โรคโปลิโอในเด็ก กลุ่มอาการรุนแรงมากที่สุด ป้องกันอย่างไร ?

หนึ่งในโรคที่พบเจอได้ไม่บ่อย แต่คนไทยได้ยินกันหนาหู คือ “โรคโปลิโอในเด็ก” ที่สามารถติดต่อกันได้ง่าย ถึงแม้จะมีอาการที่ไม่รุนแรงในผู้ป่วย 

 916 views

หนึ่งในโรคที่พบเจอได้ไม่บ่อย แต่คนไทยได้ยินกันหนาหู คือ “โรคโปลิโอในเด็ก” ที่สามารถติดต่อกันได้ง่าย ถึงแม้จะมีอาการที่ไม่รุนแรงในผู้ป่วยส่วนมาก แต่กลุ่มอาการที่รุนแรง เสี่ยงเสียชีวิต ก็ยังมีโอกาสพบเจอได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก และความเสี่ยงจะยิ่งมากขึ้นหากไม่เคยรับวัคซีนพื้นฐานตามกำหนด

โรคโปลิโอ คือโรคอะไร ?

โปลิโอ (Poliomyelitis) เป็นโรคติดต่อที่มีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นกับเด็กที่ร่างกายไม่แข็งแรง โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ที่ถ่ายทอดได้ผ่านอุจจาระ หรือสารคัดหลั่ง โดยเชื้อจะติดต่อเข้าทางปาก ถึงแม้จะเป็นชื่อโรคที่ได้ยินกันบ่อยครั้ง แต่โรคร้ายนี้ไม่ได้ถูกพบเจอได้โดยง่าย ถึงอย่างนั้นสำหรับประเทศไทยก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงจากการมีพื้นที่ติดกับประเทศที่เคยมีการระบาดของโรคนี้ในปี 2558 นั่นคือ ประเทศลาว และประเทศพม่า อีกทั้งยังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้โดยตรง จึงทำได้เพียงป้องกันให้ดีที่สุดเท่านั้น

สาเหตุของ โรคโปลิโอในเด็ก

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ “Poliovirus” ซึ่งถูกระบุว่าจะพบเจอภายในร่างกายของมนุษย์เท่านั้น เชื้อไวรัสตัวนี้สามารถติดต่อจากการสัมผัส หรือรับมาจากอุจจาระ หรือสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก หรือน้ำลาย เป็นต้น ทำให้สามารถติดต่อกันได้หากทานอาหารร่วมกันแบบไม่ถูกสุขอนามัย เช่น กินน้ำแก้วเดียวกัน หรือใช้ช้อนร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ไวรัสตัวนี้ยังสามารถติดต่อได้ หากอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีไวรัสชนิดนี้มากเกินไป

เมื่อได้รับเชื้อไวรัสผ่านทางช่องปาก เชื้อจะลงสู่ลำไส้จนเกิดการแพร่กระจายภายในร่างกาย อาจเข้าสู่กระแสเลือด หรือระบบประสาทได้ โดยผู้ป่วยมที่มีเชื้อจะไม่แสดงอาการใด ๆ เลยจนกว่าจะผ่านไปหลายสัปดาห์ แต่ในช่วงดังกล่าวนี้ผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ โดยที่แม้แต่ผู้ป่วยเองก็ไม่รู้ตัว

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

วิดีโอจาก : หมอปัณฑิตา หมอเด็กภูเก็ต Dr Panthita Phuket Pediatrician

อาการเป็นอย่างไร เด็กเล็กเสี่ยงแค่ไหน ?

โรคโปลิโอในเด็ก อาการของโรคร้ายนี้มีอยู่หลายกลุ่มอาการ มีทั้งแบบไม่แสดงอาการเลยจนหายได้เอง ไปจนถึงกลุ่มอาการที่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  • ไม่แสดงอาการ หรือคล้ายไข้หวัด : เป็นกลุ่มอาการที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มอาการทั้งหมด นั่นคือไม่แสดงอาการเลย แต่ยังสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้ อาจมีอาการมากที่สุด คือ คล้ายไข้หวัดธรรมดาทั่วไป เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้ จนหายได้เองก่อนจะรู้ตัวว่าตนเองติดเชื้อไวรัส
  • อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ : กลุ่มอาการที่พบได้รองลงมาจากกลุ่มไม่แสดงอาการ โดยผู้ป่วยจะมีอาการที่สังเกตได้ เช่น มีไข้, อ่อนเพลีย, เจ็บคอ, อาเจียน, ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อตามร่างกาย และจะมีอาการร่วมกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อย่างไรก็ตามกลุ่มอาการนี้จะยังสามารถหายไปได้เองเช่นกัน
  • อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง : เป็นกลุ่มอาการที่พบเจอได้ยากที่สุด แต่มีความรุนแรงมากที่สุด อาการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อ หรือโดนเชื้อไวรัสโจมตี เช่น ไขสันหลัง (Spinal Polio), ก้านสมองส่วนท้าย (Bulbar Polio) หรือชนิดที่เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ ไขสันหลัง และก้านสมองส่วนท้าย (Bulbospinal Polio)
  • กลุ่มอาการหลังเกิดโรค : เป็นอาการที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหลังหายจากโรคนี้ไปแล้ว 30 – 40 ปี เช่น กล้ามเนื้อ –ข้อต่ออ่อนแรงและเกิดการลีบลง, กล้ามเนื้อแขนขาผิดรูป, มีอาการอ่อนเพลีย ทำกิจกรรมได้น้อยลง, กลืน หรือหายใจลำบาก, ทนอากาศหนาวได้น้อยลง, สมาธิสั้น, ความทรงจำมีปัญหา และภาวะซึมเศร้า เป็นต้น


โดยความเสี่ยงของเด็กเล็กจะพบได้ในกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งจะมีอาการคล้ายกับกลุ่มเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่หลังจากนั้นจะมีอาการที่รุนแรงตามมา เช่น สูญเสียการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ, กล้ามเนื้อแขนขาอ่อน, กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็ง หรือปวดอย่างรุนแรง และภาวะอัมพาตเฉียบพลันทั้งแบบชั่วคราว หรือแบบถาวร เป็นต้น โดยสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงเสียชีวิต คือ ไวรัสโจมตีกล้ามเนื้อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบหายใจ

โรคโปลิโอในเด็ก


ไม่อยากให้ลูกเสี่ยง ควรทำอย่างไร ?

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่าโรคนี้ไม่มียารักษาโดยตรง ถึงแม้ว่ากลุ่มอาการรุนแรงจะพบเจอได้ยากที่สุด แต่ความเสี่ยงของเด็กเล็กต่อกลุ่มอาการรุนแรงก็ยังน่าเป็นห่วง และถึงแม้เด็กจะป่วยเป็นกลุ่มอาการที่เบาที่สุด แต่หลังผ่านไป 30 – 40 ปี อาจมีอาการหลังโรคตามมาได้ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การรับวัคซีนพื้นฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ คือ, วัคซีนบาดทะยัก, วัคซีนคอตีบ, วัคซีนไอกรน และวัคซีนโปลิโอ โดยจะมีรอบการรับวัคซีน คือ แบบหยอดครบ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 1 ปีครึ่ง และอายุ 4 ปี และต้องได้รับวัคซีนแบบฉีด 1 ครั้ง เมื่อเด็กอายุครบ 4 เดือน

นอกจากการรับวัคซีนแล้ว การป้องกันจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากให้ความสำคัญกับสุขอนามัยตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะขณะทานอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มไม่แสดงอาการมักไม่รู้ตัว เด็ก ๆ จึงควรหมั่นล้างมือก่อน – หลังทานอาหาร, ใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงผู้ป่วยที่ติดเชื้อ, ล้างมือก่อน – หลังเข้าห้องน้ำ และการไม่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง เป็นต้น

การรักษาโรคนี้จะรักษาตามอาการ หากไม่รุนแรงจะถือว่าผู้ป่วยโชคดี โดยเฉพาะเด็ก ๆ แต่ความเสี่ยงของอาการหลังโรคที่ตามมา อาจเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นรุนแรงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงขณะติดเชื้อไวรัสด้วย หากไม่ต้องการให้ลูกน้อยมีความเสี่ยงโรคร้ายแบบนี้ การรับวัคซีน และการดู รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัย จะสามารถช่วยปกป้องลูกน้อยได้เป็นอย่างดี

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โรคอีสุกอีใส เกิดจากอะไร อาการแบบไหนที่แสดงว่าลูกเป็นอีสุกอีใส ?

โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายของลูกตัวน้อยโอกาสเป็นซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง

โรคภูมิแพ้ในเด็ก เกิดได้หลายปัจจัย ลูกน้อยเสี่ยงแค่ไหน ?

ที่มา : 1, 2, 3, 4