ลูกหนีออกจากบ้าน ปัญหาหนักใจของพ่อแม่ ที่ควรเริ่มทำความเข้าใจ

เรียกได้ว่าเมื่อพูดถึงปัญหา ลูกหนีออกจากบ้าน มักเป็นปัญหาที่หลายครอบครัวคิดไม่ตก หาเรื่องนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของตนเอง โดยเฉพาะในลูกที่ 

 1282 views

เรียกได้ว่าเมื่อพูดถึงปัญหา ลูกหนีออกจากบ้าน มักเป็นปัญหาที่หลายครอบครัวคิดไม่ตก หาเรื่องนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของตนเอง โดยเฉพาะในลูกที่อยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ พ่อแม่หลายคนอาจจะเกิดความกังวล และไม่รู้ว่าควรจะต้องรับมืออย่างไร หรือต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

วันนี้ Mamastory มีบทความดี ๆ มาฝากค่ะ มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ลูกหนีออกจากบ้าน และควรที่จะทำอย่างไร หากปัญหานี้เกิดขึ้นจริง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่มักชอบพูดว่า “รู้งี้….” เราไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ ว่าควรจะต้องเริ่มตรงไหน

สาเหตุที่ลูกหนีออกจากบ้าน

หลายครอบครัวคงกำลังตั้งข้อสงสัย ว่าการเป็นเด็กนักเรียน จะมีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ลูกหนีออกจากบ้าน และการที่ลูกตัดสินใจทำเช่นนี้ มีต้นตอของปัญหามาจากอะไร มาดูไปพร้อมกันค่ะ

1. บ้านไม่มีความสุข

การที่เด็กคนหนึ่งจะมีความรู้สึกไม่อยากอยู่บ้าน หรืออยากหนีออกไปที่ไกล ๆ อาจจะเกิดมาจากความรู้สึกที่ว่า อยู่บ้านแล้วไม่มีความสุขก็ได้ค่ะ การสังเกตว่าอะไรคือสาเหตุ ที่ทำให้ลูกรู้สึกแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งพ่อแม่อาจจะกดดันลูก หรือบังคับลูกมากเกินไปก็ได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องลดความตึงลง เปลี่ยนให้เป็นบรรยากาศที่ดี เพื่อความอบอุ่นในครอบครัวค่ะ

ลูกหนีออกจากบ้าน



2. ลูกกำลังติดเพื่อน

เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ย่อมมีสังคมเป็นของตัวเองค่ะ อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกหนีออกจากบ้าน ต้องยอมรับว่าอาจจะเป็นเพราะเพื่อนก็ได้ การติดเพื่อนจนมากเกินไป อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกไม่อยากกลับบ้าน อยากจะไปนอนบ้านเพื่อนมากกว่า เพราะความคิดที่ว่า พ่อแม่เพื่อนใจดี ในข้อนี้คุณพ่อคุณแม่ อาจจะต้องใช้วิธีพูดคุย หรือสร้างข้อตกลงมากกว่าการกดดันค่ะ การที่ว่าหรือตำหนิเพื่อนของลูกนั้น อาจจะยิ่งทำให้เรื่องแย่กว่าเดิมก็ได้ค่ะ

3. คนในครอบครัวแต่งงานใหม่

อีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กหนีออกจากบ้าน ไม่พ้นเรื่องงานแต่งงานใหม่ของคนในครอบครัวค่ะ ยิ่งหากบ้านไหนไม่ได้สนิทใจกันเท่าไร อาจจะทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายใจ และไม่รู้สึกว่าบ้านคือพื้นที่ปลอดภัย ไม่อยากกลับมานอนที่บ้าน หากบ้านไหนที่คุณพ่อคุณแม่ ตัดสินใจเริ่มต้นความรักใหม่ เริ่มมีสมาชิกใหม่เข้ามา ได้โปรดอย่าลืมว่ายังมีลูกคนนี้นะคะ ในบางครั้งการพูดคุยด้วยเหตุผล และอธิบายว่าไม่ได้มีการแย่งความรัก หรือความสนใจจากลูกไป อาจจะมีความสุขและเข้าใจกันกว่าเดิมค่ะ

4. การเลี้ยงดูที่ตามใจ

การตามใจลูกเป็นเรื่องดีค่ะ แต่ในบางครั้งที่มากเกินความพอดี ก็อาจจะส่งผลกระทบให้เด็ก กลายเป็นคนที่เอาแต่ใจได้ค่ะ และการเป็นแบบนั้น เมื่อไรที่คุณพ่อหรือคุณแม่ ขัดใจและไม่ตามใจขึ้นมา ลูกอาจจะรู้สึกผิดหวัง และโกรธจนไม่อยากกลับบ้านได้ เพราะเขาอาจจะไม่เข้าใจ ว่าทำไมเขาถึงไม่ได้ตามที่ต้องการ และอาจจะมีพฤติกรรมไม่กลับบ้านได้ ข้อนี้อาจจะปรับยากแต่คุณพ่อคุณแม่ ต้องค่อย ๆ สอนให้ลูกเข้าใจนะคะ การบังคับหรือหักดิบทันที อาจไม่เป็นผลดีกับเด็กทุกคน ข้อนี้อาจจะต้องปรับใช้ตามแต่ละครอบครัวค่ะ

