ตากุ้งยิง เกิดจากอะไร ลูกเป็นตากุ้งยิงบรรเทาอาการอย่างไรได้บ้าง?

ตากุ้งยิง อาการอักเสบบริเวณเปลือกตาที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หลายคนอาจคิดว่าตากุ้งยิงเกิดขึ้นได้กับผู้ใหญ่เท่านั้น ทราบหรือไม่ว่าอ 

 963 views

ตากุ้งยิง อาการอักเสบบริเวณเปลือกตาที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หลายคนอาจคิดว่าตากุ้งยิงเกิดขึ้นได้กับผู้ใหญ่เท่านั้น ทราบหรือไม่ว่าอาการตากุ้งยิงเกิดขึ้นได้กับเด็กเช่นกันค่ะ หากผู้ป่วยมีอาการกุ้งยิงก็จะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณดวงตาเป็นอย่างมาก วันนี้เราจึงมีบทความดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณแม่ได้เข้าใจ และพร้อมรับมือกับโรคนี้เพิ่มมากขึ้นค่ะ

ตากุ้งยิงคืออะไร?

ตากุ้งยิง (Stye) คือ การอักเสบบริเวณขอบเปลือกตา มีลักษณะเป็นตุ่มนูนบวมคล้าย ๆ สิว จนทำให้เกิดความเจ็บปวด โดยโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถเกิดขึ้นทั้งตาข้างเดียว และทั้งสองข้าง โดยอาการตากุ้งยิงจะดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน แม้จะไม่ได้รับการรักษา แต่หากอาการยังไม่ทุเลาลง และมีอาการรุนแรง เจ็บปวดเป็นอย่างมาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป

ตากุ้งยิงเกิดจากอะไร?

ตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณต่อมไขมันที่อยู่ใต้เปลือกตา ซึ่งแบคทีเรียที่พบนั้น อาจไม่ร้ายแรงหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย โดยสามารถแบ่งออกได้ 2 สาเหตุ ดังนี้

  • ตากุ้งยิงภายนอก : มักเกิดบนบริเวณรูขุมขนดวงตา บนรูเล็ก ๆ ที่ขนตางอกออกมา ซึ่งบริเวณในรูขุมขนซึ่งมีหน้าที่ผลิตสารช่วยหล่อลื่นไม่ให้ลูกตาแห้ง โดยอาจเกิดตุ่มบวมขึ้น จนอักเสบ และมีหัวหนอง หากสัมผัสจะรู้สึกเจ็บปวด
  • ตากุ้งยิงภายใน : เกิดขึ้นบริเวณต่อมไมโบเมียนที่อยู่ในเปลือกตาที่ทำหน้าผลิตไขมันเหลว โดยอาจมีบางส่วนของน้ำตาที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ และจะเจ็บน้อยกว่าตากุ้งยิงภายนอก

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตาแดง เกิดจากอะไร คุณแม่รับมืออย่างไรเมื่อลูกมีอาการตาแดง?

ตากุ้งยิง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดตากุ้งยิง

  • มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเบาหวาน
  • การสัมผัสดวงตาหรือขยี้ตาด้วยมือที่ไม่สะอาด
  • เคยเป็นตากุ้งยิง หรือโรคที่บริเวณเปลือกตามาก่อน
  • ล้างเครื่องสำอางไม่สะอาด และใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุ
  • มีปัญหาด้านสุขภาพผิว เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน เป็นต้น
  • ใส่คอนแทคเลนส์ในขณะที่มือไม่สะอาด และไม่ได้ล้างทำความสะอาดคอนแทคเลนส์

อาการของตากุ้งยิง

ผู้ที่เป็นตากุ้งยิง มักมีอาการบวมแดงบริเวณเปลือกตา และมีตุ่มลักษณะคล้ายกับสิว นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายยังมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • คันตา
  • น้ำตาไหล
  • ตาพร่ามัว
  • ตาไวต่อแสง
  • เจ็บบริเวณที่บวม
  • เปลือกตาบวมแดง
  • มีตุ่มนูนขึ้นบริเวณเปลือกตา
  • รู้สึกเคืองตาเวลากะพริบตา

ภาวะแทรกซ้อนจากตากุ้งยิง

ผู้ป่วยตากุ้งยิง อาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ โดยเป็นอาการป่วยที่ไม่รุนแรงมากนัก เช่น เป็นคาลาเซียน ซึ่งมีตุ่มนูนก้อนแข็ง และไม่เกิดความเจ็บปวด แต่หากพบว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อ แพทย์อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หรือการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายที่อาจลามไปสู่เนื้อเยื่อรอบดวงตา จนทำให้เปลือกตาบวมแดงนั่นเอง

ตากุ้งยิงรักษาอย่างไร?

