ลูกชอบ “กลั่นแกล้ง” เพื่อน สอนลูกอย่างไรไม่ให้รังแกผู้อื่น?

เมื่อลูกต้องเข้าโรงเรียน เด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยอาจแกล้งเพื่อนบ่อย ๆ เพื่อใช้เป็นที่ระบายความคับข้องใจของตัวเอง ซึ่งส่วนใ 

 1210 views

เมื่อลูกต้องเข้าโรงเรียน เด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยอาจแกล้งเพื่อนบ่อย ๆ เพื่อใช้เป็นที่ระบายความคับข้องใจของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมเหล่านี้ มักมาจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูที่โรงเรียน หากลูกเริ่มมีพฤติกรรมที่รุนแรงกับผู้อื่น ก็อาจส่งผลให้เด็กติดนิสัยชอบแกล้ง และใช้ความรุนแรงได้ วันนี้ Mama Story จะพาคุณแม่ทุกท่านมาดูกันว่า ลูกชอบ กลั่นแกล้ง ผู้อื่น มีวิธีปรับพฤติกรรมของเด็กอย่างไรบ้าง พร้อมแล้ว ไปดูกันค่ะ

สัญญาณเตือนลูกชอบกลั่นแกล้ง

เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น เขาอาจเริ่มดื้อ เกเร และชอบรังแกเด็กคนอื่น คุณแม่จึงควรรับมือกับพฤติกรรมเหล่านี้ โดยการสังเกตก่อนว่าลูกดื้อ หรือก้าวร้าวหรือไม่ เรามาดูสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกชอบกลั่นแกล้ง รังแกคนอื่นกันค่ะ

1. โยนความผิดให้คนอื่น

การที่ลูกมีพฤติกรรมแกล้งคนอื่น หรือเป็นเด็กเกเร ลูกจะชอบโยนความผิดให้คนอื่น และไม่แสดงพฤติกรรมรับผิดชอบ เพราะกลัวว่าตัวเองจะถูกดุว่า จึงโยนความผิดให้กับคนอื่น หรือหาสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากตัวเอง เพราะฉะนั้น เวลาที่ลูกแกล้งคนอื่น คุณแม่อาจต้องถามสาเหตุ หากลูกโยนความผิดให้เพื่อน ก็อาจเป็นไปได้ว่าลูกอาจมีพฤติกรรมที่ชอบกลั่นแกล้ง

2. เล่นกับเพื่อนแรง

หากลูกเริ่มพฤติกรรมที่รุนแรง เช่น การเล่นกับเพื่อน ตีเพื่อน หรือแกล้งเพื่อนแรง ๆ อารมณ์เสีย หงุดหงิด มีการกรีดร้อง หรือเริ่มทำร้ายร่างกายคนอื่น ก็อาจเป็นสัญญาณที่ว่าลูกชอบกลั่นแกล้งผู้อื่นได้ ดังนั้นหากคุณแม่เห็นว่าลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้ ต้องรีบแก้พฤติกรรมด่วน โดยอาจให้ลูกขอโทษเพื่อน และสอนว่าห้ามใช้กำลังที่รุนแรง หรือห้ามแกล้งเพื่อน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกชอบ ทะเลาะวิวาท ทั้งกับเพื่อน และพี่น้อง ทำอย่างไรดี?

กลั่นแกล้ง

3. ชอบเล่นเกมที่มีความรุนแรง

แม้ว่าเกมบางเกมจะเป็นประโยชน์ในการเรียน และช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูก แต่เกมที่มีเนื้อหารุนแรง ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกชอบแกล้งผู้อื่น หรือมีพฤติกรรมที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะเกมชกต่อย หรือเกมต่อสู้ หากลูกยังเด็กก็อาจเสี่ยงที่จะเลียนแบบพฤติกรรมได้ คุณแม่จึงควรเลือกเกมที่เหมาะสมให้กับลูก และสอนลูกว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ไม่ควรทำ นอกจากนี้ คุณแม่อาจเบี่ยงเบนความสนใจให้ลูกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน ก็จะช่วยป้องกันพฤติกรรมการชอบใช้กำลังได้ค่ะ