5. เชื่อใจคนแปลกหน้า

ในข้อนี้หากเกิดขึ้นจริง ต้องบอกเลยว่าเป็นสาเหตุที่น่ากลัวที่สุด เพราะหากครอบครัวไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่อยู่ดี ๆ ลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ให้ตั้งข้อสันนิษฐานได้เลยว่าลูกอาจจะกำลัง หลงเชื่อใจคนแปลกหน้าอยู่ จึงมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ข้อนี้อาจจะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมลูกค่ะ อาจจะบอกให้ลูกชักชวนเพื่อน หรือคนสนิทมาทำความรู้จัก เพื่อไม่ให้ห่างไกลสายตา และต้องสอนไม่ให้เชื่อคนง่าย หรือไว้ใจคนอื่นง่ายจนเกินไป

บทความที่เกี่ยวข้อง : 8 วิธีฝึกลูกรับมือเมื่อต้องเผชิญภัยร้ายจาก “คนแปลกหน้า”

ลูกหนีออกจากบ้าน



เมื่อลูกหนีออกจากบ้าน พ่อแม่ควรทำอย่างไร

เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้ว การมานั่งโทษตัวเอง หรือโทษลูกอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าทำเท่าไรค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากบ้านไหนที่รู้สาเหตุแล้ว ว่าการที่ลูกออกจากบ้านไปเป็นเพราะอะไร พ่อแม่ควรทำความเข้าใจ และหาวิธีรับมือ เพื่อพูดคุยให้เข้าใจกันดีกว่าค่ะ

1. พูดคุยกันด้วยเหตุผล

การหนีออกจากบ้านไม่ใช่เรื่องดี และลูกก็รู้ค่ะว่าเป็นเรื่องที่สร้างความเสียใจ แต่การที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ใช่การดุด่า หรือตำหนิให้รู้สึกเสียใจ เพราะปัญหานี้อาจจะไม่ได้เกิดแค่เฉพาะที่ตัวเด็กเป็นคนสร้าง คนในครอบครัวอาจจะเป็นปัจจัย หรือเป็นสาเหตุทางอ้อมก็ได้ การพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล หรือถามความไม่สบายใจ อาจจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า เด็กทุกคนหากได้รับคำตอบ หรือได้รับความสบายใจ ย่อมเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วค่ะ การอธิบายหรือการพร้อมรับฟังลูก และเปลี่ยนมุมมอง เพิ่มอิสระให้ความสบายใจทั้งสองฝ่าย ถึงอาจจะใช้เวลาในการปรับตัวนาน เชื่อว่าในอนาคตต้องเป็นไปได้ดีค่ะ

2. เอาใจใส่ลูกอยู่เสมอ

เด็ก ๆ ที่เกิดการตัดสินใจหนีออกจากบ้าน อาจจะมาจากความผิดหวังซ้ำซากก็ได้ค่ะ ในบางครอบครัวที่มีการสัญญา หรือมีการรับปากอะไร เมื่อทำไม่ได้ตามตกลง ลูกอาจจะเสียใจและไม่อยากกลับบ้านได้ บางครอบครัวอาจจะได้ลูกที่มีนิสัยเป็นผู้ใหญ่เกินตัว หรือลูกอาจจะเป็นคนที่ไม่พูด ประกอบกับพ่อแม่เห็นว่าลูกดูแลตัวเองได้ จึงเกิดความละเลยได้ การเอาใจใส่ลูกสม่ำเสมอ ไม่ทำให้ลูกรู้สึกโดดเดี่ยว หรือไม่ทำให้ลูกเหมือนรู้สึกว่า ตัวเองเป็นตัวคนเดียว ไม่มีใครรักใครสนใจ น่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กว่าค่ะ

3. สังเกตพฤติกรรมของลูก

การเอะใจคิดว่าลูกเป็นแบบนี้เพราะอะไร โดยที่พ่อแม่ให้พื้นที่ส่วนตัวของลูกด้วย ย่อมเป็นเรื่องที่ดีระหว่างครอบครัวค่ะ การสังเกตว่าลูกเป็นอะไร เกิดอะไรขึ้น มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเพราะอะไร คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องหมั่นซักถาม หรือคอยเอาใจใส่มากขึ้น เพราะการปล่อยลูกไปโดยคิดว่า เรื่องแค่นี้ไม่เป็นอะไรหรอก อาจจะเป็นตามช่วงวัย ในอนาคตอาจจะเป็นปัญหาที่หนักขึ้นได้ การพูดคุยเรื่องประจำวัน เพื่อนในห้องเรียน หรือเรื่องความรัก ความชอบ อนาคต และความฝันของลูก จะช่วยให้ลูกมีความเข้าใจ และแก้ปัญหาการหนีออกจากบ้านได้ค่ะ เพราะลูกจะรู้สึกว่า ไม่มีที่ไหนปลอดภัยและเข้าใจได้เท่าที่บ้าน

