ในขณะที่อีก 20% ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งค่อนข้างร้ายแรงและน่าเป็นห่วง ต้องให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อทำการรักษาให้หายขาด ไม่เช่นนั้นจะเปิดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้
อันตรายของการเป็นโรคต่อมทอนซิล
เมื่อเด็กเป็นโรคต่อมทอนซิลจะรู้สึกเจ็บคอเวลาต้องกลืน ทำให้ไม่ยอมทานข้าว หรือทานน้อยลงซึ่งอาจทำให้กลายเป็นขาดสารอาหารได้ นอกจากนี้ อาการอักเสบสามารถลุกลามไปยังคอ ปอด หัวใจ และไตได้ ซึ่งเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ
เมื่อต่อมทอนซิลโตก็อาจไปอุดกั้นทางเดินหายใจได้ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตตอนนอน ว่าเด็กจะกรนเสียงดัง บางคนอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือสะดุ้งตื่นบ่อย ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของเด็กทั้งสิ้น สุดท้ายเมื่อเชื้อแบคทีเรียซึมเข้าสู่กระแสเลือด ก็จะทำให้เลือดเป็นพิษ ส่งผลร้ายแรงให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
อาการทอนซิลอักเสบ
อาการก็จะคล้ายหวัด มีน้ำมูก ไอ เสียงแหบ เจ็บคอ ตาแดง มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย เพิ่มเติมคือกลืนเจ็บ มีน้ำลายไหลมากผิดปกติ ไม่กินอาหาร อาจปวดหูปวดท้องร่วมด้วย ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่ อาการโดยรวมคล้ายทอนซิลอักเสบจากไวรัส แต่แตกต่างกันที่ทอนซิลจะอักเสบเป็นหนองหรือบวมแดงชัดเจน มีไข้สูงมากกว่าการติดเชื้อไวรัส บางรายก็มีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
เมื่อลูกมีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูกใส คุณพ่อคุณแม่ลองให้ลูกอ้าปากกว้าง ๆ แล้วใช้ไฟฉายส่องภายในลำคอดูนะคะ ถ้าหากต่อมทอนซิลโตเพียงเล็กน้อย อาการยังไม่รุนแรง การดูแลเบื้องต้นทำง่าย ๆ โดยให้ลูกนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาวหรือกินไอศกรีมเย็น ๆ กินอาหารรสอ่อน ๆ อย่างข้าวต้มหรือโจ๊ก กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ หรือแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ และเช็ดตัวร่วมกับให้ยาน้ำลดไข้เด็ก พาราเซตามอล ก็จะทำให้ลูกหายได้เช่นเดียวกับโรคหวัดธรรมดา แต่ถ้าลูกมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ค่ะ
- เจ็บคอมาก กลืนลำบาก กินอาหารได้น้อยหรือกินไม่ได้
- ทอนซิลบวมแดงมาก และมีจุดหนองสีขาว ๆ
- หายใจลำบาก มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นสีเหลืองหรือเขียว ต่อเนื่องกันเกิน 24 ชั่วโมง
- ต่อมน้ำเหลืองรอบคอและใต้ขากรรไกรบวมโต
- ไข้สูงและไข้ไม่ลดภายใน 48 ชั่วโมง หรืออาการต่าง ๆ แย่ลง
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเจอ
กรณีที่มีสาเหตุจากไวรัส ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแพทย์จะให้กินยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง 7-10 วัน หรืออาจให้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรณีเจ็บคอมากจนกินอาหารไม่ได้และมีไข้สูง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งมักเกิดหลังทอนซิลอักเสบ 1-4 สัปดาห์
- หูชั้นกลางอักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ
- สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด group A Streptococcus หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือได้รับยาปฏิชีวนะไม่เพียงพอ ไตอาจอักเสบเฉียบพลัน เป็นไข้รูมาติกหรือเกิดโรคหัวใจรูมาติกตามมาได้
วิธีการรักษา
เมื่อลูกเจ็บคอมากให้พาไปพบแพทย์ เพื่อให้วินิจฉัยอาการ และรักษาอย่างถูกต้อง โดยการรักษาจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
- ขั้นต้น ในกรณีที่เป็นจากเชื้อไวรัส แพทย์จะแนะนำให้พักผ่อนเยอะ ๆ ทานอาหารรสอ่อน กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ ให้ยาแก้ปวด ลดไข้ตามอาการ
- ขั้นกลาง ถ้าอาการรุนแรงขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ อาการป่วยจะดีขึ้นใน 2-3 วัน
- ขั้นรุนแรง ในกรณีที่เป็นบ่อย และรุนแรง มีการอุดกั้นทางเดินหายใจร่วมด้วย และเป็น 3-4 ครั้งภายในหนึ่งปี แพทย์จะพิจารณาผ่าตัด เพื่อรักษาให้หายขาด
วิธีป้องกันทอนซิลอักเสบเบื้องต้น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
- กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- อย่าอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกัน
- หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือ
จริง ๆ แล้ว โรคทอนซิลโตในเด็ก หรือทอนซิลอักเสบ ไม่ใช่โรคหรือการเจ็บป่วยร้ายแรง ถ้าหากครอบครัวคอยสังเกตอาการ และดูแลลูกน้อยถูกวิธีแต่ถ้ามีอาการที่สงสัยว่า อาจจะเป็นเพราะการติดเชื้อที่รุนแรง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษา ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่อาจรุนแรงตามมาที่หลังได้ ทั้งนี้การป้องกันที่ดีที่สุด คือการดูแลลูกให้แข็งแรง พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทานอาหารครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ต่อมทอนซิลจะได้ไม่ต้องทำงานหนัก และส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โคลิค ร้องไม่หยุด ร้องนาน อาการนี้รับมืออย่างไร ?
รู้ทัน “วัณโรค” โรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา
โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา