ยินดีต้อนรับคุณแม่ทุกท่านเข้าสู่บทความนะคะ เดินทางผ่านมา 2 เดือนแล้ว ก็เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างชัดเจนสำหรับคุณแม่กันเลย ทั้งอาการต่าง ๆที่เกิดกับร่างกายคุณแม่ และพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์จะเป็นอย่างไร คุณแม่จะต้องเตรียมตัวรับมือและดูแลการเจริญเติบโตของลูกน้อยอย่างไร เรามาดูบทความนี้ไปพร้อมกันเลย
ท้อง 8 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน
ระยะครรภ์ 8 สัปดาห์ถือว่ายังไม่ค่อยมีเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของตัวคุณแม่มากนัก ซึ่งคุณแม่อาจจะยังมีรูปร่างเท่าเดิมเป็นปกติ ขนาดท้องยังไม่ใหญ่ เพราะลูกน้อยยังคงมีขนาดที่เล็กมาก และหากคุณแม่กำลังสงสัยว่าถ้าหากตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ จะเท่ากับกี่เดือน ก็ขอบอกตรงนี้เลยว่า ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์เท่ากับ 2 เดือน นั่นเองค่ะ
ทารกในครรภ์อายุ 8 สัปดาห์ เป็นอย่างไรบ้าง
ในระยะการตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์นั้น มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงกับทารกที่ถือว่าชัดเจนเลยทีเดียว ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่ได้พัฒนาจากตัวอ่อน เป็นทารกตัวเล็ก ๆ เท่าเมล็ดถั่วแดงที่มีขนาดความประมาณ 1.6 เซนติเมตร และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอื่น ๆ ตามมา
ทารกเริ่มมีใบหน้าชัดเจน
ช่วงระยะ 8 สัปดาห์นี้ใบหน้าของลูกน้อยจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เริ่มเห็นปลายจมูกที่ชัดเจน รวมทั้งริมฝีปาก ใบหู และเริ่มที่จะสร้างเปลือกตา แต่ดวงตาจะยังคงอยู่คนละข้างของใบหน้า ต้องอดใจสักพัก และเดี๋ยวดวงตาลูกน้อยจะค่อยๆขยับมาอยู่ในตำแหน่งปกตินั่นเอง
รูปร่างทารก
ทารกจะมีรูปร่างที่กลม ขนาดตัวเท่าเมล็ดถั่วแดง ลักษณะตัวเล็กหัวโต มีความยาวประมาณ 1.6 เซนติเมตร มีหางคล้ายกับลูกอ๊อด ในส่วนของหางนั้นก็จะเริ่มสั้นลงไปจนเกือบหาย และมีตุ่มเล็ก ๆ ที่งอกมาเป็นแขนขา มีปลายนิ้วมือนิ้วเท้าน้อย ๆ ให้เห็น และอีกไม่นานก็จะเพิ่มความยาวขึ้นทั้งลำตัวและแขนขา
ทารกเริ่มมีลิ้นหัวใจ
ในช่วงนี้ทารกเริ่มมีการสร้างอวัยวะภายในที่สำคัญแล้ว มีลิ้นหัวใจ และมีท่อทางเดินหายใจ เซลล์ระบบประสาทในสมองมีการพัฒนา และกระดูกมีความแข็งแรงมากขึ้น
การขยับตัวของทารก
ในช่วงนี้ ทารกน้อยนั้นเริ่มที่จะสามารถขยับตัวได้แล้ว โดยจะเป็นการลอยอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำของคุณแม่ ลักษณะของทารกนั้นจะขดตัวคล้ายกุ้ง และสามารถงอแขนงอขาช่วงข้อพับได้ และด้วยขนาดตัวที่ยังเล็กมากอยู่นั้น คุณแม่จะยังไม่สามารถรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ได้นั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงของ ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ มีอะไรบ้าง
เข้าสู่การตั้งครรภ์ในเดือนที่ 2 ในทางของกายภาพจะยังคงดูเป็นปกติ เพราะขนาดท้องยังไม่ใหญ่มาก จนอาจทำให้ดูไม่ออกว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ แต่ถ้าหากสังเกตดูดี ๆ จะมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ดูมีน้ำมีนวลมากขึ้น หรือมีขนาดหน้าอกที่ขยายใหญ่ขึ้น และจะมีอาการทางร่างกายที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน เช่น อาการแพ้ท้อง และอีกมากมาย
มีน้ำมีนวล
ขึ้นชื่อว่าท้องแล้ว คุณแม่หลายท่านคงจะต้องประสบกับการที่รูปร่างดูเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวลมากขึ้นกว่าปกติ หรือเรียกได้ว่า อาการตัวบวมนั่นเอง เกิดจากการที่เส้นเลือดดูดซึมอาหารไปสู่ร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยมากขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่จะดูมีน้ำมีนวล และจะมีอาการตัวบวมไปจนกว่าจะคลอด อย่างไรก็ตาม อาการตัวบวมนี้ จะบวมมากบวมน้อย ก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณแม่แต่ละท่านนั่นเอง
