เครียดลงกระเพาะ อาการเป็นอย่างไร รับมือด้วยวิธีไหนได้บ้าง?

เครียดลงกระเพาะ มักเกิดขึ้นกับวัยรุ่น และวัยทำงาน เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่อาจมีความเครียดมาก จนทำให้เกิดความเครียดสะสมทุกวัน ซึ่งความเครี 

 1185 views

เครียดลงกระเพาะ มักเกิดขึ้นกับวัยรุ่น และวัยทำงาน เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่อาจมีความเครียดมาก จนทำให้เกิดความเครียดสะสมทุกวัน ซึ่งความเครียดเหล่านั้นก็ไปกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมามากผิดปกติ จนทำให้เกิดโรคกระเพาะนั่นเอง อีกทั้งยังส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานผิดปกติอีกด้วย วันนี้ Mama Story จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักอาการเครียดลงกระเพาะ พร้อมวิธีรับมือที่ช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวค่ะ

ทำไมเครียดแล้วลงกระเพาะ

เมื่อเรามีอาการเครียดมาก ๆ ระบบประสาทอัตโนมัติ จะไปกระตุ้นต่อมหมวกไต ให้หลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมา ซึ่งฮอร์โมนในร่างกายเหล่านั้นจะเกิดความแปรปรวน จนทำให้เลือดไหลเวียนไม่ปกติ กระเพาะอาหารจะหลั่งน้ำย่อยมาออกมากว่าปกติ ส่งผลทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานแย่ลง นอกจากนี้ต่อมไทรอยด์ซึ่งหลั่งฮอร์โมนนั้น จะเร่งการเผาผลาญอาหารออกมา จนทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการนอนไม่หลับ และหิวมากกว่าปกติ อีกทั้งความเครียดยังส่งผลให้การทำงานของกระเพาะอาหาร และลำไส้หยุดชะงักลงอีกด้วย

สัญญาณเตือนเมื่อรู้สึกเครียด

หลายครั้งที่เรามักรู้สึกเครียดโดยไม่รู้ตัว โดยเราสามารถสังเกตสัญญาณเตือนของร่างกายที่กำลังบ่งบอกว่าเครียดมากเกินไป ได้ดังนี้

  • หายใจเร็ว : เมื่อรู้สึกเครียด ปอดจะขยายตัวสร้างออกซิเจนสู่กล้ามเนื้อมากขึ้น ทำให้ต้องการช่องทางเดินอากาศที่กว้างกว่าปกติจนทำให้รูจมูกขยาย และหายใจถี่นั่นเอง
  • ขนลุก : บางครั้งคุณอาจรู้สึกขนลุก เนื่องจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังหดตัว
  • คลื่นไส้ : เกิดจากการทำงานของกระเพาะอาหาร และลำไส้หยุดลง ทำให้กรดในกระเพาะเพิ่มขึ้น จนคุณรู้สึกหงุดหงิดง่าย กังวลใจ และนอนไม่หลับ
  • หิวมากกว่าปกติ : เนื่องจากต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนที่เร่งการเผาผลาญอาหารออกมามาก กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการอยากอาหารมากกว่าปกตินั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม สาเหตุ อาการ และการป้องกัน

เครียดลงกระเพาะ

เครียดลงกระเพาะ อาการเป็นอย่างไร?

อาการเครียดลงกระเพาะ มีอาการคล้ายกับโรคกระเพาะที่เกิดจากการรับประทานอาหารผิดเวลา โดยมักมีอาการ ดังนี้

  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง
  • ตัวสั่น กล้ามเนื้อกระตุก
  • อาหารไม่ย่อย รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
  • ปัสสาวะ หรืออุจจาระบ่อยขึ้น
  • รู้สึกวิตกกังวล หงุดหงิด กังวลใจ
  • แน่นท้อง ปวดเกร็งท้อง และท้องไส้ปั่นป่วน
  • ปวดแน่น จุกแสบบริเวณลิ้นปี่ หลังจากรับประทานอาหาร

