7 สัญญาณเตือนก่อนคลอด มีอาการอะไรบ้างที่คุณแม่ห้ามพลาด

คุณแม่มือใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ในการตั้งครรภ์มาก่อน ช่วงไตรมาสสุดท้าย อาจมีความสงสัย ถึงสัญญาณเตือนก่อนคลอด เพื่อสามารถเตรียมตัวได้ทัน แ 

 1978 views

คุณแม่มือใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ในการตั้งครรภ์มาก่อน ช่วงไตรมาสสุดท้าย อาจมีความสงสัย ถึงสัญญาณเตือนก่อนคลอด เพื่อสามารถเตรียมตัวได้ทัน แต่เพื่อความสบายใจตลอดการตั้งครรภ์ การเข้ารับฝากครรภ์กับโรงพยาบาลใกล้ที่พักอาศัย เป็นตัวเลือกที่ครอบคลุมที่สุดในการดูแลครรภ์ทุกไตรมาส

7 สัญญาณเตือนก่อนคลอด มีอะไรบ้าง

อาการก่อนคลอด เป็นอาการสำคัญที่คุณแม่ท้อง หรือคนรอบตัวต้องช่วยกันสังเกต เพื่อให้สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทันก่อนคลอด โดยมีอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 วิธีแก้คลื่นไส้อาเจียน ปัญหาน่าปวดหัวของคุณแม่ตั้งครรภ์

วิดีโอจาก : theAsianparent

1.อาการเจ็บท้อง

อาการเจ็บท้องเป็นสัญญาณสำคัญของการตั้งครรภ์ ช่วงแรกอาจคลายการเจ็บเหมือนเป็นประจำเดือน แต่จะถี่ขึ้น และเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ หากคุณแม่ท้องมีอาการแบบนี้เรียกว่า “เจ็บท้องจริง” ไม่ควรรอสังเกตอาการ ให้รีบเข้าพบแพทย์ทันทีจะปลอดภัยต่อคุณแม่ และลูกในครรภ์ที่สุด นอกจากนี้ยังมีอาการ “เจ็บท้องเตือน” จากการขยายตัวของมดลูก และเคลื่อนตัวลงต่ำ แต่จะไม่มีจังหวะปวดแน่นอน ท้องจะแข็ง การปวดท้องเตือนจะพบได้ในคุณแม่ท้อง 8 เดือน

2.ถุงน้ำคร่ำแตก

หลายคนอาจรู้จักกับคำว่า “น้ำเดิน” เป็นการบีบตัวเล็กลงของมดลูก เพื่อปรับตัวให้ศีรษะของเด็กเคลื่อนมาที่บริเวณเชิงกรานของคุณแม่ น้ำที่ไหลออกมาจะมีลักษณะใส ไร้กลิ่น สามารถไหลออกมารวดเดียวปริมาณมาก หรือค่อย ๆ ไหลก็ได้ ส่วนมากหากมีอาการนี้ คุณแม่อาจคลอดภายใน 12 ชั่วโมง แต่ไม่ต้องรอให้ครบเวลา หากมีอาการถุงน้ำคร่ำแตกให้รีบพบแพทย์เพื่อเตรียมตัวได้ทันที

3.มีเมือก หรือเลือดไหลบริเวณช่องคลอด

ในช่วงของการตั้งครรภ์จะมีเมือกสีขาว คล้ายตกขาว ที่เรียกว่า “Mucus Plug” สำหรับป้องกันเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่มดลูก เป็นกลไกในการป้องกันทารกในครรภ์ และเมื่อร่างกายใกล้คลอดจะทำให้มดลูกเริ่มบาง และเปิดมากขึ้น จนเมือกดังกล่าวไหลออกมาได้ บางครั้งเส้นเลือดที่บริเวณปากมดลูกอาจมีการแตก ทำให้มีเลือดผสมออกมากับเมือกด้วย จึงทำให้มีสีแดงผสม ออกไปทางสีชมพู บางคนจึงมองว่าเป็นแค่เมือก ในขณะที่คุณแม่บางคนมองว่าเป็นเมือกเลือดนั่นเอง

4.อาการท้องเสีย

คุณแม่ท้องบางคนอาจมีอาการถ่ายเหลวท้องเสีย จากการที่ร่างกายมีการสร้าง “ฮอร์โมนโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin)” ในช่วงใกล้คลอด ช่วยให้มดลูกขยายตัว และเปิดกว้างได้มากขึ้น ซึ่งการขยายตัวนี้ ส่งผลต่อการขับถ่ายด้วยเช่นกัน หากมีอาการถ่ายเหลวบ่อย อาจทำให้ร่างกายของคุณแม่ขาดน้ำ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดการคลอดได้ด้วย