เต้านมใหญ่ขึ้น
อีกหนึ่งอาการที่จะเกิดกับการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ ก็คือขนาดหน้าอกหน้าใจที่ใหญ่ขึ้น มีอาการคัดตึงเต้านม เนื่องจากมีไขมันสะสมเพิ่มขึ้น ร่างกายมีเลือดมาเลี้ยงในปริมาณมาก ในบางรายอาจมากจนคั่งเห็นเป็นเส้นเลือดใต้ผิวหนังอย่างชัดเจน ภาวะที่เกิดขึ้นนั้นเพื่อรองรับการผลิตน้ำนมให้ทารกน้อยที่จะเกิดมานั่นเอง
แพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องจะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนในช่วงการตั้งครรภ์ 2 เดือน โดยจะมีอาการแพ้ท้อง ได้ทั้งในช่วงเช้าตอนตื่นนอน คุณแม่จะมีอาการมึน วิงเวียนศีรษะ พะอืดพะอม ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน Human Chorionic Gonadotropin (HCG) เพิ่มสูงขึ้น และจะมีเพียงเฉพาะช่วงที่ตั้งครรภ์เท่านั้น และอาจเกิดอาการนี้ได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะในช่วงที่ท้องว่าง อาจมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ จะเป็นลม เนื่องจากน้ำตาลในเลือดต่ำ และมีอาการเหม็น ไวต่อกลิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นอาหาร กลิ่นน้ำหอม หรือกลิ่นตัวก็ตาม ซึ่งหากได้กลิ่นก็จะเกิดอาการคลื่นไส้ได้
เบื่ออาหาร หรืออยากทานอาหารแปลกๆ
เกิดอาการเบื่ออาหารปกติที่ทานในชีวิตประจำวัน เนื่องด้วยปริมาณฮอร์โมนที่สูงขึ้น ส่งผลให้การรับรู้รสชาติอาหารผิดเพี้ยนไป ทำให้คุณแม่ทานอะไรก็ไม่อร่อย แม้ว่าจะเป็นอาหารที่ชอบมาก่อนก็ตาม และเกิดอาการอยากกินอาหารแปลก ๆ หรือ ของแสลง หรือบางเมนูที่ไม่ค่อยได้ทานบ่อยได้ อย่างไรก็ตามหากคุณแม่มีสภาวะที่เบื่ออาหารมากจนไม่สามารถบริโภคได้ตามโภชนาการที่เหมาะสม จนส่งผลให้น้ำหนักลด ซูบผอม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพราะหากคุณแม่ไม่สามารถทานอาหารให้เหมาะสม อาจส่งผลให้ลูกน้อยในครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต จนทำให้ลูกน้อยเกิดอาการผิดปกติได้ อยากให้คุณแม่อดทนและผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้นะคะ
อารมณ์แปรปรวนง่าย
เป็นอาการที่คุณแม่หลายท่านอาจต้องพบในช่วงตั้งครรภ์ 2 เดือนนี้ ซึ่งคุณแม่จะมีอาการหงุดหงิดง่าย ขึ้นๆ ลงๆ ซึมเศร้า คุ้มดีคุ้มร้าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จะรุนแรงมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับคุณแม่แต่ละท่าน ซึ่งอาการเหล่านี้อาจคล้ายคลึงกับช่วงเป็นประจำเดือนทั่วไป เกิดจากสาเหตุที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เพิ่มสูงขึ้น และความเครียดที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์นั่นเอง เป็นอาการปกติที่จะเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกท่าน อย่างไรก็ตาม อยากให้คนข้าง ๆ หรือคนในครอบครัว เข้าใจในสภาวะที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ รับมือกับสถานการณ์ที่แปรปรวน และจับมือให้กำลังใจไปด้วยกัน
ตกขาว
ในช่วงนี้คุณแม่อาจมีอาการตกขาวมากกว่าปกติร่วมด้วย เนื่องด้วยสาเหตุจากฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน และมีเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอด อีกทั้งอาจจะมีอาการอวัยวะเพศมีสีที่คล้ำขึ้น อาการเหล่านี้คุณแม่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ เพราะสามารถเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ได้นั่นเอง
เคล็ดลับสำหรับการดูแลของคุณแม่ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์