4. ชอบแข่งขัน

อีกหนึ่งพฤติกรรมที่ทำให้เด็กเป็นคนเกเร ชอบรังแกผู้อื่น อาจเกิดมาจากพฤติกรรมที่ชอบแข่งขัน หากลูกมีนิสัยไม่ยอมรับผลการตัดสิน ไม่รู้แพ้รู้ชนะ และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว พูดจาไม่ดี ทุกครั้งหลังพ่ายแพ้ ก็อาจเป็นสัญญาณที่ลูกชอบแกล้งผู้อื่นได้ คุณแม่จึงควรสอนลูกให้รู้จักแพ้ และรู้จักน้ำใจนักกีฬา เพื่อให้ลูกยอมรับผลตัดสิน และไม่ไปรังแกเด็กคนอื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง : บูลลี่ ปัญหาที่พบเจอได้ไม่ยาก ทำอย่างไรให้ลูกหลุดพ้นจากการบูลลี่

กลั่นแกล้ง

5. เพื่อนของลูกเป็นเด็กนิสัยไม่ดี

การที่ลูกมีเพื่อนที่นิสัยไม่ดี ชอบรังแกเด็กคนอื่น ก็อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้ลูกชอบแกล้งเพื่อนได้ อย่างไรก็ตาม การห้ามลูกให้เลิกคบเพื่อน อาจเป็นสิ่งที่ยาก เพราะโดยทั่วไปแล้ว เด็กในวัยเรียนมักมีพฤติกรรมที่ทั้งดี และไม่ดี ทางที่ดีคุณแม่ควรสอนลูกให้คบเพื่อนหลาย ๆ คน และควรเตือนลูกเวลาเพื่อนคนนั้นชวนไปทำสิ่งที่ไม่ดี คอยเป็นเพื่อนลูกอีกคน และสอนลูกให้อย่าใช้อารมณ์ เพื่อให้ลูกรู้ว่ามีพ่อแม่คอยรับฟังอยู่ข้าง ๆ เสมอ

วิธีปรับพฤติกรรมเมื่อลูกชอบแกล้งคนอื่น

เด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมชอบรังแก และกลั่นแกล้งผู้อื่น เพราะอยากเป็นที่รัก และเป็นที่สนใจ นอกจากนี้ อาจเกิดความเครียดจากเรื่องในบ้าน หรือที่โรงเรียนจนนำความเก็บกดไปลงที่เด็กคนอื่น เรามาดูวิธีปรับพฤติกรรมเมื่อลูกชอบแกล้งคนอื่นกันค่ะ

1. สอนลูกให้เข้าใจผู้อื่น

คุณแม่สามารถสอนลูกให้รู้จักอารมณ์ของตัวเอง และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ โดยอาจตั้งคำถามที่เกี่ยวกับความรู้สึกของลูก เช่น “ถ้ามีคนมาทำแบบนี้กับหนู หนูจะรู้สึกอย่างไร” เพื่อให้ลูกรู้จักคิด และเข้าใจหัวอกของผู้ที่ถูกรังแก โดยเมื่อเด็กเริ่มคิดได้ คุณแม่อาจย้ำกับลูกว่า ไม่ควรทำเช่นนี้ ให้รู้จักพูดคุย และแบ่งปันกัน ก็จะช่วยให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ค่ะ

