ต้องบอกก่อนเลยว่า การที่ ทารกผิวลอก โดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจ เพราะการดูแลเบื้องต้นอย่างเพียงพอ ก็สามารถทำให้หายได้ ในเวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ผิวลอกนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เพราะเมื่อหากเป็นอาการผิดปกติ เช่น โรคสะเก็ดเงิน, กลาก, เกลื้อน, ผิวหนังเกล็ดปลา ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกวิธี อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ได้
วันนี้ Mamastory จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปดูสาเหตุ ที่ทารกอาจผิวลอกได้ พร้อมกับภาวะที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ที่พ่อแม่อาจจะไม่เคยรู้ สำหรับทารกแรกเกิดค่ะ หากพร้อมแล้ว ค่อย ๆ ดูไปพร้อมกันได้เลยค่ะ !
ทำไมทารกถึง ผิวหนังลอก
การที่คลอดครบกำหนด ปกติผิวหนัง 1-2 วันแรกยังไม่ลอก หลังวันที่ 2 เริ่มปรากฏให้เห็น มักพบการลอกที่มือและเท้า และจะหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังคลอด ไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตผิวลูกน้อย และอาการร่วมอื่น ๆ เช่น มีไข้ ร้องไห้งอแงไม่มีสาเหตุ หากผิดปกติจะได้รับมือ และหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที
สาเหตุที่ทารกผิวลอก
- สภาพอากาศแห้ง
- อุณหภูมิที่เย็นจัด
- การให้ทารกแช่ตัวในน้ำอุ่นนานเกินไป
- โรคผิวหนังอักเสบ
- โรคผิวหนังเกล็ดปลาแบบสามัญ
- อาการแพ้
- โรคในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคคาวาซากิ โรคสะเก็ดเงิน
- การติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือรูขุมขน
- ผิวไหม้แดด
- โรคผิวหนัง เช่น กลาก
- การแพ้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหนัง หรือทำความสะอาดผิวหนัง
ทารกผิวลอก เป็นอันตรายหรือไม่
โดยทั่วไปแล้ว ทารกผิวลอกไม่ถือว่าอันตรายร้ายแรงเท่าใดนัก การบรรเทาอาการหรือป้องกันเบื้องต้น ก็สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ภายในไม่กี่วัน แต่หากเกิดจากโรคผิวหนัง อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเฉพาะทาง กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และใช้ระยะเวลาสักพักกว่าที่สุขภาพผิวหนังจะดีขึ้น
วิธีปฏิบัติเบื้องต้น เมื่อทารกผิวลอก
- งดอาบน้ำนาน : เพราะการให้ทารกอาบน้ำนาน ๆ จะทำให้สูญเสียน้ำมันธรรมชาติในชั้นผิวหนัง และไม่ควรให้ทารกแช่ในน้ำอุ่นนานจนเกินไปด้วย เสี่ยงที่จะทำให้ผิวแห้ง ผิวลอกได้เช่นกัน
- ทามอยส์เจอไรเซอร์ : เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังของทารก และช่วยลดอาการผิวลอก
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ : การดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น ลดปัญหาผิวลอกได้
- หลีกเลี่ยงสภาพอากาศแห้งและเย็นจนเกินไป : ควรให้ทารกได้อยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเท ไม่ร้อน แต่ก็ต้องไม่เย็นหรือแห้งจนเกินไป เพราะเสี่ยงที่จะทำให้ผิวแห้ง และผิวลอกตามมาได้
- หลีกเลี่ยงสารเคมีอันตราย : เวลาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับทารก ควรเลือกสินค้าที่มีสรรพคุณอ่อนโยน บอบบาง และไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองผิว
- เพิ่มความชื้นภายในบ้าน : โดยอาจใช้เครื่องเพิ่มความชื้น เพื่อทำให้ภายในบ้าน หรือที่อยู่อาศัยไม่แห้งจนทำให้ผิวหนังแห้ง
เมื่อใดควรไปพบคุณหมอ
ทารกผิวลอกโดยเฉพาะเด็กเล็ก และเด็กแรกเกิด มักพบได้โดยทั่วไป และอาการมักดีขึ้นตามลำดับ เมื่อได้รับการดูแลรักษาตามปกติ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอ
- ผิวหนังมีผื่นแดง หรือเป็นรอยจ้ำสีแดง
- ผิวแตก
- มีอาการคัน
- มีอาการบวม
- มีไข้
- ผิวแห้ง ผิวลอก เป็นระยะเวลานาน และไม่ดีขึ้น
เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับทารกแรกเกิด
เพราะทารกในช่วงแรกเกิดนั้น เป็นวัยที่มีภาวะต่าง ๆ เกิดขึ้นแบบนับไม่ถ้วน ซึ่งภาวะเหล่านั้น อาจจะทำให้พ่อแม่มือใหม่ เกิดความวิตกกังวลขึ้นได้ และข้างล่างนี้คือภาวะปกติ หรือ “ภาวะที่ไม่จำเป็นต้องรักษา” เพราะสามารถหายไปได้เอง !
