รู้หรือไม่ พัฒนาการทารก 8 เดือน เป็นอย่างไร อะไรที่ลูกแสดงออกมาให้ผู้ปกครองเห็นบ้าง อะไรที่สำคัญ และพัฒนากรลูกน้อยวันนี้ควรเป็นแบบไหน ทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน เชิญผู้ปกครองลองมาศึกษากันเลยดีกว่า
พัฒนาการทารก 8 เดือน จะเข้าสู่ช่วงสื่อสาร อยากวิ่งแล้วนะ
เมื่อลูกมีอายุครบ 8 เดือน จะเป็นช่วงที่ลูกกำลังจะเข้าสู่การพูดสื่อสารที่รู้เรื่องขึ้น จากการพยายามพูดเป็นคำ ๆ หรือเข้าสู่ช่วงการยืน การวิ่งเหยาะ ๆ จากการพยายามยืนด้วยตนเอง ต่อยอดจากการคลาน เด็กวัยนี้จึงอยู่ในช่วงที่พัฒนาการกำลังส่งต่อจากช่วงต้นไปหาช่วงที่สำคัญ ผู้ปกครองจะต้องคอยดูแลเอาใจใส่ และคอยช่วยเหลือลูกในการพัฒนาตนเองอย่างใกล้ชิด
บทความที่เกี่ยวข้อง : พัฒนาการทารก 4 เดือน วัยที่พยายามเรียนรู้การสื่อสาร
วิดีโอจาก : theAsianparent Thailand
1. น้ำหนักและส่วนสูงของลูกวัย 8 เดือน
พัฒนาการแรก ๆ ที่ผู้ปกครองควรสังเกต เพราะจะเห็นได้ชัดจากลูกรัก นั่นคือเรื่องของขนาดตัว ทั้งส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น และน้ำหนักว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ โดยเด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 7 – 9.5 กิโลกรัม และมีส่วนสูงอยู่ที่ 65 – 73 เซนติเมตร ส่วนเด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 6.5 – 9 กิโลกรัม และมีส่วนสูงอยู่ที่ 65 – 73 เซนติเมตร จะเห็นว่าในช่วงนี้ทารกทั้งเพศชายและเพศหญิงจะมีส่วนสูงเท่ากัน แต่เพศชายจะมีน้ำหนักตัวมากกว่าเพียงนิดหน่อยเท่านั้น หากพบว่าทารกไม่ได้เข้าเกณฑ์อาจลองปรึกษาแพทย์ถึงเรื่องโภชนากร และเทคนิคเสริมร่างกาย และกล้ามเนื้อของทารกได้
2. คลานได้ และพยายามลองยืนขึ้น
ทารกในวัยนี้เป็นวัยที่มีพัฒนาการของกล้ามเนื้อและกระดูกมากขึ้น ส่งผลให้สามารถคลานได้แล้ว อย่างไรก็ตามเด็กบางคนอาจจะยังคลานไม่ถนัด ดูไม่คล่อง หรือใช้การไถตัวไปด้านหน้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ผู้ปกครองสามารถหาเทคนิคมาช่วยฝึกให้ลูกคลานได้เร็วขึ้น หรือช่วยฝึกลูกตั้งไข่ เป็นต้น เมื่อคลานได้แล้วลูกน้อยจะพยายามหาที่พิงที่จับเพื่อลองยืน แต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่ การเคลื่อนไหวบ่อย ๆ และการส่งเสริมคอยจับคอยช่วยจากผู้ปกครอง จะช่วยให้ลูกสามารถยืนได้ในอนาคต
นอกจากนี้ทารก 8 เดือนยังชอบที่จะลองหยิบลองจับสิ่งของรอบตัวต่าง ๆ เอามาเล่น เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองอาจตื่นเต้น เมื่อลูกมีพัฒนาการที่ดี แต่ต้องระวังให้ดี เด็กวัยนี้ยังไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรปลอดภัยได้ 100 % และอาจไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองจับอยู่คืออะไร ลูกน้อยจึงอาจหยิบสิ่งของเข้าปากได้
3. เลียนเสียงพูดได้เป็นคำ ๆ ด้วยคำซ้ำ ๆ
ลูกน้อยช่วงนี้ยังไม่สามารถพูดสื่อสารได้ แต่สิ่งที่สังเกตได้ คือ การพยายามที่จะพูดของลูกวัย 8 เดือน ทารกจะได้ยินเสียงรอบตัว เสียงผู้ปกครองพูดคุยกัน และจะพยายามเลียนเสียงนั้น ส่วนมากจะพูดออกมาเป็นคำเดียว เสียงซ้ำ ๆ เช่น “นะ นะ” หรือ “มา มา” เป็นต้น การพยายามออกเสียงนี้จะเกิดขึ้นได้หลายช่วงเวลา หากลูกนั่งเล่นของเล่นอยู่ก็จะพยายามพูด พยายามส่งเสียงเช่นกัน แม้ว่าผู้ปกครองจะเห็นว่าลูกน้อยยังสื่อสารไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยที่จะไม่พูดกับลูก การพูดคุยกับลูก พูดให้ลูกฟังบ่อย ๆ ลองให้ลูกออกเสียงตาม จะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีต่อ ๆ ไปได้ในอนาคตเช่นกัน
4. ติดผู้ปกครอง ไม่ไว้ใจคนอื่น
