5 วิธีแก้ปัญหาเมื่อ ลูกทำร้ายตัวเองเวลาโมโห ก่อนสายเกินไป

ปัญหาที่น่าเป็นห่วงสำหรับบางบ้าน คือ การที่ลูกมีพฤติกรรมดูรุนแรง ชอบตี ชอบทุบ จนผู้ปกครองต้องการคำตอบว่าลูกทำร้ายตัวเองเวลาโมโห ซึ่งเกิดข 

 1281 views

ปัญหาที่น่าเป็นห่วงสำหรับบางบ้าน คือ การที่ลูกมีพฤติกรรมดูรุนแรง ชอบตี ชอบทุบ จนผู้ปกครองต้องการคำตอบว่าลูกทำร้ายตัวเองเวลาโมโห ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย และต้องแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ไม่ควรสร้างความกดดันให้ลูกมากเกินไป หากพฤติกรรมไม่ดีขึ้น อาจต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ

ทำไม ลูกทำร้ายตัวเองเวลาโมโห ?

การที่ลูกชอบทุบตี ชอบทำร้ายตนเองมีสาเหตุอยู่หลายประการ แต่โดยภาพรวมเป็นผลที่เกิดจากการที่เด็กช่วงวัย 1 – 5 ปีนี้ เป็นเด็กวัยกำลังเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เมื่อเจอสิ่งเร้าต่าง ๆ เด็กเล็กจะไม่สามารถรับมือ หรือเลือกการแสดงออกได้อย่างถูกต้องแบบผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ และผู้ปกครองควรให้คำแนะนำตามปัจจัย ที่ทำให้ลูกแสดงพฤติกรรมดังกล่าว ดังนี้

  • ลูกขาดทักษะในการสื่อสาร : เมื่อลูกน้อยมีอารมณ์ความรู้สึกอยู่ในใจ แต่ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าตนเองรู้สึกแบบไหน เป็นเพราะเด็กบางคนอาจไม่ได้มีพัฒนาการมากพอจะเรียนรู้ความหมายของความรู้สึกทั้งหมดได้ เมื่อลูกน้อยไม่สามารถบอกได้ว่าตนรู้สึกแบบใดอยู่ ลูกอาจทำการตบตี ทุบตนเองเพื่อแสดงออกมาทางภาษากายแทน
  • เกิดจากประสาทสัมผัส : เด็กบางคนอาจเคลื่อนไหวร่างกาย มีการตีตนเอง เพื่อให้เกิดการกระตุ้นทางพัฒนาการขึ้น ซึ่งเกิดจากการตอบสนองต่อระบบประสาทมากกว่าเด็กทั่วไป เมื่อลูกทำเช่นนี้แล้ว จะทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายขึ้น เมื่อลูกรู้สึกเครียด หรือรู้สึกเหนื่อยล้า
  • พยายามเรียกร้องความสนใจ : การทุบตีตนเองของเด็กเล็ก อาจเป็นเพราะเด็กต้องการความสนใจจากบุคคลรอบข้างมากขึ้น หรือต้องการตลอดเวลา แต่ไม่รู้วิธีว่าตนเองควรแสดงออกแบบไหน เพื่อให้คนรอบข้างมาสนใจ เมื่อเด็กตีตนเอง จนร้องไห้ออกมา ผู้ปกครองจะรีบมาดูแล ทำให้เด็กอาจเข้าใจไปเองว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกต้อง
  • ความผิดปกติของร่างกาย : การแสดงออกด้วยความรุนแรง อาจเป็นผลมาจากการพยายามที่จะสื่อสารว่า ร่างกายของลูกน้อยเกิดความผิดปกติ อาจเกิดจากโรคร้ายที่ส่งผลให้เด็กเล็กเกิดความเจ็บปวด หรือเกิดความรำคาญจนทนไม่ไหว เช่น หูอักเสบ หรือมีการงอกของฟัน เป็นต้น


เมื่อปัญหาเกิดจากพัฒนาการด้านการสื่อสารที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กเล็กไม่รู้จักความรู้สึกของตนเอง และการแสดงออกอย่างถูกต้อง ผู้ปกครองจึงควรมีวิธีรับมืออย่างถูกต้อง เพื่อช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาดังกล่าวให้ได้ประสิทธิภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกชอบ ทะเลาะวิวาท ทั้งกับเพื่อน และพี่น้อง ทำอย่างไรดี ?

วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care

5 วิธีแก้ไขเมื่อทำร้ายตัวเองเวลาโมโห

เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่อันตราย จะต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยทิ้งไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหานี้จะแก้ได้เร็ววัน อาจต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ และความเข้าใจของเด็กแต่ละคนด้วย

1. ไม่กดดันเรื่องพฤติกรรมของลูก

เมื่อลูกโมโหจนทำร้ายตนเอง การตอบสนองของผู้ปกครองอาจแสดงออกไปในทางลบ คือ นอกจากจะรีบเข้าไปห้ามด้วยความเป็นห่วง อาจพยายามบีบเค้นให้ลูกบอกถึงสาเหตุว่าทำไมจึงตัดสินใจแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ออกมา การทำแบบนี้ถือเป็นการกดดันเด็กเล็กอย่างมาก จะทำให้เด็กมีความเครียด และยิ่งต่อต้านมากขึ้น หากเด็กไม่อยากตอบ ก็ควรปล่อยไว้ก่อน แล้วค่อยหาโอกาสพูดคุยกันทีหลัง

