ตาปลา เกิดจากอะไร รักษาตาปลาด้วยวิธีไหนให้หมดปัญหากวนใจผิว?

ตาปลา เป็นอาการทางผิวหนังที่มักจะเกิดขึ้นบริเวณนิ้วเท้าหรือบนฝ่าเท้า แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนบนร่างกาย ซึ่งบางครั้งทำให้เรารู้ส 

 1379 views

ตาปลา เป็นอาการทางผิวหนังที่มักจะเกิดขึ้นบริเวณนิ้วเท้าหรือบนฝ่าเท้า แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนบนร่างกาย ซึ่งบางครั้งทำให้เรารู้สึกรำคาญ และเจ็บปวดเวลาที่ต้องเดิน และใส่รองเท้า นอกจากนี้ตาปลายังมีลักษณะที่ไม่น่ามองเท่าไหร่ ทำให้หลายคนอาจรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าตาปลาเกิดจากอะไร และมีวิธีรักษาแบบใดบ้าง วันนี้ Mama Story มีคำตอบให้ค่ะ

ตาปลาคืออะไร?

ตาปลา (Corns) คือ ผิวหนังที่มีลักษณะขึ้นเป็นตุ่มหนา และแข็งกว่าผิวหนังส่วนอื่น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย โดยเฉพาะนิ้วมือ นิ้วเท้า มือ และฝ่าเท้า หากปล่อยไว้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การวิ่ง การเดิน และการหยิบสิ่งของเป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจสร้างความเจ็บปวด และความรำคาญบางครั้ง ดังนั้นหากใครเป็นตาปลา ควรไปรักษากับแพทย์ผิวหนังโดยเฉพาะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ตาปลา

ตาปลาเกิดจากอะไร?

ตาปลาเกิดจากการเสียดสี และแรงกดทับจากกระทำซ้ำ ๆ บนผิวบริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นเวลานาน โดยสาเหตุหลัก ๆ ในการเกิดตาปลา มีดังนี้

  • การยกของหนัก : การยกของหนักเป็นประจำ ทำให้ผิวหนังบริเวณฝ่ามือเกิดแรงกดทับ จนเกิดการเสียดสีกับวัตถุ ทำให้ผิวหนังหนาขึ้นจนเกิดเป็นตาปลาบริเวณมือได้
  • การใส่รองเท้าที่คับหรือหลวมมากเกินไป : การสวมรองเท้าที่คับแน่น หรือหลวมจนเกินไป อาจทำให้ผิวหนังเกิดการเสียดสีกับผิวของรองเท้าที่เป็นหนังยาง พลาสติก และตะเข็บของรองเท้าได้ นอกจากนี้การใส่รองเท้าโดยไม่สวมถุงเท้า อาจทำให้ผิวหนังเสียดสีจนเกิดเป็นตาปลาได้เช่นกัน
  • การเล่นเครื่องดนตรี : สำหรับผู้ที่เล่นดนตรีเป็นประจำ โดยเฉพาะกีตาร์ และไวโอลิน อาจเกิดอาการตาปลาได้ เนื่องจากการเล่นเครื่องดนตรีเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการเสียดสี และการกดนั่นเอง
  • การเล่นกีฬา : การเล่นกีฬา และการฝึกซ้อมกีฬาอาจทำให้เกิดการเสียดสีจนนำไปสู่อาการตาปลา ดังนั้นผู้เล่นจึงไม่ควรสวมรองเท้าเป็นเวลานาน และไม่ควรยกน้ำหนักโดยไม่สวมถุงมือ
  • การใช้เครื่องมือช่าง : ผู้ที่ทำงานช่าง และใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทุกวัน อาจเกิดแรงกดทับซ้ำ ๆ เป็นประจำจนทำให้ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ และนิ้วมือหนาขึ้น จนเกิดตาปลาได้
  • นิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ : ภาวะนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ เป็นภาวะที่นิ้วเท้าโค้งงอเข้าหานิ้วอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการกดทับ และการเสียดสี จนทำให้เกิดตาปลานั่นเอง

อาการของตาปลา

อย่างที่รู้กันดีว่าตาปลามักมีอาการเป็นตุ่มแข็ง ๆ บนผิวหนัง ซึ่งบางครั้งอาจมีลักษณะคล้ายกับแผล โดยเราสามารถสังเกตอาการตาปลาได้ ดังต่อไปนี้

  • มีตุ่มผิวหนังกดแล้วเจ็บ
  • มีลักษณะคล้ายกับแผล
  • มีตุ่มหนา แข็ง และหยาบกร้านบริเวณผิวหนัง
  • เกิดอาการเจ็บปวดเมื่อต้องเดิน วิ่ง หรือสวมรองเท้า
  • มีตุ่มเกิดขึ้นบริเวณด้านบนของเท้า ด้านข้างนิ้วเท้า หรืออยู่ระหว่างนิ้วเท้า
  • ลักษณะของตุ่มที่เกิดอาจมีวงเหลือง ๆ รอบ ๆ ส่วนตรงกลางมีความแข็ง และมีสีเทา

หากพบว่าอาการของตาปลามีความรุนแรงมากขึ้น เกิดอาการเจ็บปวด หรือการอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากมีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน หรือมีการไหลเวียนโลหิตไม่ดี หากปล่อยไว้จนเกิดอาการบาดเจ็บ ก็อาจทำให้เกิดแผลอักเสบ และพุพอง จนเกิดการลุกลามได้ง่าย ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของตาปลา

โดยทั่วไปแล้ว ตาปลาจะไม่ส่งผลกระทบในระยะยาว แต่อาจกลับมาเกิดขึ้นใหม่ได้ และมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น บางครั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ จนเกิดการเจ็บปวดขณะเดินเป็นอย่างมาก ซึ่งหากพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ อาจต้องไปเข้ารับการรักษาอาการตาปลา และรอยแผลเป็นที่เกิดขึ้น

การวินิจฉัยตาปลา

ในการวินิจฉัยอาการตาปลา แพทย์จะดูลักษณะของแผลที่เกิดขึ้น และอาจสอบถามเกี่ยวกับอาชีพ งานอดิเรก หรือพฤติกรรมที่บ่งบอกให้เกิดอาการตาปลาได้ ซึ่งการทดสอบในการวินิจฉัยตาปลานั้น มีดังนี้

  • การตรวจร่างกาย : แพทย์จะตรวจดูในส่วนที่เกิดตาปลาขึ้น เพื่อพิจารณาว่าเป็นโรคตาปลา หรือโรคอื่น ๆ เช่น โรคหูด หรือชีสต์ จากนั้นจึงสามารถรักษาอาการได้ต่อไป
  • การเอกซเรย์ : การเอกซเรย์เป็นการหาความผิดปกติของร่างกายที่ทำให้เกิดอาการตาปลาได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีกระดูกผิดรูป และมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก อาจต้องดูว่ามีความผิดปกติที่ก่อให้เกิดตาปลาหรือไม่

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคอีสุกอีใส เกิดจากอะไร อาการแบบไหนที่แสดงว่าลูกเป็นอีสุกอีใส?

ตาปลา

การรักษาตาปลา

สำหรับวิธีการรักษาอาการตาปลา เราสามารถรักษาด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการทำซ้ำ ๆ ที่อาจทำให้เกิดการเสียดสี และแรงกดทับได้ นอกจากนี้เรายังสามารถใช้แผ่นปิดตาปลา เพื่อรักษาอาการเบื้องต้นได้ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ อาจไม่สามารถรักษาได้ในระยะยาว จึงต้องใช้วิธีการรักษาทางการแพทย์ ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

  • ตัดหนังที่เป็นส่วนเกินออก : แพทย์จะตัดเอาผิวหนังที่หนาออก และตัดตาปลาที่มีขนาดใหญ่ด้วยมีดผ่าตัด ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่ควรทำด้วยตัวเองเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
  • ใช้ยากำจัดตาปลา : แพทย์อาจใช้แผ่นแปะที่มีกรดซาลิไซลิก แปะบริเวณตาปลาเพื่อช่วยให้ตาปลาหลุดลอกได้ง่าย ๆ นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้ใช้หินภูเขาไฟขัดเซลล์ผิวหนังเก่าออกก่อนแปะแผ่นใหม่ แต่สำหรับผู้ที่มีตาปลาขนาดใหญ่ แพทย์อาจใช้กรดซาลิไซลิกที่เป็นรูปแบบเจลแทน
  • ใส่แผ่นเสริมรองเท้า : ผู้ที่มีความผิดปกติของรูปเท้า แพทย์อาจแนะนำให้ใช้แผ่นเสริมรองเท้าแบบพิเศษ ที่ช่วยป้องกันการเกิดตาปลาซ้ำ
  • ใช้ยาลดความเสี่ยงการติดเชื้อ : การใช้ยาลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น ครีม สามารถช่วยขจัดอาการตาปลาออก และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
  • ผ่าตัดตาปลาออก : การผ่าตัดอาจเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อย แพทย์จะผ่าตัดเพื่อแก้ไข และจัดเรียงกระดูกที่ทำให้เกิดการเสียดสี

การป้องกันตาปลา

ในส่วนของการป้องกันตาปลา สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ แบบเดิมที่ก่อให้เกิดแรงกดทับ และการเสียดสี รวมไปถึงการดูแลตัวเองที่ป้องกันไม่ให้เกิดผิวแห้งอย่างรุนแรงเกิดขึ้น เพราะอาจก่อให้เกิดตาปลาได้ ทั้งนี้วิธีการป้องกันตาปลา สามารถทำได้ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

  • ใช้แผ่นเสริมรองเท้าที่มีความหนานุ่มเป็นพิเศษ
  • สวมรองเท้าพอดีกับเท้า ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป
  • ใช้ครีมบำรุงมือ และเท้าหลังอาบน้ำ หรือล้างมือเสร็จ
  • สวมถุงเท้าเวลาในรองเท้าทุกครั้ง โดยเลือกถุงเท้าที่มีขนาดพอดี
  • ใช้หินภูเขาไฟขัดเท้าเป็นประจำ เพื่อกำจัดผิวหนังที่แห้งแตกออกไป
  • สวมถุงมือทุกครั้งในการเล่นกีฬา การออกกำลังกาย หรือการทำงานช่าง

หากพบว่ามีอาการตาปลา ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยทันที เพราะหากปล่อยไว้นานก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และเกิดปัญหาผิวหนังตามมาได้ ซึ่งเมื่อรักษาตาปลาเสร็จแล้ว ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเดิม ๆ ที่เสี่ยงให้เกิดอาการดังกล่าว เพราะตาปลาสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โรคหัด คืออะไร อันตรายหรือไม่ หากลูกเป็นโรคหัดควรทำอย่างไร?

ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

รู้ทัน “วัณโรค” โรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ที่มา : 1, 2