ผลข้างเคียงของการเครียดลงกระเพาะ

เครียดลงกระเพาะส่งผลให้เส้นประสาทไหลเวียนเลือดได้ช้าลง อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อในระบบย่อยอาหารทำงานได้แย่ลงอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • กระเพาะอาหารหลั่งกรดในการย่อยได้น้อยลง ทำให้เกิดภาวะอาหารไม่ย่อย และท้องอืด
  • ระบบภูมิคุ้มกันทำงานน้อยลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้ง่ายขึ้น
  • กล้ามเนื้อหลอดอาหารหดเกร็ง มีกรดในกระเพาะเพิ่มมากขึ้น จนทำให้อาหารไม่ย่อย
  • ลำไส้ใหญ่มีการตอบสนองต่อความเครียด ทำให้เกิดอาการท้องเสีย หรือท้องผูก
  • แบคทีเรียชนิดไม่ดี มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  • เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้แปรปรวน
  • แสบร้อนกลางอก และมีอาการกรดไหลย้อน เนื่องจากระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี และเกิดการบีบตัวของหลอดอาหารมากขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตะคริว เกิดจากอะไร เป็นตะคริวบ่อยรักษาอย่างไรให้หายดี?

เครียดลงกระเพาะ


วิธีรับมืออาการเครียดลงกระเพาะ

สำหรับวิธีรับมือที่ดีที่สุดในการรักษาอาการเครียดลงกระเพาะ คือการจัดการกับความเครียดที่มีอยู่ โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตน ได้แก่

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด และทำให้อารมณ์ดีขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีอีกด้วย

  • พูดคุยกับผู้อื่นเพื่อระบายความเครียด

หากคุณรู้สึกเครียด ควรพูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว และคนรอบข้าง เพื่อช่วยให้รู้สบายใจขึ้นได้ หากไม่รู้ที่จะปรึกษาใคร คุณสามารถไปปรึกษานักจิตวิทยา เพื่อเข้ารับวิธีการรับมือความเครียด และปรับเปลี่ยนมุมมองของปัญหาที่เกิดขึ้นได้

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์

การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อาจส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหารได้ โดยอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเครียดได้ ดังนั้นให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารขยะ อาหารที่มีน้ำตาล และไขมันสูง รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้การดื่มนมเปรี้ยว และโยเกิร์ตอาจช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรีย และทำให้ระบบทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกัน ทำงานได้ดีขึ้น

  • หากิจกรรมผ่อนคลาย

การทำกิจกรรมต่าง ๆ สามารถช่วยรับมือกับความเครียดได้ โดยให้ทำกิจกรรมที่คุณสนใจ เพื่อช่วยลดความเครียด เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นโยคะ วาดรูป หรือไปเที่ยว เป็นต้น

  • ฝึกสมาธิ และการหายใจ

ลองหันมาฝึกสมาธิ และฝึกลมหายใจ โดยการนั่งท่าที่สะดวก จากนั้นหายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ แล้วค่อย ๆ หลับตา เพ่งสมาธิไปที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เริ่มจากศีรษะ ไปจนถึงปลายเท้า เพื่อให้ร่างกายได้รู้สึกถึงกระบวนการต่าง ๆ ของธรรมชาติที่เกิดขึ้นในร่างกาย

  • ไม่สูบบุหรี่

แน่นอนว่าการสูบบุหรี่นอกจากส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เพราะอาจส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร จนทำให้เกิดความเครียดได้

รักษาแล้วไม่ดีขึ้นทำอย่างไร?

หากคุณพยายามรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น และมีโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารที่แย่ลง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา และป้องกันอาการของโรคแทรกซ้อน ทั้งนี้หากคุณมีอาการปวดท้อง และจุกเสียดเป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียของโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้คุณยังสามารถไปปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาในส่วนของสุขภาพจิตได้อีกเช่นกัน

เครียดลงกระเพาะ เป็นอาหารที่สามารถบรรเทาได้ หากคุณมีอาการเครียดลงกระเพาะ ให้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมต่าง ๆ และอาจปรึกษากับครอบครัว เพื่อน และนักจิตวิทยา เพื่อช่วยระบายความเครียด และปรับเปลี่ยนมุมมองกับปัญหาที่เจอค่ะ เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยให้อาการเครียดลงกระเพาะดีขึ้น

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไรให้ห่างไกลจากโรค?

กลิ่นตัวแรง ไม่ใช่เรื่องตลก จัดการอย่างไรเมื่อร่างกายมีกลิ่นตัว?

รู้ทัน “วัณโรค” โรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ที่มา : 1, 2, 3, 4, 5