คุณแม่ที่กำลังอ่านบทความนี้แน่นอนว่าคงอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์อย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นไตรมาสสุดท้าย เป็นคุณแม่ท้องแก่ที่ใกล้คลอดในอีกไม่นานหลังจากนี้ ในช่วงนี้พัฒนาการของทารกจะเป็นอย่างไร อาการอะไรบ้างที่คุณแม่อาจต้องเจออย่างเลี่ยงไม่ได้ และจะดูแลตนเองอย่างไรดี บทความนี้จะพาคุณแม่ไปหาคำตอบกัน
คุณแม่ตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์ภาพรวมเป็นอย่างไร ?
ช่วงตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 31 เป็นช่วงของไตรมาสที่ 3 แล้ว อีกไม่กี่อาทิตย์ทารกน้อยก็จะได้ลืมตาออกมามองดูโลก ในช่วงนี้ทารกจึงมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อวัยวะต่าง ๆ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบรับการดำรงชีวิตด้วยอวัยวะของตนเองหลังคลอด ส่วนคุณแม่อาจต้องเจอกับอาการบางอย่างที่มากขึ้นทั้งอาการท้องแข็ง, ปวดหลัง หรือเหนื่อยล้าง่ายขึ้นกว่าเดิม ต้องให้ความสำคัญกับการพักผ่อน และการเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในท้องที่คุณแม่ต้องรู้ !
วิดีโอจาก : PRAEW
พัฒนาการตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์
ในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ ทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการระบบพื้นฐานต่อการดำรงชีพที่ชัดเจนขึ้น เกือบจะสมบูรณ์แล้ว เป็นไปตามอายุครรภ์ที่ทารกใกล้จะคลอด อีกทั้งในช่วงสัปดาห์ที่ 31 นี้ ทารกจะเคลื่อนไหว และดิ้นมากขึ้นจากขนาดตัว และอวัยวะที่ชัดเจน ซึ่งมีพัฒนาการครรภ์ต่าง ๆ ดังนี้
- ในช่วงสัปดาห์ที่ 31 ทารกในครรภ์จะสามารถเริ่มขยับหัวหมุนไปด้านข้างได้แล้ว ทารกจะเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วมากยิ่งขึ้น ทารกเคลื่อนไหวด้วยการด้วยการเตะ และกลับตัวขึ้น ๆ ลง ๆ ทำให้สามารถสังเกตอาการลูกดิ้นได้มากกว่าเดิม หากยิ่งทารกดิ้น หรือเตะมากแปลว่าทารกมีความสมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้นตามไปด้วย
- น้ำหนักของทารกในครรภ์ตอนนี้จะเพิ่มมากกว่า หากเทียบกับการเติบโตด้านความยาวของขนาดตัว โดยขนาดความยาวจะประมาณ 16 – 17 นิ้ว และมีน้ำหนักตัว ประมาณ 1.6 กิโลกรัม ทำให้คุณแม่ช่วงท้องแก่นี้ ต้องเผชิญกับน้ำหนักของหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้นมาก
- ระบบสืบพันธุ์ของทารกจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หากเป็นลูกชายส่วนของอัณฑะจะเคลื่อนตัวลงมาผ่านขาหนีบไปยังถุงอัณฑะแล้ว ส่วนลูกสาวปุ่มคลิตอริสจะเริ่มปรากฏ อย่างไรก็ตามในเรื่องเพศของทารกนี้คุณแม่อาจรู้ได้ตั้งแต่ช่วงประมาณไตรมาสที่ 2 แล้ว
- ระบบหายใจ ส่วนของปอดทารกจะพัฒนาขึ้นจนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว ซึ่งถุงลมในปอดสามารถหลั่งสารลดแรงตึงผิวออกมา จุดประสงค์เพื่อช่วยให้ถุงลมคงรูป ไม่แฟบติดกันนั่นเอง ระบบหายใจที่พัฒนาไปมาก สะท้อนให้เห็นว่าอีกไม่นานทารกจะมีความพร้อมต่อการหายใจเองหลังคลอด
- ทารกจะมีไขมันมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะส่วนของแขน และบริเวณขา รวมไปถึงลำตัวเริ่มมีไขมันสะสมมากขึ้น ทำให้ผิวไม่ค่อยเหี่ยวย่นเหมือนช่วงแรก ๆ แล้ว
อาการของแม่ท้องสัปดาห์ที่ 31 เป็นอย่างไร ?