เมื่อเดินทางมาถึงช่วงตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ หรือ 2 เดือนแล้วนั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่เกิดการพัฒนาการของลูกน้อยค่อนข้างชัดเจน และเกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของคุณแม่ ฉะนั้นจึงต้องมีการดูแลและบำรุงร่างกายคุณแม่ในช่วงนี้เป็นพิเศษ เพื่อให้พัฒนาการและร่างกายของลูกน้อยสมบูรณ์และแข็งแรง รวมทั้งดูแลร่างกายและบรรเทาอาการของคุณแม่ควบคู่ไปด้วย โดยเคล็ดลับสำหรับดูแลของคุณแม่ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
อาหารการกิน
เรื่องอาหารการกินในช่วงตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์นี้เป็นสิ่งที่ต้องโฟกัสเป็นพิเศษกันหน่อย เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่เหมาะสม ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ รวมถึงบำรุงร่างกายคุณแม่ให้แข็งแรงพร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ และป้องกันความเสี่ยงในอนาคต โดยสารอาหารที่คุณควรเลือกบริโภคมีดังนี้
แคลเซียม
แคลเซียมถือเป็นสารอาหารที่จำเป็นและสำคัญมาก ๆ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์เลยทีเดียว โดยแคลเซียมนั้นช่วยในการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย และที่สำคัญคือช่วยเสริมสร้างกระดูกให้กับลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งช่วงตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์นี้ เป็นระยะเวลาที่กำลังสร้างกระดูกของทารกนั่นเอง ดังนั้นคุณแม่จึงควรบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เช่น นม เต้าหู้ โยเกิร์ต ธัญพืชต่าง ๆ ผักใบเขียว และอื่น ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการ และถ้าหากละเลยต่อการทานอาหารที่มีแคลเซียมแล้วนั้น อาจทำให้ร่างกายต้องดึงแคลเซียมสำรองมาส่งต่อเพื่อสร้างกระดูกให้ลูกน้อยแทน ส่งผลให้คุณแม่อาจเกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคตได้นั่นเอง แคลเซียมจึงเป็นสารอาหารสำคัญที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม
โปรตีน
เป็นสารอาหารที่สำคัญอีกอย่างที่คุณแม่ควรจะบริโภคในทุกวัน โดยโปรตีนจะช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายลูกน้อยในครรภ์ และช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและสมอง คุณแม่จึงควรบริโภคอาหารที่ให้โปรตีนต่อร่างกาย เช่น เนื้อสัตว์ทุกชนิด เนื้อ นม ไข่ ถั่วเหลือง เต้าหู้ เป็นต้น และควรระวังการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่ง สารปรอท และควรผ่านการปรุงให้สุกสะอาดก่อนรับประทาน
คาร์โบไฮเดรต
แน่นอนว่าคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่จำเป็นและควรบริโภคในทุกวันและทุกมื้ออาหาร เพราะคาร์โบไฮเดรตจะให้พลังงานต่อร่างกาย ซึ่งจำเป็นมาก ๆ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะช่วงนี้คุณแม่จะสูญเสียพลังงาน มีอาการเหนื่อยล้าง่ายเป็นพิเศษ จึงต้องเติมพลังให้ร่างกายด้วยคาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้ คาร์โบไฮเดรตยังช่วยในเรื่องของระบบสมองของลูกน้อยอีกด้วย โดยอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต คือ ข้าว ขนมปัง ธัญพืช หรืออาหารที่เป็นแป้ง
ธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กมีส่วนช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือด บำรุงเลือด ช่วยในการไหลเวียนของเลือดที่ดี และยังช่วยในการพัฒนาสมองของลูกน้อยได้อีกด้วย หากร่างกายขาดธาตุเหล็ก ลูกน้อยได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ลูกน้อยมีปัญหาในการพัฒนาสมองได้ และธาตุเหล็กก็ยังมีประโยชน์สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงนี้มาก ๆ เพราะจะช่วยให้ร่างกายคุณแม่แข็งแรงพร้อมช่วยในเรื่องของอาการแพ้ท้องของคุณแม่อีกด้วย โดยคุณแม่เลือกบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่ งา ไข่แดง ตับ เนื้อแดง ผลไม้ ผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