5.ปวดหลัง

เป็นอาการที่พบได้บ่อยมากถึง 1 ใน 3 ของคุณแม่ท้อง เนื่องจากในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ตลอด 9 เดือน คุณแม่จะต้องรองรับน้ำหนักของการตั้งครรภ์มาโดยตลอด แต่ในช่วงใกล้คลอด อาจมีอาการปวดที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากทารกในครรภ์ มีการเคลื่อนไหว จนศีรษะของทารกอยู่ใกล้กับบริเวณกระดูกสันหลังของคุณแม่ โดยอาการปวดที่เพิ่มขึ้น สามารถรุนแรงขึ้นได้เป็นสัญญาณของการใกล้คลอดนั่นเอง

สัญญาณเตือนก่อนคลอด


6.ท้องเคลื่อนต่ำ ท้องลด

ในช่วงจะคลอดประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ที่ทารกเริ่มเคลื่อนที่มาบริเวณเชิงกราน เรียกว่าท้องเคลื่อนต่ำ จะทำให้ขนาดท้องดูเปลี่ยนไป จนดูเหมือนเล็กลง ทำให้คุณแม่อึดอัดน้อยลง รู้สึกหายใจได้อย่างสะดวกมากขึ้น แต่อาการนี้อาจพบได้บางราย จึงควรหมั่นสังเกตอาการอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ได้รับรู้ถึงสัญญาณคลอดที่ชัดเจน

7.อาการอื่น ๆ

นอกจากอาการที่กล่าวไปแล้ว อาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย อาการบางอย่างอาจมีความคล้ายกับอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น นอนไม่หลับ หลับยาก หรือมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หากมีอาการเล็กน้อยเหล่านี้ ให้ดูอาการอื่นประกอบด้วย หากมีความสงสัย หรือไม่ชัดเจน ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

อาการเหล่านี้ต้องระวัง รีบพบแพทย์ทันที

หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ควรอยู่เฉย ต้องรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัย ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียนบ่อย หรือไม่หยุด
  • ลูกดิ้นน้อยเกินไป หรือลูกหยุดดิ้น
  • น้ำคร่ำที่ไหลออกมามีสีผิดปกติที่ไม่ใช่สีขาว หรือสีชมพู
  • มีเลือดไหลออกบริเวณช่องคลอด


คุณแม่ใกล้คลอดรับมืออย่างไรดี ?

เมื่อคุณแม่มีสัญญาณเตือนก่อนคลอดตามที่เราได้กล่าวไปแล้ว สามารถรับมือได้ด้วยการฝากครรภ์ เพื่อให้ได้พบแพทย์ตามกำหนดการ ได้รับการตรวจครรภ์ตามเวลา คุณแม่ควรเลือกโรงพยาบาลที่เดินทางได้ง่าย และสะดวก ใช้เวลาไม่นาน เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติ หรือมีอาการฉุกเฉินใด ๆ จะสามารถเข้ารับการตรวจ และรับมือได้ทัน นอกจากความปลอดภัยแล้ว การฝากครรภ์ยังสามารถช่วยตรวจหาโรคร้ายที่สามารถส่งผลต่อคุณแม่ และลูกน้อยได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ หรือเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น ประกอบกับการช่วยกันดูแลคุณแม่ท้องของคนรอบข้าง ไม่ควรให้คุณแม่อยู่คนเดียวในช่วงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้าย

หากคุณแม่พบว่ามีอาการอื่น ๆ ที่ผิดปกติ หรือมีอาการบางอย่างรุนแรงมากเกินไป ในช่วงตั้งครรภ์ที่มีความสำคัญนี้ สามารถเข้าปรึกษาแพทย์ได้ทันที ห้ามปล่อยไว้เด็ดขาด และควรสอบถามแพทย์ทุกครั้งที่มีความสงสัยในเรื่องของการตั้งครรภ์

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

6 ประโยชน์ของน้ำสะอาด ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจไม่รู้

ภาวะซึมเศร้า อาการเป็นอย่างไร แม่ท้องเป็นซึมเศร้าอันตรายไหม ?

ที่มา : 1 2 3 4