4. อธิบายทุกเรื่องให้ลูกฟัง

ในบางครั้งการหลงลืมนัดสำคัญ หรือการเก็บความทุกข์ ปัญหาที่เกิดขึ้นไว้ และจำกัดความว่าเรื่องของผู้ใหญ่ อาจจะทำให้เด็กรู้สึกถึงช่องว่างระหว่างครอบครัวได้ค่ะ ในช่วงแรกอาจจะไม่เป็นอะไร แต่ถ้าหากร้ายกว่านั้น ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่จำเป็นกับครอบครัว ก็อาจจะเป็นชนวนการหนีออกจากบ้านได้ การอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้น หรือพูดคุยถึงความไม่สบายใจของพ่อแม่ ย่อมเป็นการแลกเปลี่ยนที่ดี ไม่เป็นการสร้างความอึดอัดให้กันและกันค่ะ

ลูกหนีออกจากบ้าน



5. ไม่ทำตัวห่างเกินใส่กันและกัน

จริงอยู่ที่ต่างคนต่างวัย ก็ต่างมีสังคมและโลกส่วนตัวของตัวเอง การที่ปล่อยลูกไว้อย่างนั้น อาจจะสร้างความห่างเหิน การวางตัวไม่ถูก หรือไม่รู้จะคุยอะไรกันได้ การมีกิจกรรมร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน ย่อมเป็นเรื่องที่ดีค่ะ อาจจะมีการตั้งกฎห้ามเล่นโทรศัพท์ระหว่างมื้ออาหาร, ดูหนังด้วยกันทุกวันสุดสัปดาห์ หรือการไปซื้อของเข้าบ้านพร้อมหน้าพร้อมตา ก็เป็นการลดช่องว่างที่ทำให้ลูกไม่ห่างเหินได้ค่ะ ที่สำคัญการเอาใจใส่ หมั่นอยู่ด้วยกัน จะสร้างนิสัยให้ลูกติดบ้าน และอยากอยู่แต่บ้านเพิ่มขึ้นค่ะ

ในข้อปฏิบัติต่าง ๆ หรือสาเหตุการหนีออกจากบ้านของลูก บางครอบครัวอาจจะมีสาเหตุ และวิธีรับมือที่ต่างกันไปค่ะ เพราะโดยปกติแล้ว พื้นฐานการเลี้ยงดูของแต่ละคน ย่อมต่างกันออกไป ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวหรือหนังสือเรียนที่แน่นอนค่ะ มีเพียงแนวทางหรือสาเหตุเบื้องต้นเท่านั้น ทุกคนในครอบครัวควรเพิ่มการพูดคุย หรือทำความเข้าใจกันและกันเพิ่มขึ้น ไม่แบ่งแยกหรือสร้างบาดแผลทางใจ จนกลายเป็นสาเหตุการหนีออกจากบ้านค่ะ

อีกเรื่องที่สำคัญเลย หากพ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นแบบไหน ย่อมต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก บ้านที่เต็มไปด้วยความสุข การอยู่บ้านของเด็ก ๆ ก็จะเต็มไปด้วยความสบายใจ และอยากอยู่บ้านมากขึ้น บ้านไหนที่คุยแล้วเป็นต้องทะเลาะ อยู่แล้วมีแต่เสียงกรนด่า ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะทำให้บ้าน เป็นสถานที่แห่งความสุขค่ะ สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ จะกลายเป็นทั้งประโยชน์และโทษ ที่จะทำให้เด็กเกิดความคิด และการตัดสินใจที่ทั้งดีและไม่ดีไปพร้อมกัน

บ้านไหนที่ไม่ต้องการให้ปัญหาการหนีออกจากบ้าน เกิดขึ้นกับลูกของตัวเอง อย่าลืมหันไปกอดลูกและชื่นชมเขาบ่อย ๆ นะคะ เพราะการถูกชื่นชม โดยคนในครอบครัว เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สร้างเสริมความเข้าใจกันและกัน และบ้านก็จะมีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ลูกชอบ “กลั่นแกล้ง” เพื่อน สอนลูกอย่างไรไม่ให้รังแกผู้อื่น?

ลูกชอบ ทะเลาะวิวาท ทั้งกับเพื่อน และพี่น้อง ทำอย่างไรดี ?

ลูกชอบอยู่คนเดียว เก็บตัวเงียบ ไม่ชอบเข้าสังคม ทำอย่างไรดี?

ที่มา : 1