รู้ทัน “วัณโรค” โรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

วัณโรค ถือเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่พรากชีวิตคนทั่วโลกนับหลายล้านคน แม้ว่าในประเทศไทยวัณโรคจะยังเป็นไม่ค่อยแพร่ระบาดมากนัก แต่องค์การอนามัยโ 

 1158 views

วัณโรค ถือเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่พรากชีวิตคนทั่วโลกนับหลายล้านคน แม้ว่าในประเทศไทยวัณโรคจะยังเป็นไม่ค่อยแพร่ระบาดมากนัก แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังจัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศ ที่เผชิญกับปัญหาโรคระบาดนี้มานานหลายสิบปีเช่นกัน วัณโรคถือเป็นโรคร้ายที่สามารถติดต่อกันง่าย ๆ ผ่านทางอากาศ วันนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัณโรคมาฝาก เพื่อให้คุณแม่ได้เข้าใจโรคนี้มากขึ้นค่ะ

วัณโรคคืออะไร?

วัณโรค คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อจะแพร่กระจายอยู่ในละอองฝอยในอากาศ เมื่อผู้ป่วยวัณโรคไอหรือจามออกมา จะทำให้เชื้อเหล่านี้ลอยอยู่บนอากาศนั่นเอง โดยผู้ที่สูดอากาศจะทำให้เชื้อวัณโรคเข้าไปเกาะตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณปอด ซึ่งเป็นส่วนที่พบเชื้อวัณโรคมากที่สุด เพราะผู้ป่วยมักหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง โดยวัณโรคสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้ดังนี้

1. วัณโรคปอด (Pulmonary TB) : เป็นวัณโรคที่มีการติดเชื้อ Mycobacterium Tuberculosis ในบริเวณปอด

2. วัณโรคนอกปอด (Extrapulmonary TB) : เป็นวัณโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนอื่น เช่น หลังโพรงจมูก ผิวหนัง ในช่องท้อง ลำไส้ กระดูก เยื่อหุ้มหัวใจ ไต หรืออัณฑะ เป็นต้น

วัณโรค

วัณโรค เกิดจากอะไร?

วัณโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Tuberculosis ซึ่งแพร่กระจายในอากาศ โดยผู้ป่วยจะได้รับการติดต่อผ่านทางการไอ การจาม การหายใจ และการพูด ซึ่งวัณโรคจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากผู้ป่วยอาศัยอยู่กับผู้ที่เป็นวัณโรคอย่างใกล้ชิด หรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีผู้เป็นวัณโรคจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรืออยู่ในระหว่างการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน อาจมีความเสี่ยงในการติดวัณโรคมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจากการติดยา หรือติดสุรายังมีโอกาสติดวัณโรคได้ง่ายเช่นกัน

ขณะที่เด็ก และผู้สูงอายุ จะมีปัจจัยเสี่ยงในการติดวัณโรคได้ง่ายกว่าวัยผู้ใหญ่ เพราะมีสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอกว่า ส่วนผู้ที่มีสุขภาพแรงก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้กว่าเช่นกัน เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความแข็งแรง สามารถกำจัดเชื้อเองตามธรรมชาติได้ หรือถ้าหากเคยได้รับเชื้อมาก่อนแล้ว เชื้อก็ไม่แสดงอาการใด ๆ ได้เช่นกัน

ผู้ที่เสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรค

  • ผู้ป่วยโรคไต
  • ผู้ป่วยโรคซิลิโคซิส
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
  • ผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
  • ผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งศีรษะ และลำคอ
  • ผู้ติดยาเสพติด และผู้ติดเชื้อ HIV
  • ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคสูง
  • ผู้ที่กำลังรับประทานยาบางตัว เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์

วัณโรค อาการเป็นอย่างไร?

อาการของวัณโรค สามารถแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแฝง และระยะแสดงอาการ โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้ว เชื้อจะมีการพัฒนาไปอย่างช้า ๆ โดยอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนในการแสดงอาการให้เห็น

  • ระยะแฝง (Latent TB) : ผู้ป่วยในระยะนี้ จะไม่มีการแสดงอาการใด ๆ เพราะเชื้ออาจจะยังไม่ได้รับการกระตุ้น แต่แบคทีเรียยังคงอยู่ในร่างกาย และสามารถก่อให้เกิดอาการจนเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยตรวจพบเจอเชื้อในระยะนี้ จะสามารถเข้ารับการรักษา เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ และลดความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้
  • ระยะแสดงอาการ (Active TB) : ในระยะนี้เชื้อจะได้รับการกระตุ้น จนเกิดอาการต่าง ๆ ปรากฏออกมา เช่น อาการไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด รู้สึกเจ็บเวลาหายใจ มีไข้ อ่อนเพลีย หนาวสั่น เหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลดลง และไม่อยากอาหาร

ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรค

ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรคทำให้มีผู้ป่วย มีอาการเจ็บป่วยมากขึ้น โดยภาวะเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยวัณโรคที่รับการรักษาล่าช้า หรือรักษาไม่ต่อเนื่อง โดยภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้บ่อย มีดังนี้

  • ฝีในปอด มีน้ำในช่องหุ้มปอด
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ และส่งผลต่อสุขภาพจิต
  • ตับ และไตมีปัญหา ทำให้เกิดปัญหาในการขับของเสียจากเลือดออกจากร่างกาย
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคในข้อ อาจส่งผลให้กระดูกอักเสบ โดยเฉพาะในบริเวณเข่า และสะโพก
  • เนื้อเยื่อรอบหัวใจอักเสบ ทำให้มีของเหลวในถุงเยื่อหุ้มหัวใจ และส่งผลต่อการเกิดภาวะบีบรัดหัวใจได้

วัณโรคปอดติดต่อง่ายไหม?

วัณโรคปอดสามารถติดต่อได้อย่างง่ายดาย โดยการหายใจรับอากาศที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไป ผ่านทางจมูกหรือปาก โดยเชื้อจะเข้าสู่ปอด และแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคนั่นเอง ทั้งนี้วัณโรค เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา และกลับมาเป็นซ้ำอีก

วัณโรค

วิธีการรักษาวัณโรค

การรักษาวัณโรค สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง โดยยาที่นิยมใช้ ได้แก่ ไรแฟมพิซิน อีแทมบูทอล ไอโซไนอาซิด และไพราซินาไมด์ แต่หากผู้ป่วยมีอาการดื้อยา อาจจำเป็นต้องใช้ยาตัวอื่นในการรักษาร่วมด้วย เช่น ยาลีโวฟลอกซาซิน หรือสเตรปโตมัยซิน ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ได้รับยา อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง และอาจเกิดพิษในตับได้ ผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า และลำคอ ผิวซีดเหลือง หรือมีความอยากอาหารน้อยลง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

วิธีการป้องกันวัณโรค

ในการป้องกันวัณโรค คุณแม่ควรป้องกันตัวเองไม่ให้อยู่ในความเสี่ยง โดยการปฏิบัติดังนี้

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง และออกกำลังกายเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยวัณโรค และสถานที่ที่แออัด
  • สวมหน้ากากอนามัย และปิดปากทุกครั้งในเวลาไอ และจาม
  • สำหรับเด็ก ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน BCG เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันวัณโรค

วัณโรค เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากคุณแม่พบว่าตัวเอง หรือครอบครัวมีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอกในเวลาหายใจ หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป ทั้งนี้การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรค และการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่แออัดทุกครั้ง ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคได้ค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายของลูกตัวน้อยโอกาสเป็นซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง

โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ที่มา : 1, 2