ไขมันดี
การเลือกบริโภคไขมันดีจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาร่างกายของลูกน้อย เช่น เนื้อเยื่อต่าง ๆ สมอง ดวงตา และ รก อยากให้คุณเลือกบริโภคไขมันดี เช่น เนย นม ครีม ไข่ โดยจัดสัดส่วนของอาหารในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้การเจริญเติบโตของลูกน้อยเป็นไปอย่างราบรื่น
ไฟเบอร์
ช่วงนี้คุณแม่ต้องระวังการเกิดอาการท้องผูก โดยการบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร ป้องกันการท้องผูก ขับถ่ายสะดวก โดยไฟเบอร์จะพบได้ใน ผัก ผลไม้ เช่นส้ม มะละกอ แครอท เป็นต้น
อาหารที่ควรระวัง
ในช่วงการตั้งครรภ์นี้ ถือเป็นช่วงที่ต้องระวังในเรื่องของอาหารการกิน เพราะจะส่งผลกับลูกน้อยโดยตรง ซึ่งอาหารบางชนิดอาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกน้อยได้ โดยอาหารที่ควรระวังในช่วงนี้คือ ของดิบ นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ แอลกอฮอล์ และอาหารเสริมบางชนิด
อย่างไรก็ตามหากคุณแม่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาหารการกิน ไม่ว่าจะเป็นอาหารปกติทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือการทานวิตามิน สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงได้เลย ซึ่งแพทย์อาจแนะนำวิตามินให้คุณแม่ทานเพิ่มเติมได้ เช่น กรดโฟลิก สังกะสี โอเมก้า 3 วิตามิน ซี ดี อี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอาการและความเหมาะสมของคุณแม่แต่ละท่านไปนั่นเอง
หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก
การตั้งครรภ์ในระยะเวลา 8 สัปดาห์ยังเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ลักษณะทางกายภาพยังไม่เปลี่ยนแปลงมาก สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ทั่วไป และทำงานได้ปกติเลยค่ะ เพียงแค่ลด และระวังในเรื่องของการหักโหมงานหนัก และลดการใช้แรง รวมทั้งเพิ่มเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ
การสวมใส่เสื้อผ้า
ช่วงนี้อยากให้คุณแม่สวมใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ หรือหลวมกว่าไซซ์ปกติ เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย บรรเทาความอึดอัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ชุดชั้นในที่สวมใส่สบาย ยืดหยุ่น อาจเลือกใส่เป็นชุดชั้นในผ้า หรือฟองน้ำบาง ๆ ไร้โครงเหล็ก หรือสปอร์ตบราแบบสวมง่ายๆ เพื่อรองรับการขยายใหญ่ของเต้านมในช่วงเวลานี้ ซึ่งในช่วงนี้คุณแม่ยังไม่จำเป็นต้องใส่ชุดชั้นในคนท้องนะคะ ไว้ถึงช่วงเวลาที่ร่างกายผลิตน้ำนมออกมาให้ลูกน้อยได้แล้ว ค่อยสวมใส่ชุดชั้นในสำหรับคนท้องก็ได้หรือหากคุณแม่เลือกไม่ถูก ลองปรึกษาพนักงานขายแผนกชุดชั้นใน เพื่อหาชุดชั้นในที่เหมาะสมกับคุณแม่ได้เลยค่ะ
และนี่ก็คือข้อมูลความรู้ ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 1 ที่อยากได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับลูกน้อยในครรภ์ช่วงสัปดาห์นี้ ว่าลูกน้อยเป็นอย่างไรบ้าง เติบโตขึ้นมาขนาดไหนแล้ว และอาการต่าง ๆ ที่คุณแม่ต้องเจอ ต้องปรับตัว และรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ และการดูแลตัวเองที่เหมาะสม รวมทั้งคนข้าง ๆ หรือคนในครอบครัวของคุณแม่ช่วยดูแลกัน ทั้งร่างกาย และจิตใจของคุณแม่ควบคู่ไปด้วย หากคุณแม่มีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลความรู้เรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติม สามารถติดตามบทความที่มีประโยชน์เกี่ยวกับคุณแม่และลูกน้อยได้ในเว็บไซต์ของเรานะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1
ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1