ท้อง 6 เดือน คุณแม่ควรเตรียมตัวอย่างไร? เมื่อใกล้จะเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์

ใกล้จะย่างเข้าสู่ช่วงสุดท้าย ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่กำลัง ท้อง 6 เดือน ก็เดินทางมาถึงเดือนสุดท้ายของ ไตรมาสที่สอง แล้ว แล้วพัฒนาการของเจ้า 

 1183 views

ใกล้จะย่างเข้าสู่ช่วงสุดท้าย ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่กำลัง ท้อง 6 เดือน ก็เดินทางมาถึงเดือนสุดท้ายของ ไตรมาสที่สอง แล้ว แล้วพัฒนาการของเจ้าทารกในครรภ์ จะเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องอะไรที่คุณแม่ต้องเตรียมตัว เพื่อเตรียมรับมือกับสภาพของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีอะไรบ้าง เรามาดูกันเลยค่ะ


ท้อง 6 เดือน

6 เดือน หรือ อายุครรภ์ 6 เดือน คืออะไร นับจากอะไร?

ท้อง 6 เดือน คือ เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ได้ 6 เดือนแล้ว และมีอายุครรภ์ระหว่าง 22-26 สัปดาห์ นับเป็นเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และกำลังจะก้าวเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ 

โดยอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่ วันแรกที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด จากนั้นก็จะนับเพิ่มสัปดาห์ไปเรื่อยๆ ไปจนถึง 9 เดือน ซึ่งจะเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ และใกล้กำหนดการคลอดแล้ว

พัฒนาการทารกในระยะเดือนที่ 6 ของการตั้งครรภ์

ในระยะนี้ ลูกน้อยของคุณจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ความยาวของร่างกายและน้ำหนัก ตั้งแต่หัวจรดเท้าประมาณเฉลี่ยประมาณ 33 – 36 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 600 – 800 กรัม บนใบหน้าจะเริ่มเห็นรูปร่าง และโครงสร้างต่าง ๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น ดูเป็นมนุษย์ตัวจิ๋วคนหนึ่งแล้ว โดยร่างกายของทารกจะเริ่มมีพัฒนาการ ดังนี้

พัฒนาการด้านร่างกาย

ในช่วงนี้ ใบหน้าของทารกในครรภ์ จะเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีพัฒนาการในส่วนของร่างกายอย่างรวดเร็ว เช่น 

  • กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อมือและขา มีการพัฒนาเป็นอย่างมาก เขาสามารถผลักและเตะคุณได้ เมื่อคุณสัมผัส 
  • ตา เปลือกตาอาจจะยังไม่อ้าดี แต่ลูกตาที่อยู่ภายใต้นั้น สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ จอประสาทตาเริ่มมีการพัฒนา
  • หู เริ่มมีการพัฒนา กระดูกหูเริ่มแข็ง 
  • ผิวหนัง ที่เหี่ยวย่นจะเริ่มเรียบเนียนและหนาขึ้น ผิวของลูกน้อยของคุณจะเริ่มเป็นสีชมพูเล็กน้อย จากการพัฒนาของเส้นเลือดใต้ผิวหนัง ไขมันใต้ผิวจะเริ่มสะสมขึ้น ตามร่างกายจะเริ่มมีขนอ่อนปกคลุมมากขึ้น
  • ปอด เริ่มทำงานได้ แต่หลอดลมยังทำงานได้ไม่เต็มที่ 
  • กระดูกสันหลัง เอ็นและข้อต่อของไขสันหลังเริ่มพัฒนาแล้วเช่นกัน สิ่งเหล่านี้จะรวมกันและกลายเป็นกระดูกสันหลัง ที่จะรองรับเมื่อทารกอยู่ในท่าตั้งตรง

พัฒนาการด้านความรู้สึก

ในตอนนี้ ทารกจะเริ่มสามารถตอบสนองต่อประสาทสัมผัสบางอย่างได้ เช่น จากการสัมผัส จากการมองเห็น จากเสียง ฯลฯ โดยในระยะช่วงนี้ ทารกจะสามารถตอบสนองกับคุณได้ โดยการเคลื่อนไหว หากลูกน้อยของคุณถีบตัวอย่างแรง ตอนที่คุณแม่กำลังทานอะไรบางอย่าง อาจแปลว่าลูกในท้องของคุณอาจจะชอบรสชาตินี้ด้วยเช่นกัน! อีกทั้งในช่วงนี้ ลูกน้อยของคุณเริ่มไวต่อคลื่นเสียงความถี่สูง และจะเคลื่อนตัวตามจังหวะเสียงพูดของคุณแม่ ในช่วงนี้ อยากให้คุณแม่ลองพูดคุยกับลูกน้อยในท้องของคุณ เขาจะสามารถจดจำน้ำเสียงของคุณได้

ท้อง 6 เดือน

อาการคุณแม่ ท้อง 6 เดือน เป็นอย่างไร?

