การเลี้ยงลูกเชิงรุก คืออะไร ต่างกับการเลี้ยงแบบอื่นอย่างไร ?

เลี้ยงลูกแบบไหนให้ได้ประสิทธิภาพลูกไม่ดื้อ เข้าใจเหตุผลมากขึ้น ต้องเลี้ยงแบบเชิงรุก การเลี้ยงลูกเชิงรุก คืออะไร เลี้ยงแบบไหน ยากไหม ผู้ปกค 

 1155 views

เลี้ยงลูกแบบไหนให้ได้ประสิทธิภาพลูกไม่ดื้อ เข้าใจเหตุผลมากขึ้น ต้องเลี้ยงแบบเชิงรุก การเลี้ยงลูกเชิงรุก คืออะไร เลี้ยงแบบไหน ยากไหม ผู้ปกครองต้องอ่านเพื่อทำความเข้าใจ



การเลี้ยงลูกเชิงรุก คืออะไร ?

หลักการเลี้ยงลูกเชิงรุกนี้ เป็นแนวคิดทางจิตวิทยาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ที่มีต้นกำเนิดมาจาก “Dr.Ross Greene” นักจิตวิทยาเด็ก ชาวอเมริกัน โดยใช้นิยามที่ว่า “การลงโทษไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กที่ดีที่สุด” โดยแนวคิดการเลี้ยงลูกแบบเชิงรุก เป็นการให้ผู้ปกครอง และลูกช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกัน มากกว่าการทำโทษเมื่อลูกทำผิด เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองผิดทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่เขาอาจไม่เข้าใจเหตุผล เขารู้แค่เพียงว่าเขาผิดจึงถูกลงโทษเท่านั้น แม้ว่าปัญหาหลายอย่างอาจมีส่วนที่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบด้วยก็ตาม


แนวคิดการเลี้ยงลูกแบบเชิงลึกของ Dr.Ross Greene ยังต่อต้านการลงโทษที่ในปัจจุบันนิยมใช้กัน เช่น การทำโทษลูกแบบ Time out (การแยกลูกออกไปนั่งคนเดียวเพื่อสงบอารมณ์), การกักพื้นที่เด็ก หรือการตี เป็นต้น ซึ่ง Dr.Ross Greene ได้อธิบายว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีเหล่านี้ เป็นการใช้อำนาจของผู้ปกครอง ซึ่งพอทำแล้วผู้ปกครองจะรู้สึกว่าตนเองเอาชนะเด็กได้ ควบคุมเด็กได้ ทั้ง ๆ ที่ลึก ๆ แล้วในใจของเด็กอาจเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจ ไม่ชอบ แต่ก็ต้องยอมรับเพราะการลงโทษ จนทำให้เด็กโตมามีพฤติกรรมต่อต้าน หรือทำตัวเหินห่างกับผู้ปกครองในที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีลงโทษลูก ลงโทษอย่างไร? เพื่อให้เขาเข้าใจ และไม่ทำผิดอีก



วิดีโอจาก : Mission To The Moon

3 วิธีการเลี้ยงลูกเชิงรุกให้ได้ผล

รูปแบบหลักการเลี้ยงลูกด้วยวิธีนี้ คือ อาศัยการเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นการพบกันครึ่งทางของผู้ปกครอง และลูกรัก เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ และรู้จักซึ่งกันและกัน นำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้



1. เข้าหาลูก ถึงลูกจะไม่ได้ร้องขอ

การเข้าหาลูกที่ว่านี้ คือ การหาโอกาสเข้าไปพูดคุยกับลูก โดยมีหัวข้อหลัก คือ การถามเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวลูก ยิ่งถ้าลูกอยู่ในวัยเรียนยิ่งต้องทำให้มาก เช่น ถามว่าเรียนเป็นอย่างไรบ้าง ชอบวิชาไหน ไม่ชอบวิชาไหนพร้อมเหตุผล มีใครแกล้งที่โรงเรียนไหม มีเพื่อนมากไหม มีใครบ้าง เป็นต้น หากทำแต่เนิ่น ๆ การเข้าไปพูดคุยกับลูกจะกลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้ลูกผ่อนคลายมากขึ้น หากอยากปรึกษาปัญหากับผู้ปกครอง นอกจากนี้การรู้จักลูกมากขึ้น จะทำให้ผู้ปกครองมีโอกาสรู้ว่าตอนนี้ลูกกำลังพบเจอกับอะไรบ้าง เมื่อมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา จะได้เตรียมป้องกัน หรือรับมือได้ทัน



การเลี้ยงลูกเชิงรุก คืออะไร


2. ใส่ใจแม้เรื่องเล็กน้อย

เรื่องเพียงเล็กน้อยก็มีประโยชน์มาก ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ปกครอง และลูก ๆ อาจมีระยะห่าง หรือมีความไม่เข้าใจกันในแง่ของมุมมองต่อปัญหาที่กำลังเผชิญ มาจากความแตกต่างของช่วงวัย ด้วยปัญหาเล็กน้อยของลูก สำหรับคนโตแล้วอาจมองเป็นเรื่องเล็ก ไม่สำคัญ เดี๋ยวก็ผ่านไป หรือสามารถแก้ปัญหาได้ง่าย ๆ


