ยินดีต้อนรับคุณแม่เข้าสู่บทความของเรานะคะ เข้าสู่เดือนที่สองแล้ว ตอนนี้ร่างกายคุณแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายอย่าง วันนี้เรามาเรียนรู้กันดีกว่า ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ ลูกน้อยในครรภ์มีพัฒนาการอย่างไรแล้วบ้าง ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และคุณแม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างไรบ้าง พร้อมแล้ว ไปดูกันค่ะ
ท้อง 7 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน
สำหรับคุณแม่ที่กำลังสงสัยว่าท้อง 7 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน ขอบอกตรงนี้เลยนะคะว่า ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ เท่ากับ 1 เดือนกับอีก 3 สัปดาห์ นั่นเอง โดยในช่วงนี้คุณแม่อาจอยู่ในระยะเริ่มต้น และมักมีอาการแพ้ท้อง ร่วมกับอาการอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้คุณแม่อย่าลืมนะคะว่าคุณหมอจะติดตามการตั้งครรภ์เป็นสัปดาห์ ไม่ใช่รายเดือนนะคะ
ทารกในครรภ์อายุ 7 สัปดาห์ เป็นอย่างไรบ้าง
หลังจากผ่านช่วงเดือนแรกมาได้ 3 สัปดาห์ ทารกในครรภ์คุณแม่จะโตขึ้น โดยมีขนาดประมาณบลูเบอร์รี หรือ 13 มิลลิเมตร ซึ่งจะโตขึ้นถึง 10,000 เท่าเมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์เมื่อเดือนที่แล้ว ในสัปดาห์นี้ลูกน้อยของคุณแม่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้างเซลล์สมองใหม่ในอัตรา 100 ต่อนาทีเลยก็ว่าได้ และนอกจากนี้ทารกในครรภ์ยังมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอีกหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
เซลล์สมองถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 7 สัปดาห์ เซลล์สมองจะถูกสร้างเป็นจำนวนมาก โดยจะถูกสร้างขึ้นถึง 100 ต่อนาที และยังเกิดการก่อตัวของสมองแต่ละส่วนอีกด้วย
แขน และขาของทารกเริ่มพัฒนา
ในสัปดาห์นี้ แขน และขาของลูกน้อย จะเริ่มสร้างขึ้น ยาวขึ้น และแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน เป็นแขน และไหล่ รวมถึงเข่า และเท้า
ไตเริ่มพัฒนา
นอกเหนือจากการสร้างปาก และลิ้นแล้ว ไตของลูกน้อยก็เริ่มเข้าที่แล้วเช่นกันค่ะ และพร้อมที่จะเริ่มทำการกำจัดของเสีย โดยอีกไม่นานลูกน้อยจะเริ่มผลิตปัสสาวะออกมา แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ เพราะร่างกายจะทำการกำจัดของเสียเหล่านั้นเองค่ะ
ดวงตาเริ่มพัฒนา
เมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 7 ดวงตาของลูกน้อยจะเริ่มพัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระจกตา ม่านตา รูม่านตา กระจกตา หรือเรตินา และจะเริ่มสร้างขึ้นเกือบเต็มที่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดไป
กระเพาะอาหาร และหลอดอาหารเริ่มพัฒนา
ระบบย่อยอาหารของลูกน้อยจะเริ่มก่อตัว ซึ่งก็คือกระเพาะอาหาร และหลอดอาหารนั่นเอง โดยหลอดอาหารที่พัฒนาจะเป็นท่อที่เคลื่อนอาหารจากปากของทารกไปยังท้อง นอกจากนี้ในส่วนของตับ และตับอ่อนของลูกน้อย ก็จะเริ่มพัฒนาในสัปดาห์นี้เช่นกันค่ะ
การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ มีอะไรบ้าง
เมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 7 คุณแม่อาจมีอาการแตกต่างกันออกไป โดยคุณแม่บางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลย แต่คุณแม่บางคนก็อาจมีอาการที่เปลี่ยนแปลงในร่างกาย เรามาดูกันดีกว่าตั้งท้อง 7 สัปดาห์จะมีอาการอย่างไรบ้าง
คลื่นไส้
คุณแม่บางคนอาจมีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง และอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียน อย่างไรก็ตามคุณแม่สามารถรับประทานน้ำขิง หรือวิตามิน B-6 และอาจใช้สายรัดข้อมือแก้คลื่นไส้ เพื่อช่วยให้หายจากอาการเหล่านั้นได้ โดยคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ลูกแฝดก็อาจมีการคลื่นไส้ มากกว่าคุณแม่ท้องลูกคนเดียว เพราะฮอร์โมนมีระดับสูงขึ้นมากกว่านั่นเอง
ปวดท้องน้อย
คุณแม่อาจมีอาการปวดท้องในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก ๆ แต่นั่นก็เป็นอาการที่ปกติค่ะ เนื่องจากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย จนส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องน้อย หรือเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่คุณแม่อย่าพึ่งตกใจไปนะคะ เพราะหากคุณแม่มีอาการปวดท้องผิดปกติ ปวดท้องอย่างรุนแรง หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดควรรีบไปพบแพทย์ทันที
เบื่ออาหาร หรืออยากอาหาร
แน่นอนว่าเมื่อตั้งครรภ์ คุณแม่อาจรู้สึกอยากรับประทานอาหารบางอย่างเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นอาหารโปรด หรืออาหารแปลก ๆ ที่ไม่เคยกินก็ตาม รวมทั้งคุณแม่บางคนอาจไม่อยากรับประทานอาหารเลยก็ได้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตามคุณแม่ต้องรับประทานอาหารนะคะ ไม่เช่นนั้นอาจไม่มีสารอาหารไปหล่อเลี้ยงลูกน้อยในครรภ์ได้
ปัสสาวะบ่อย
ช่วงนี้คุณแม่อาจมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ๆ เนื่องจากมดลูกที่ขยายตัวมากขึ้น และการไหลเวียนของเลือดที่ไหลไปยังอุ้งเชิงกรานเพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลให้คุณแม่เกิดอาการปวดปัสสาวะบ่อย ๆ นั่นเอง
มีน้ำลายมากกว่าปกติ
อาการน้ำลายเยอะมากกว่าปกติ อาจเป็นอาการที่คุณแม่ไม่เคยพบเจอมาก่อนเลยก็ได้ เนื่องจากน้ำลายที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน และอาการคลื่นไส้นั่นเอง อย่างไรก็ตามคุณแม่สามารถเคี้ยวหมากฝรั่งไร้น้ำตาล ดื่มน้ำในปริมาณมาก ๆ หรือดูดลูกอม ก็จะช่วยลดการผลิตน้ำลายได้ค่ะ
เคล็ดลับการดูแลของคุณแม่ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์
หลังจากที่ร่างกายของคุณมีการเปลี่ยนแปลงนั้น คุณแม่ทุกท่านจึงควรใส่ใจกับตัวเอง และระมัดระวังตัวเองให้มากยิ่งขึ้นด้วย เพื่อที่จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยให้ลูกน้อยในครรภ์ปลอดภัยเป็นอย่างดี เรามาดูกันเคล็ดลับการดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ กันดีกว่าค่ะ ว่าจะมีอะไรบ้าง
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
เป็นที่รู้กันว่า การสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก เพราะอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดของลูกน้อยต่ำ พิการตั้งแต่กำเนิด รวมถึงอาจส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรเลิกสูบบุหรี่ รวมถึงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังสูบบุหรี่ด้วย
ออกกำลังกาย
เมื่อคุณแม่สามารถปรับสมดุลร่างกายตัวเองได้แล้ว คุณแม่ควรเริ่มออกกำลังกายเบา ๆ โดยนักวิจัยได้แนะนำว่าคุณแม่ควรออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และลูกน้อยในครรภ์เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยคุณแม่สามารถออกกำลังกายจากการเดิน วิ่งเหยาะ โยคะ และว่ายน้ำ ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมในช่วงการตั้งครรภ์
บทความที่เกี่ยวข้อง : โยคะคนท้อง ดีต่อคุณแม่อย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม?
ทำอาหารรับประทานเอง
คุณแม่ควรทำอาหารรับประทานเอง เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับคุณค่าทางโภชนาการอย่างเต็มที่ ซึ่งการทำอาหารรับประทานเองก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงอาการคลื่นไส้ และทำให้คุณแม่อยากรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นได้ โดยอาหารที่เหมาะกับแม่ท้องนั้น ตัวอย่างเช่น ไข่ ปลาแซลมอน ถั่ว มันเทศ ธัญพืช กรีกโยเกิร์ต บรอกโคลี ผลไม้ เนื้อไม่ติดมัน และผักใบเขียว เป็นต้น
พูดคุยกับสามี
การพูดคุยกับสามีในช่วงนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณแม่สบายใจมากขึ้นได้ ให้ลองพูดคุยกับสามี ปรึกษาเรื่องลูกน้อยในครรภ์ หรือวางแผนต่าง ๆ เพื่อจะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ได้มากขึ้นได้ อีกทั้งการพูดคุย ระบายความในใจ ก็จะช่วยให้คุณแม่คลายความเครียด และความวิตกกังวลได้อีกเช่นกัน
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ในช่วงสัปดาห์นี้เจ้าตัวน้อยของคุณก็เริ่มสร้างตัวเองขึ้นมาหลายอย่างแล้ว คุณแม่สามารถไปตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูลูกของคุณ และสามารถตรวจฟังการเต้นหัวใจของลูกได้ เอาเป็นว่าหากคุณแม่กำลังสงสัยว่าลูกน้อยจะเป็นอย่างไรต่อไป สามารถติดตามเรื่องราวของการตั้งครรภ์ในแต่ละสัปดาห์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของเรา หรือเลือกบทความเกี่ยวกับเรื่องตั้งครรภ์ในสัปดาห์ถัดไป และสัปดาห์ก่อนหน้าได้ที่ด้านล่างนี้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1
ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1