ในช่วงนี้ คุณแม่ที่อายุครรภ์ 6 เดือน มักจะไม่มีอาการแพ้ท้องแล้ว ส่วนใหญ่อาการแพ้ท้องมักจะลดน้อยลง จนแทบไม่มีอาการ แต่ก็ยังมีคุณแม่บางคนที่ยังแพ้ท้องอยู่ตลอดจนกว่าจะถึงกำหนดคลอดเลยก็ได้ แต่ในระยะนี้ คุณแม่ที่ระยะครรภ์ 6 เดือน อาจจะมีอาการอื่น ๆ แสดงออกมาได้ ดังนี้

น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เพราะคุณแม่กำลังมีอีกชีวิตน้อยๆในครรภ์ จึงอาจทำให้ทานอาหารเยอะมากขึ้น เพราะทารกในครรภ์ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ต้องการพลังงานมากขึ้น โดยในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 นี้ คุณแม่ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 กิโลกรัม 

ปวดหลัง

เพราะการที่ลูกน้อยในครรภ์ของคุณ เติบโตอย่างรวดเร็ว น้ำหนักในครรภ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะเริ่มทำให้กล้ามเนื้อหลังของคุณตึงขึ้น และอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างได้ โดยคุณแม่สามารถอาบน้ำอุ่นเพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง หรือหากยังมีอาการปวดหลังจนร้าวไปถึงสะโพก หรืออุ้งเชิงกราน แนะนำให้คุณแม่ไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอคำแนะนำอย่างถูกต้องจะดีที่สุดค่ะ 

ท้องผูก

เพราะว่ามดลูกมีการขยายตัวขึ้นจนไปเบียดกับลำไส้ จึงทำให้ระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่าย ทำงานได้ช้าลง อาจมีอาการท้องอืด เป็นกรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย และระคายเคืองในช่องท้องร่วมด้วย

มีอาการวิงเวียนศรีษะ

ในระยะที่คุณแม่ ท้อง 6 เดือน เมื่อท้องของคุณแม่เริ่มขยายใหญ่ขึ้น การไหลเวียนของเลือดในร่างกายก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม และอาจทำให้เลือดไหลเวียนไปยัง ร่างกายส่วนบนและศรีษะน้อยลง จึงอาจทำให้มีอาการวิงเวียนศรีษะ หรือหน้ามืดได้ หากคุณแม่รู้สึกหน้ามืด ให้ลองขยับตัวหรือเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ดื่มน้ำให้เยอะ ๆ และหลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน

ขาเป็นตะคริว ขาบวม ข้อเท้าบวม

คุณแม่บางคนอาจเป็นตะคริวบ่อย โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน โดยส่วนใหญ่จะเป็นที่ ข้อเท้า ขา และน่อง ยังไม่มีปัจจัยที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่อาจเป็นเพราะการที่ร่างกายดูดซึมสารอาหารบางส่วนไปหล่อเลี้ยงลูกน้อยในครรภ์ เช่น แคลเซียม ที่ถูกดึงไปสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกของทารก ดังนั้น ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายเป็นประจำ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ หากเป็นตะคริว ให้ลองยืดกล้ามเนื้อ และการนวดกล้ามเนื้อน่องก่อนเข้านอนอาจช่วยป้องกันได้ในบางครั้ง

ท้อง 6 เดือน

คุณแม่ ท้อง 6 เดือน ควรเตรียมตัวอะไรบ้าง?

สิ่งที่คุณแม่ควรเริ่มเตรียมตัว เพื่อรอต้อนรับลูกน้อยที่กำลังใกล้เข้าสู่ ไตรมาสสุดท้ายในครรภ์ มีอะไรที่คุณแม่ควรเริ่มเตรียมตัวบ้าง

  • พูดคุยกับลูกน้อยในครรภ์บ่อย ๆ เพื่อให้เขาจดจำเสียงของเราได้ ยิ่งพูดคุยบ่อย ๆ ก็ยิ่งดี
  • พักผ่อนให้มาก ๆ เพราะเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ก็อาจจะเหนื่อยได้ง่าย
  • เริ่มศึกษาเรื่องคอร์สการคลอดลูก ให้นมลูก รวมถึงการดูแลทารกแรกเกิด
  • ใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ เน้นไปที่แคลเซียม ในการเสริมสร้างกระดูกของลูกน้อยในครรภ์ และป้องกันการเกิดตะคริว ทานอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  • ควบคุมไม่ให้น้ำหนักตัวมากเกินไป เพราะอาจเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือครรภ์เป็นพิษ ได้ 
  • ศึกษาเรื่องประกันสุขภาพสำหรับลูกน้อย ประกันการคลอดลูก

เป็นยังไงกันบ้างคะ กับการเตรียมตัวเพื่อเตรียมเข้าสู่ช่วง ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อีกไม่นานเจ้าตัวน้อยก็ใกล้จะออกมาลืมตาดูโลกแล้ว คุณแม่อย่าลืมดูแลสุขภาพของตัวเอง หากมีอาการผิดปกติอะไร ก็อย่าลืมไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาอีกทีนะคะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

10 วิธีการเตรียมตัวก่อนคลอด มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรเตรียมให้พร้อม

ท้องผูก ทำอย่างไรดี? พร้อมวิธีการรับมือสำหรับคนท้อง

คนท้องปวดหลัง อันตรายไหม บรรเทาอาการด้วยวิธีใดได้บ้าง?

ที่มา : 1, 2, 3