ด้านของสังคม และความคิดของเด็กวัยนี้ คือ การที่พยายามอยู่ใกล้กับผู้ปกครองตลอด ไม่ชอบคนแปลกหน้า มีความกลัว จะรู้สึกว่าตนเองปลอดภัยแค่กับคนที่ลูกคุ้นเคยเท่านั้น นอกจากจะมีความคิดผู้ปกครองแล้ว เด็กในวัยนี้ ยังมีความต้องการที่จะให้ผู้ปกครองมาคอยเอาใจใส่ตลอด พยายามเรียกร้องความสนใจในหลายรูปแบบ ในขณะเดียวกันก็ยังแสดงความไม่พอใจเมื่อไม่ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ หรือไม่ชอบอะไร เด็กจะส่ายหัวปฏิเสธ จะผลักสิ่งของ หรือปัดทิ้ง เป็นต้น ลูกน้อยยังสามารถปรบมือได้เมื่อชอบใจ หรือตื่นเต้น นอกจากนี้ยังเข้าใจการโบกมือบ๊ายบาย เป็นการบอกลาด้วยนะ
5. มีความจำที่ดี เปิดกว้างต่อการเรียนรู้
นอกจากเรื่องอื่น ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาการทำงานของสมองก็ดีขึ้นมากเช่นกัน ลูก 8 เดือนสามารถที่จะจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น เริ่มเข้าใจช่วงเวลาของวันว่าเวลานี้ต้องนอน เวลานี้เล่น เป็นต้น ทั้งนี้ก็ต้องพึ่งการทำกิจวัตรประจำวันเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอด้วย นอกจากนี้ด้วยความจำที่ดี ทำให้เด็กช่วงนี้ชอบที่จะสำรวจ หยิบจับสิ่งต่าง ๆ พยายามที่จะลื้อของ และวัยนี้เป็นวัยที่ชอบเล่นน้ำมากเป็นพิเศษอีกด้วย
เทคนิคเสริมพัฒนาการทารก 8 เดือน
- พยายามพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ให้ลูกพยายามออกเสียง แม้ลูกจะยังพูดตอบเป็นประโยคไม่ได้ แต่ลูกวัยนี้มีความเข้าใจเรามากกว่าที่คิด นอกจากนี้การอ่านหนังสือนิทานก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน
- เนื่องจากลูกคลานได้แล้ว จะต้องคอยดูแลความสะอาดของพื้นที่ในห้องที่ลูกคลาน พยายามหาวัตถุที่มั่นคงแข็งแรงมาให้ลูกใช้จับเพื่อพยายามยืน และทรงตัว ผู้ปกครองเมื่อเห็นลูกพยายามยืน ก็ควรมาช่วยพยุงให้กำลังใจลูกด้วย
- เก็บสิ่งของที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะของที่เด็กไม่สามารถทานได้ ของชิ้นเล็กที่ลูกจะหยิบใส่ปาก หากไม่ระวังเผลอนิดเดียวลูกอาจหยิบวัตถุแปลกปลอมใส่ปากได้
- แม้จะชอบเรียนรู้ แต่ไม่ควรเลี้ยงลูกให้ติดจอมือถือ การให้ลูกดูการ์ตูนฟังเพลง ทำให้ลูกนิ่ง หรือไม่งอแงก็จริง แต่ไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดีที่สุด ทำให้ลูกน้อยขาดทักษะหลาย ๆ อย่างไป และด้วยวัยนี้ชอบเล่นน้ำ เป็นโอกาสที่ดีที่ให้ลูกสัมผัสการเล่นในอ่างน้ำ แต่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
- ให้ความสำคัญกับเวลานอนของลูกโดยทั่วไปเด็ก 8 เดือนจะนอนวันละ 12 – 14 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 2 ครั้ง ช่วงสาย กับช่วงบ่าย ครั้งอาจใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนยาว ๆ อีกประมาณ 11 ชั่วโมง
บทความที่เกี่ยวข้อง : เปิดสูตร ! เมนูเต้าหู้ อร่อยทำง่าย ไม่มีเบื่อ สำหรับลูกน้อย
ให้ทารก 8 เดือนกินอะไรดี ?
แม้การให้นมแม่จะให้อยู่ที่ประมาณ 6 เดือน แต่ผลการสำรวจก็พบว่าเด็กบางคนยังกินนมแม่อยู่แม้จะมีอายุถึง 2 ปีแล้วก็ตาม อาจเป็นการดูดจากขวดไม่ใช่การเข้าเต้าเหมือนตอนเล็ก ๆ และควรให้ลูกได้ลองกิน และปรับตัวกับอาหารประเภทอื่น ๆ ด้วย ในวัย 8 เดือนนี้ จึงสามารถลดนมแม่ ให้ลองกินนมผง นมชงได้บ้าง และยังสามารถกินอาหารง่าย ๆ ที่ทำให้เคี้ยวง่าย ทานง่าย ชิ้นไม่ใหญ่ มีความละเอียด เหมาะกับให้เด็กเล็กกิน เช่น แอปเปิล, อาโวคาโด, ฟักทอง, แครอท, ไข่แดง และเต้าหู้ เป็นต้น
พัฒนาการทารก 8 เดือน หากผู้ปกครองคอยดูแลเอาใจใส่ คอยช่วยส่งเสริมได้ดี ช่วยเหลือลูกในหลาย ๆ ด้านเมื่อลูกโตขึ้นอีกหน่อย ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือการยืน ก็คงจะสามารถหายห่วงได้แล้ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พัฒนาการทารก 12 เดือน เป็นอย่างไร ทารกที่กำลังเข้าสู่วัยซน
6 วิธี ฝึกลูกตั้งไข่ อย่างไรให้ปลอดภัย สมพัฒนาการที่ดี