สำหรับอาการของแม่ท้องในช่วงนี้ จะมีอาการเกี่ยวกับร่างกายที่มากขึ้นตามลำดับอายุครรภ์ โดยเฉพาะอาการเหนื่อยล้า ต้องการพักผ่อน หรืออาการปวดหลังที่มากขึ้นกว่าเก่า บางรายอาจเจอเจ็บท้องหลอกด้วย สรุปได้ดังนี้
- คุณแม่ท้องจะมีอาการปัสสาวะบ่อยมากขึ้นกว่าไตรมาสอื่น ๆ เนื่องมาจากมดลูกที่ใหญ่ขึ้นได้ไปดันกระเพาะอาหาร และระบบปัสสาวะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลทำให้มีพื้นที่ในการเก็บปัสสาวะน้อยลง เป็นการกระตุ้นให้ต้องการปัสสาวะมากขึ้นระหว่างวันนั่นเอง
- คนท้องบางคนอาจมีอาการขี้หลงขี้ลืมได้ เพราะการหดตัวของเซลล์สมองในคนท้องไตรมาสที่ 3 จนส่งผลต่อการทำงานของสมองระดับหนึ่ง แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เนื่องจากจะกลับมาเป็นปกติได้เอง หลังจากที่คุณแม่คลอดทารกน้อยออกมาแล้ว
- อาการปวดหลัง หนึ่งในอาการที่เจอได้เป็นปกติในคนท้องแก่ เนื่องจากร่างกายต้องคอยรับรองน้ำหนักตอนท้องที่มากขึ้นเรื่อย ๆ และอาการอาจรุนแรงมากที่สุดช่วงไตรมาสที่ 3
- ท้องของคุณแม่อาจแข็งมากขึ้น เนื่องมาจากการบีบรัด และหดเกร็ง ของมดลูก คล้ายอาการของคนใกล้คลอดแต่เป็นแบบหลอก จนรู้สึกไม่สบายตัวเล็กน้อย แต่ไม่มีความอันตรายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามยังต้องคอยระวัง เพราะบางครั้งอาจเป็นสัญญาณของการคลอดได้หากอายุครรภ์แก่กว่านี้
- มีอาการปวดหัวบ่อยจะเป็น ๆ หาย ๆ หากคุณแม่รู้สึกว่าตนเองปวดมากให้พักผ่อน เช่น การนอนหลับ หรือทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ ครรภ์เกินกำหนด ทำอย่างไรดี ?
การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงนี้
สิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ท้องแก่ คือ เมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 ต่อให้ยังไม่ใกล้กับกำหนดคลอดก็ควรเตรียมพร้อมไว้ก่อน ควรเตรียมกระเป๋าสำหรับคุณแม่เอาไว้เผื่อฉุกเฉินจะได้ไม่ต้องห่วงเรื่องของใช้ และต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของครรภ์ด้วย โดยเฉพาะสัญญาณที่บ่งบอกถึงการคลอด แม้จะยังไม่ถึงกำหนดก็ตาม ในระยะนี้หากมีความผิดปกติใด ไม่ควรนิ่งเฉย ควรเข้าพบแพทย์เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน
ในส่วนของการใช้ชีวิตประจำวัน คุณแม่ท้องต้องเคลื่อนไหวช้า ๆ ไม่วิ่ง ลงบันไดก็ต้องจับราวเสมอ ไม่ควรใส่ส้นสูง และออกกำลังกายที่ช่วยให้ตนเองรับมือกับอาการปวดหลังได้ดี เช่น การเล่นโยคะ เป็นต้น นอกจากนี้ช่วงกลางคืนที่นอนหลับลำบากเพราะไม่สบายตัวจากขนาดหน้าท้อง ควรเอาหมอนมารองท่าที่สบายที่สุด และหากอ่อนเพลียในตอนกลางวันก็อย่าฝืน ให้นอนพักผ่อนได้เลย
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 31 อาจมีความตื่นเต้นที่จะได้เจอหน้าทารกน้อย แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะดูแลตนเอง เพื่อให้ทารกในครรภ์มีความสมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้นด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 3
เจ็บท้องคลอด สัญญาณเตือนที่คุณแม่หลายคนควรรู้ !