โดยปกติแล้วตากุ้งสามารถรักษาด้วยตัวเองได้ แต่สำหรับผู้ที่เกิดตากุ้งยิงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจต้องไปพบแพทย์ เพื่อรับยา และเข้ารักษาต่อไป

การรักษาด้วยตนเอง

หากพบว่าลูกมีตุ่มนูนขึ้น ให้คุณแม่ใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณดวงตาประมาณ 5-10 นาที และค่อย ๆ นวดเบา ๆ บริเวณนั้นซ้ำ ๆ ประมาณ 3-4 ครั้งต่อวันจนกว่าจะหายดี เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำอุ่นจะช่วยขับหนองอักเสบในตากุ้งยิงไหลออกมาได้ และยังป้องกันไม่ให้ตากุ้งยิงเกิดขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรบีบหนองบริเวณตากุ้งยิงออกมาเองค่ะ นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด อย่างยาพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดนั่นเอง

การรักษาโดยแพทย์

หากคุณแม่พบว่าลูกมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง แพทย์อาจจะใช้วิธีการอื่น ๆ ตามสาเหตุที่เกิดขึ้น โดยผู้ป่วยบางรายอาจต้องการผ่าตัดเพื่อนำหนองออกไปด้วย โดยแพทย์จะรักษา ตามอาการดังต่อไปนี้

  • เปลือกตาอักเสบ : แพทย์จะให้ทำความสะอาดบริเวณดวงตา โดยการใช้สำลีเช็ดทำความสะอาด
  • เยื่อบุตาอักเสบ : แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะใส่ไปยังบริเวณตากุ้งยิง หรือจ่ายยาให้ผู้ป่วยรับประทาน
  • คาลาเซียน : สำหรับผู้ที่เป็นคาลาเซียน หรือตุ่มนูนที่เปลือกตา แพทย์อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อนำตุ่มออกไป

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตาบอดสี เกิดจากอะไร รักษาหายได้ไหม จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกตาบอดสี?

ตากุ้งยิง

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

หากคุณแม่พบว่าอาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น เช่น มีตุ่มหนองบริเวณเปลือกตา เปลือกตาบวมแดง และรู้สึกเคืองตาเวลากะพริบตา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที

  • ทำการประคบอุ่นแล้ว ยังไม่ดีขึ้น
  • เปลือกตาบวมมาก และรู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมาก
  • อาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น หลังจากรักษาด้วยตนเอง
  • อาการบวมแดงลามไปยังแก้ม และส่วนอื่น ๆ บริเวณใบหน้า
  • มีผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ตากุ้งยิง หรือหนองไหลออกมาแล้วส่งผลต่อการมองเห็น

การป้องกันตากุ้งยิง

  • ไม่ใช้มือถู และขยี้บริเวณดวงตา
  • ล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่ และแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อบ่อย ๆ
  • หากมีอาการเปลือกตาอักเสบ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด
  • รักษาความสะอาดของคอนแทคเลนส์ และควรล้างมือทุกครั้งก่อนใส่คอนแทคเลนส์
  • ไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น เครื่องสำอางที่หมดอายุ และควรล้างหน้าให้สะอาดทุกครั้ง
  • หากพึ่งหายจากการเป็นตากุ้งยิง ให้ใช้การประคบร้อนบ่อย ๆ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดตากุ้งยิงซ้ำอีก

แม้ว่าอาการตากุ้งยิง จะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่คุณแม่ก็สามารถป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย เพราะตากุ้งยิงไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง และไม่เป็นอันตรายต่อดวงตา สามารถรักษาด้วยตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่พบว่าลูกเป็นตากุ้งยิงนานผิดปกติ และเป็นบ่อย ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไปค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โรคอีสุกอีใส เกิดจากอะไร อาการแบบไหนที่แสดงว่าลูกเป็นอีสุกอีใส?

โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

รู้ทัน “วัณโรค” โรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ที่มา : 1, 2, 3