แต่ในมุมมองของเด็กนั้นต่างกัน พวกเขาอาจมองว่าปัญหาเล็ก ๆ ของผู้ปกครองมันใหญ่สำหรับพวกเขา เพราะพวกเขาไม่ได้มีประสบการณ์มาก ไม่ได้เผชิญโลกมาหลายสิบปีจนแก้ปัญหาได้ง่าย ๆ ดังนั้นผู้ปกครองควรต้องใส่ใจในเรื่องเล็กน้อยที่ลูกกำลังเผชิญอยู่เสมอ



3. แก้ปัญหาด้วยการปรึกษากัน

การแก้ปัญหาด้วยรูปแบบการเลี้ยงลูกแบบเชิงรุกนั้น เป็นการช่วยกันแก้ปัญหา ด้วยการหารือพูดคุยถึงปัญหา สาเหตุ ผลกระทบ และขั้นตอนในการแก้ปัญหาโดยให้ลูกมีส่วนออกแสดงความคิดเห็นร่วมด้วย การเลี้ยงลูกแบบเชิงรุกจะต้องสนใจความคิด คำแนะนำของลูก มีการหาจุดกึ่งกลางในการแก้ปัญหา หากลูกแสดงความคิดเห็นแล้วไม่ถูกต้อง ผู้ปกครองก็ต้องบอกสาเหตุว่าทำไมจึงแก้ปัญหาแบบนั้นไม่ได้ การเลี้ยงลูกแบบนี้จะได้ผลเมื่อสามารถได้วิธีแก้ปัญหาของลูก ในมุมมองที่ลูกเห็นด้วย และยอมรับนั่นเอง


อย่างไรก็ตาม Dr.Ross Greene ได้แนะนำว่า ช่วงขั้นตอนของการแก้ปัญหาร่วมกัน ผู้ปกครองควรรอให้เวลาผ่านไปก่อน ไม่ควรรีบนำลูกมาพูดคุยหากมีการทะเลาะกัน เพราะจะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายอาจถกเถียงกันมากขึ้น ควรหาโอกาสในการพูดคุยกันเมื่อทั้งลูก และผู้ปกครองมีอารมณ์ดีขึ้นแล้ว



การเลี้ยงลูกเชิงรุก คืออะไร 4


ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกแบบเชิงรุก

  • การเข้าใจและยอมรับมากขึ้น : การช่วยกันแก้ปัญหา ฟังสิ่งที่ลูกคิด หาวิธีร่วมกัน จนได้วิธีแก้ปัญหาออกมา จะทำให้ลูกยอมรับในการแก้ปัญหาแบบนี้ มากกว่าการถูกผู้ปกครองลงโทษโดยตรงด้วยการใช้อำนาจ เนื่องจากวิธีแก้ปัญหาแบบการเลี้ยงลูกเชิงรุก มีแนวคิดของลูกรวมอยู่ด้วย พวกเขาจะยอมรับมันมากขึ้นแน่นอน
  • ทำให้ลูกเข้าใจเหตุ และผล : เมื่อลูกโดนดุ ลูกจะกลัวและไม่ทำอีก แต่ลูกจะไม่รู้ว่าทำไมสิ่งที่เขาทำจึงไม่ถูก เข้าใจเพียงว่าไม่ควรทำเท่านั้น แต่การเลี้ยงลูกแบบเชิงรุก จะให้น้ำหนักไปที่การพูดคุยเป็นหลัก ดังนั้นแทนที่ลูกจะไม่ทำพฤติกรรมต่าง ๆ เพราะกลัว จะกลายเป็นว่าลูกมีความเข้าใจมากขึ้น กล้าที่จะถามว่าทำไมผิด มีการเรียนรู้และเข้าใจมากกว่าเดิม
  • ฝึกลูกให้เข้าใจผู้อื่น : การเข้าหาพูดคุยกัน มองปัญหาของอีกฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นวิธีแสดงออกถึงความพยายามที่จะเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เป็นคุณสมบัติที่ลูกจะสามารถเรียนรู้ได้ จากการเลี้ยงลูกแบบเชิงรุกนี้


แม้ว่าจะรู้แล้วว่า การเลี้ยงลูกเชิงรุก คืออะไร แต่การจะทำนั้นไม่ง่ายเลย ผู้ปกครองจะต้องใช้ความพยายาม และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกรักต่อต้าน ควรเลี้ยงลูกด้วยวิธีนี้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ง่ายกว่าการนำไปใช้กับเด็กที่เริ่มโตแล้ว



บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ปัญหา “โลกส่วนตัวสูง” ไม่ใช่โรค ช่วยลูกปรับตัวได้ด้วยการยอมรับ และความเข้าใจ

ชื่นชมลูก อย่างไร ? ให้ถูกวิธี และไม่ทำให้เด็กหลงตัวเอง

เมื่อลูกน้อยงอแง ไม่อยากไปโรงเรียน ทำอย่างไรดี ?

ที่มา : 1, 2