ไวรัส RSV การติดเชื้อรุนแรงในเด็กที่ห้ามมองข้าม

เชื้อไวรัส RSV เป็นการติดเชื้อที่ส่งผลต่อระบบหายใจ เด็กเล็ก หรือทารกจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ และมีอาการที่รุนแรงมากกว่า สามารถสังเกตอาก 

 1013 views

เชื้อไวรัส RSV เป็นการติดเชื้อที่ส่งผลต่อระบบหายใจ เด็กเล็ก หรือทารกจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ และมีอาการที่รุนแรงมากกว่า สามารถสังเกตอาการที่คล้ายไข้หวัด และการหายใจลำบาก หากพบว่ามีอาการควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ และรักษาตามอาการ

ไวรัส RSV คืออะไร

ไวรัส Respiratory Syncytial Virus คือ ไวรัสที่สามารถติดต่อกันผ่านการไอ หรือจาม ในประเทศไทยมักพบเชื้อไวรัสนี้ในฤดูฝน และฤดูหนาว หากได้รับไวรัสชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายจะทำให้ร่างกายผลิตสารคัดหลั่งเป็นจำนวนมาก และส่งผลต่อการทำงานของระบบหายใจ เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดได้ทุกวัย แต่จะพบได้มากเป็นพิเศษในเด็กเล็ก และเป็นวัยที่ต้องระวัง เพราะอาจเกิดอาการรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้

เด็กวัยไหนเสี่ยงมากที่สุด ?

เชื้อไวรัสชนิดนี้พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และมักจะติดต่อได้ง่าย ในกลุ่มอาการที่รุนแรงมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และจะเสี่ยงต่อการหยุดหายใจ หากพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน โดยเฉพาะเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด, เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่แข็งแรง เป็นต้น ด้วยการติดต่อที่ง่าย และสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ใหญ่ด้วย การระมัดระวัง และจัดการกับความเสี่ยงต่อบุตรหลานจึงสำคัญมาก

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไรให้ห่างไกลจากโรค ?

https://www.youtube.com/watch?v=r3cJQbnseK4

วิดีโอจาก : Vejthani.Hospital


อาการที่สังเกตได้ในเด็ก

สำหรับเด็กเล็กอาการจะแสดงเมื่อได้รับเชื้อไปแล้วประมาณ 2 – 8 วัน ซึ่งอาจมีอาการรุนแรง สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • หายใจผิดปกติมีเสียงหวีดแหลม หายใจเร็ว และหายใจลำบาก
  • มีอาการเบื่ออาหาร และซึม
  • มีอาการคล้ายไข้หวัดไอ จาม มีน้ำมูก
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย

หากเป็นเด็กทารก อาจไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกได้โดยตรง ให้สังเกตอาการต่อไปนี้แทน

  • ทารกร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตา เนื่องจากร่างกายขาดน้ำ
  • มีอาการหายใจลำบาก เพราะน้ำมูกเหนียว หายใจเหนื่อย
  • ไอและมีเสมหะพบได้หลายสี เช่น สีเหลือง, เทา หรือเขียว
  • มีอาการซึม เบื่ออาหาร
  • มีไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ผื่นขึ้นตามตัว


หากพบว่าเด็กเล็ก หรือทารกมีอาการตามที่กล่าวไป ควรรีบพาเด็กพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการลุกลามของเชื้อไวรัสในระดับที่รุนแรง อาจทำให้เด็กเสี่ยงเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้

ภาวะแทรกซ้อนอันตรายจากไวรัส RSV

หากเด็กเล็ก หรือทารกมีร่างกายไม่แข็งแรง อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น เช่น โรคหลอดลมฝอยอักเสบ, ปอดบวม, การติดเชื้อในหูชั้นกลาง, โรคหอบหืด หรือการติดเชื้อซ้ำ เป็นต้น  โดยการติดเชื้อซ้ำจะไม่ได้มีอาการรุนแรงเท่ากับการติดเชื้อครั้งแรก

RSV


การตรวจหาเชื้อไวรัสอาร์เอสวีในเด็ก

หลังจากพาลูกน้อยมาพบแพทย์แล้ว แพทย์จะทำการตรวจขั้นพื้นฐานจากลักษณะทางกายภาพของเด็กก่อน จากนั้นจะทำการตรวจอ่างอื่นเพิ่มเติม ได้แก่

  • ตรวจวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเม็ดเลือด หรือ Pulse Oximetry เพื่อตรวจสอบระดับออกซิเจนว่าปกติหรือไม่
  • วัดจำนวนเซลล์ของเม็ดเลือดขาว เพื่อตรวจหาไวรัส หรือแบคทีเรีย และสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย
  • ทำการเอกซเรย์บริเวณหน้าอก เพื่อตรวจหาโรคปอดบวม และตรวจหาเชื้อจากสารคัดหลั่งภายในจมูก


การรักษาลูกจากเชื้อ RSV

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยตรง แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ อาจมีการพ่นยาขยายหลอดลม เพื่อแก้ปัญหาระบบหายใจ ทำให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น โดยผู้ปกครองสามารถเสริมการรักษาได้ด้วยการให้เด็กดื่มน้ำเปล่าสะอาดมาก ๆ เพื่อป้องกันเชื้อลงปอด โดยจะใช้เวลาในการรักษาตัวประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ อาการจึงจะบรรเทาอย่างเห็นได้ชัด

ป้องกันอย่างไรให้ลูกปลอดภัย

  • สวมหน้ากากอนามัยในเด็กเล็ก หากเป็นทารกไม่สามารถใส่ได้ เพราะจะทำให้หายใจไม่สะดวก ควรใช้ผ้าคลุมตัวเด็กแทน
  • หมั่นล้างมือหากจับสิ่งของใด ๆ ในที่สาธารณะ เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำทำความสะอาดตัวทันที
  • ไม่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงเกิดโรคระบาด หรือสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และไม่เข้าใกล้คนไข้ที่มีเชื้ออยู่
  • ดูแลกิจวัตรประจำวันให้ดีทั้งทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายบ้าง
  • หากมีอาการที่สุ่มเสี่ยง ควรให้ลูกหยุดเรียนก่อน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อหากมีไวรัสจริง และควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที


ไวรัสชนิดนี้มีอาการภาพรวมคล้ายไข้หวัด แต่อันตรายกว่ามาก ยิ่งถ้าเป็นทารก ต้องคอยสังเกตความผิดปกติให้ดี หากเด็กร้องไห้ หรือมีไข้ ไม่ควรปล่อยดูอาการตามเวลา ควรพามาพบแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของทารกเอง

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายของลูกตัวน้อยโอกาสเป็นซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง

โรคหัด คืออะไร อันตรายหรือไม่ หากลูกเป็นโรคหัดควรทำอย่างไร ?

โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ที่มา : 1, 2, 3, 4