2. สนใจพฤติกรรมที่ดีของลูก

เมื่อลูกทำพฤติกรรมที่ดี เช่น ทำการบ้านด้วยตัวเอง ทำงานบ้าน ตื่นตรงเวลา หรือช่วยเหลือผู้อื่น คุณแม่ควรชมเชยลูกอย่างจริงใจ หรือให้ของขวัญเขาเล็กน้อย เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าการทำความดี เป็นเรื่องที่ดี แต่หากลูกเริ่มพฤติกรรมที่ไม่ดี คุณแม่อาจเพิกเฉยลูกสักพัก แล้วให้ความสนใจกับเด็กที่ถูกรังแก เพราะเมื่อลูกเห็นว่าตัวเองถูกเพิกเฉยบ่อย ๆ ก็จะทำให้เด็กรู้สึกว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่เป็นที่ยอมรับนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง : ชื่นชมลูก อย่างไร? ให้ถูกวิธี และไม่ทำให้เด็กหลงตัวเอง

กลั่นแกล้ง

3. สอนลูกให้รู้จักควบคุมอารมณ์

หากคุณแม่พบว่าลูกแกล้งเพื่อน หรือแสดงความรุนแรงอื่น ๆ กับเพื่อน เพราะความโกรธ คุณแม่ต้องสอนลูกให้รู้จักควบคุมอารมณ์ เพื่อไม่ให้ลูกไปทำร้ายผู้อื่น เช่น ให้ลูกใจเย็น ๆ นับ 1-10 หรือให้ลูกได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อระบายอารมณ์ เช่น การเล่นกีฬา เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ และไม่แกล้งเพื่อน หรือระบายอารมณ์กับผู้อื่นค่ะ

4. หากิจกรรมให้ลูกทำ

การหากิจกรรมให้ลูกทำ เป็นการช่วยให้ลูกได้ปลดปล่อยความในใจ และระบายอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสม เมื่อลูกมีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ก็จะช่วยให้เข้าได้พบเพื่อนใหม่ ๆ และรู้จักปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น นอกจากนี้ คุณแม่อาจมองหาจุดเด่นในตัวลูก และสนับสนุนให้ลูกได้พัฒนาความสามารถของตัวเอง เช่น การเล่นดนตรี การเล่นกีฬา หรือศิลปะ เป็นต้น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจลูกไม่ยังสิ่งที่ชอบ และช่วยให้ลูกมีจิตใจที่อ่อนโยนลง

บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 เทคนิค เลี้ยงลูกอย่างไรให้ฉลาด อารมณ์ดี เป็นอัจฉริยะ

กลั่นแกล้ง

5. เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก

เด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และชอบกลั่นแกล้งผู้อื่น มาจากครอบครัวที่ชอบใช้ความรุนแรง หรือชอบแกล้งลูก ดังนั้นคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้เขา ไม่แกล้งลูก ใช้ความรุนแรงต่อหน้าเด็ก หรือล้อเลียนเขา ที่สำคัญคุณแม่ไม่ควรแกล้งลูก หรือหากจะแกล้ง ก็อาจหยอกลูกเล่นมากกว่า วิธีนี้ก็จะช่วยป้องกันให้ลูกเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านี้ได้ค่ะ

หากคุณแม่สังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมที่ชอบกลั่นแกล้ง รังแก หรือใช้กำลังกับเด็กคนอื่น ควรสอนลูกให้รู้จักขอโทษ และควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ที่สำคัญคุณแม่ไม่ควรต่อว่าลูกนะคะ ควรสอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นมากกว่า และสนับสนุนให้กิจกรรมที่เขาถนัด วิธีเหล่านี้จะช่วยให้ลูกค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมของเขาให้เป็นเด็กที่รู้จักควบคุมอารมณ์ และมีจิตใจที่อ่อนโยนมากขึ้น

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

5 วิธีแก้ปัญหาเมื่อ ลูกทำร้ายตัวเองเวลาโมโห ก่อนสายเกินไป

วิธีลงโทษลูก ลงโทษอย่างไร?  เพื่อให้เขาเข้าใจ และไม่ทำผิดอีก

6 วิธีแก้ปัญหาลูกน้อยไม่ยอม “ขอโทษ” เมื่อตนเองทำความผิด แก้ได้แต่ต้องเข้าใจ

ที่มา : 1, 2, 3, 4