2. ไม่ตอบสนองด้วยความรุนแรง

การแสดงออกกับพฤติกรรมของลูกด้วยการใช้ความรุนแรง ทั้งการดุด่า หรือการเข้าไปดึงแขนลูกเพื่อให้หยุดอย่างรุนแรง ไม่ได้เป็นวิธีที่จะทำให้แก้ปัญหาแบบมีประสิทธิภาพ ผู้ปกครองควรให้ความอ่อนโยน พูดจากับลูกดี ๆ ให้ลูกรู้สึกว่าปลอดภัย และเข้าใจว่าผู้ปกครองรักลูกมากแค่ไหน

3. เลี่ยงการใช้เวลากับสื่อที่รุนแรง

สื่อความบันเทิงบางอย่างอาจมีเนื้อหาที่มีความรุนแรง ซึ่งสำหรับเด็กเล็กแล้ว อาจไม่สามารถแยกออก ถึงสิ่งที่ควรทำ หรือไม่ควรทำได้ดีพอ ต้องพึ่งการอธิบายจากผู้ปกครอง โดยเฉพาะเด็กเล็กในยุคนี้ที่อาจใช้เวลาไปกับสื่อออนไลน์มากขึ้น หากไม่มีการควบคุมเนื้อหาอย่างถูกต้อง จะยิ่งทำให้ลูกน้อยมีพฤติกรรมชอบทำร้ายตนเองได้เช่นกัน

4. ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านการสื่อสาร

อย่างน้อยผู้ปกครองต้องพยายามพูดคุยกับลูกน้อยด้วยความอ่อนโยน และไม่ใช้อารมณ์แต่ด้วยความยังเด็กอาจไม่เข้าใจในสิ่งที่เราจะสื่อมากเท่าที่ควร ผู้ปกครองอาจหันมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับลูกน้อยได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่านิทานเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก แล้วให้ลูกทายว่าควรทำอย่างไร ก่อนจะเฉลยการจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ หรือการชวนลูกดูสื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ก็ได้เช่นกัน

ลูกทำร้ายตัวเองเวลาโมโห


5. คอยติดตามดูพฤติกรรมของลูก

การแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป ตามการเรียนรู้ที่ถูกต้องของลูก ซึ่งอาจไม่สามารถทำได้ในเวลาเพียง 1 – 2 วัน ระหว่างที่ลูกน้อยกำลังเรียนรู้ ผู้ปกครองควรคอยดูแล คอยดูพฤติกรรมว่าลูกแสดงพฤติกรรมแบบไหน เมื่อลูกไม่พอใจ หรือมีอารมณ์โกรธ หากพบว่าลูกยังมีพฤติกรรมรุนแรงชอบทุบตีตนเองเหมือนเดิม ควรพาลูกเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา ถึงการแก้ไข เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงเกี่ยวอาการทางจิตเวชได้

สัญญาณเหล่านี้อันตรายพบแพทย์ด่วน !

หากลูกน้อยมีพฤติกรรมทำร้ายตนเองไม่ว่าจะจากอารมณ์โกรธ หรือสถานการณ์ใด ๆ ที่รุนแรงมากเกินไป ไม่ควรรอช้า ให้พบแพทย์ทันที โดยสังเกตได้จากพฤติกรรม ดังนี้

  • ลูกทำร้ายตนเองจนมีรอยช้ำ หรือรอยขีดข่วน แต่ก็ยังคงมีพฤติกรรมแบบเดิมอยู่
  • มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้, เบื่ออาหาร หรือหงุดหงิดง่าย เป็นต้น
  • ถึงแม้จะพยายามพูดคุย หรือใช้กิจกรรมช่วย แต่ลูกไม่ได้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ยังคงทำร้ายตนเองอยู่
  • ลูกพูดได้ช้าลง สื่อสารไม่ค่อยได้ และไม่ค่อยได้ยินคนรอบข้าง
  • มีข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นภาวะ หรือโรคที่ส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการ เช่น โรคออทิสติกสเปกตรัม เป็นต้น


ปัญหาลูกทำร้ายตัวเองเวลาโมโห สิ่งสำคัญในการรับมือ คือ ความใจเย็นต่อลูก เพื่อไม่ให้ลูกเกิดความรู้สึกกดดันต่อต้าน ไม่อยากฟัง ไม่อยากเรียนรู้ จะทำให้การแก้ปัญหายากขึ้นไปอีก และประเด็นหลักจากการเลียนแบบสื่อ อาจมีการพบเจอบ่อยครั้ง ผู้ปกครองจึงต้องระวังในเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเนื้อหาของสื่อที่ควรจำกัดให้กับลูกอยู่เสมอ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ฝึกลูกให้ “แก้ปัญหา” ด้วยตนเองทำได้ไม่ยาก เดี๋ยวเรากระซิบบอกเอง

เมื่อลูกน้อยงอแง ไม่อยากไปโรงเรียน ทำอย่างไรดี ?

ทำไมลูกตัวน้อยจึงชอบ “โกหก” พาคุณพ่อคุณแม่มาหาคำตอบกัน

ที่มา : 1, 2, 3