บทความที่เกี่ยวข้อง : ภาวะตัวเหลืองในทารก คืออะไร สังเกตอย่างไรจึงรักษาได้ทัน
1. ผิวหนังลอก
ในช่วง 1-2 วันแรก สำหรับทารกที่คลอดครบกำหนดปกติ ผิวหนังจะยังไม่ลอกออก ก่อนจะพบว่าผิวลอกในช่วงวันถัดไป และมักพบที่มือและเท้า ก่อนที่จะหลุดหายไปเองในช่วง 2-3 สัปดาห์ต่อมา
2. ตัวเหลือง
นับเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด ในช่วง 2-4 วันหลังคลอด ทารกจะมีสีผิวเหลือง เนื่องจากการทำงานของตับ ยังไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก การขับถ่ายสารเหลืองในร่างกาย ยังทำได้ไม่เต็มที่ จึงเกิดการคั่งในกระแสเลือด วิธีป้องกันก็คือให้ทารกอยู่กับแม่ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้ดูดนมแม่บ่อย ๆ เพราะนมแม่จะช่วยกระตุ้นการขับถ่าย แต่ถ้าหากพบว่าเหลืองมากกว่าปกติ และไม่หายในภายหลัง ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
3. การแหวะนม
หลังการดูดนมของทารก การแหวะนมบ่อย ๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่ต้องกังวล เพราะหูรูดกระเพาะของทารกยังทำงานได้ไม่ดี ทำให้ทารกมีอาการแหวะนมเล็กน้อย ซึ่งอาจจะออกมาทั้งทางจมูกและปาก ส่วนน้ำนมที่ออกมา อาจมีลักษณะเป็นลิ่ม คล้ายกับเต้าหู้ เนื่องจากน้ำนมถูกน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งเป็นขั้นตอนการย่อย
หากพ่อแม่เป็นกังวลเรื่องทารกแหวะนม สามารถป้องกันได้ด้วย การจับทารกเรอ หรือ การไล่ลม ร่วมกันการจัดให้ทารกนอนศีรษะสูง และตะแคงขวาหลังดูดนมประมาณครึ่งชั่วโมง ท่านอนนี้จะช่วยหูรูดของกระเพาะอาหารจะอยู่สูง ทำให้นมไหลออกมาได้น้อย ดูวิธีการจับทารกเรอ
- นำทารกนั่งตักหลังตรง นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้รองใต้คางลูกส่วน 3 นิ้ว ที่เหลือไว้บริเวณใต้รักแร้ ลูบหลังหรือตบหลังเบา ๆ ลูกจะเรอออกมาเอง
- อุ้มลูกพาดบ่าในท่านอนคว่ำ ให้คางลูกเกยบนไหล่คุณแม่พอดี ลูกจะเรอออกมาเองหรือ คุณแม่ตบหลังลูกเบา ๆ ลูกจะเรอเช่นกัน
4. การจาม
เป็นภาวะปกติที่พบได้ในทารกแรกเกิดทุกคน จะจามมากหรือน้อยก็ได้ ทั้งที่ไม่ได้เป็นหวัด ส่วนมากเกิดจากการมีฝุ่นละออง หรือน้ำเมือกในจมูกแห้ง ทำให้เกิดการระคายเคือง ทารกจะคันจมูกและจาม หรือบางครั้งอาจเกิดจากการใช้แป้งฝุ่นมากเกินไป
5. การสะดุ้งหรือผวา
เวลามีเสียงหรือเวลาสัมผัสทารก การสะดุ้งหรือผวาเป็นสิ่งที่พบในทารก เพราะแสดงถึงระบบประสาทได้ดี เป็นการทดสอบง่าย ๆ ว่าทารกได้ยินเสียง ทารกตอบสนองโดยการยกแขนหรือขา แบมือ และกางแขนออกแล้วโอบเข้าหากัน การตอบสนองแบบนี้พบเมื่อทารกหลับสนิท การผวาพบได้จนถึงอายุ 6 เดือน
6. การสะอึก
ภายหลังดูดนมทารกอาจจะมีอาการสะอึก เป็นเรื่องปกติที่สามารถพบได้ เนื่องจากว่าการทำงานของกะบังลม ยังไม่ปกติ และส่วนยอดของกระเพาะอาหารที่ขยายตัวจากน้ำนม และลมที่กลืนลงสู่กระเพาะสัมผัสกะบังลม หากทำการไล่ลมสักครู่อาการสะอึกจะหายเอง
อย่างที่บอกในตอนต้นค่ะ ว่าการที่ทารกผิวลอก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน แต่ถ้าหากยังไม่หายไป การพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาโรค นับเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์มากที่สุด แต่ถ้าหากรอยผิวลอกหายไป และกลายเป็นสีผิวหนังปกติ ไม่ต้องกังวลค่ะ ลูกของเราไม่เป็นอะไรแน่นอน !
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาการชักในเด็ก จากอาการไข้ รับมืออย่างไรให้ลูกปลอดภัย
โรคทอนซิลโตในเด็ก ปัญหาที่ห้ามละเลย หากไม่อยากให้ลูกเจ็บหนักกว่าเคย !