ท้อง 8 เดือน สิ่งที่คุณแม่ต้องรับมือ และ พัฒนาการทารกในครรภ์

ยินดีต้อนรับคุณแม่ ท้อง 8 เดือน หรือ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 31-35 เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ นับเป็น ไตรมาสที่ 3 แล้ว คงจะตื่นเต้นไ 

 1829 views

ยินดีต้อนรับคุณแม่ ท้อง 8 เดือน หรือ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 31-35 เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ นับเป็น ไตรมาสที่ 3 แล้ว คงจะตื่นเต้นไม่น้อยสำหรับคุณแม่มือใหม่ เพราะเข้าใกล้กำหนดคลอดมากขึ้นทุกที อีกเดี๋ยวเดียวก็จะได้เห็นหน้าของลูกน้อยของคุณแม่แล้ว อาการเดิม ๆ ที่เคยเกิดขึ้น เช่น อาการปวดหลัง ตัวบวม หรือ อาการท้องผูก ก็คงจะกลายเป็นความเคยชินแล้วใช่ไหมล่ะ ? วันนี้เรานำสิ่งต่าง ๆ ที่คุณแม่ต้องเตรียมรับมือ รวมถึงพัฒนาการของทารกในครรภ์เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 8 มาฝากกันค่ะ

ท้อง 8 เดือน

สิ่งที่แม่ท้องต้องเจอช่วงเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์

อาการที่แม่ท้องอาจจะต้องเจอ

1. ปวดอุ้งเชิงกราน

เมื่อเข้าเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์ แน่นอนว่าทารกในครรภ์ก็จะมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้ว มีการเคลื่อนที่เล็กน้อย โดยทารกจะเคลื่อนที่เข้าไปใกล้อุ้งเชิงกรานมากขึ้น และอาจเคลื่อนที่เข้าไปทับเส้นประสาทบริเวณอุ้งเชิงกราน เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่มีอาการปวดอุ้งเชิงกรานได้

2. ปัสสาวะบ่อย

เมื่อทารกมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น นอกจากจะเคลื่อนที่เข้าไปใกล้อุ้งเชิงกรานแล้ว การเคลื่อนตัวของทารกนั้นยังเข้าไปใกล้บริเวณของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีการกดทับ หรือไปเบียดกระเพาะปัสสาวะของคุณแม่ได้ เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ปวดปัสสาวะจนต้องเข้าห้องน้ำบ่อยนั่นเอง

3. หายใจถี่ 

เนื่องจากมดลูกมีการขยายตัวมากขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของทารกในครรภ์ นอกจากการขยายตัวนั้นจะไปเบียดหรือไปทับบริเวณอุ้งเชิงกรานและกระเพาะปัสสาวะแล้ว หากทารกในครรภ์มีขนาดตัวที่ใหญ่ ก็สามารถเบียดไปถึงช่วงท้องและปอด เป็นสาเหตุที่ทำให้แม่ตั้งครรภ์ 8 เดือน หลาย ๆ ท่าน หายใจถี่และไม่สะดวกสักเท่าไหร่

4. อาการท้องแข็ง

อาการท้องแข็ง สามารถเกิดขึ้นได้อยู่บ่อยครั้ง และเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การที่แม่ท้องกลั้นปัสสาวะ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องแข็ง ดังนั้นแม่ท้องไม่ควรที่จะกลั้นปัสสาวะนาน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องแข็ง  อีกทั้งการที่ทารกในครรภ์พลิกตัวก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องแข็งได้ นอกจากนี้ อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้แม่ท้องมีอาการท้องแข็งนั่นก็คือ การที่คุณแม่รับประทานอาหารอิ่มจนเกินไปนั่นเอง ดังนั้นแม่ท้อง ควรรับประทานอาหารให้พอดี เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ได้

ทว่าอาการท้องแข็งนั้น ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของการ คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูก ดังนั้นแม่ ท้อง 8 เดือนก็อย่าชะล่าใจไป และอย่าลืมที่จะสังเกตตนเองว่าอาการท้องแข็งนั้นเกิดขึ้นถี่มากไปหรือไม่ด้วยนะ จะได้เตรียมตัวไปโรงพยาบาลให้ทัน

5. อ่อนเพลีย 

จากที่กล่าวมา มีหลายสิ่งที่แม่ ท้อง 8 เดือน ต้องเตรียมรับมือ ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัวและขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น การเคลื่อนไหวก็อาจจะทำได้ยากมากขึ้น รวมไปถึงอาการปวดตามตัวต่าง ๆ ก็ไม่แปลกเลยที่จะส่งผลให้แม่ท้องความอ่อนเพลียมากกว่าปกติ 

6. รอยแตกลาย 

รอยแตกลายเป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ สำหรับแม่ท้อง ยิ่งในไตรมาสที่สอง และ สาม เมื่อทารกในครรภ์เริ่มขยายตัวใหญ่ขึ้น ร่างกายของคุณแม่ก็ย่อมขยายตามทารกในครรภ์ การขยายตัวอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้เกิดรอยแตกลายตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ โดยเฉพาะ ช่วงท้อง ก้น และต้นขา เพราะเป็นส่วนที่ขยายมากที่สุด เพื่อป้องกันและลดการเกิดปัญหาดังกล่าว แม่ท้องอาจจะทาครีมเพื่อช่วยลดรอยแตกลายตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้

สิ่งเหล่านี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในแม่ ท้อง 8 เดือน ดังนั้นคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลไป แนะนำให้ในช่วงเวลานี้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรที่จะพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง และใช้เวลาไปกับการเตรียมตัวก่อนคลอดลูกน้อยกันดีกว่า

บทความที่เกี่ยวข้อง : ผิวแตกลาย ท้องแตกลาย รับมืออย่างไรให้รอยหายจางลง?

พัฒนาการของทารกในครรภ์


ท้อง 8 เดือน


ลูกน้อยตัวเท่าไหนแล้วนะ ? 

เมื่อเข้าช่วงเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์ ลูกน้อยในครรภ์จะมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขนาดตัวของพวกเขาจะอยู่ที่ประมาณ 40-46 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 กิโลกรัม หรือ 2000 กรัม นั่นเอง เมื่อเปรียบเทียบดูแล้ว ทารกในครรภ์ของคุณแม่ก็คงจะมีขนาดตัวที่ใหญ่เท่าสับปะรดเลยทีเดียว

พัฒนาการอื่น ๆ ของทารกในครรภ์ก็เริ่มที่จะสมบูรณ์พร้อมออกมาเจอหน้าคุณแม่แล้ว เช่น ผมเริ่มขึ้นเต็มศีรษะ เล็บมือและเล็บเท้างอกยาวมากขึ้น กระดูกแข็งแรงขึ้น สมองและเส้นประสาทก็จะพัฒนาอย่างเต็มที่ นอกจากนี้แล้วระบบอวัยวะภายในต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ ก็พัฒนาเกือบจะเต็มที่แล้วทั้งสิ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : พัฒนาการทางภาษาช้า ทำอย่างไรดี? มาดูวิธีการรับมือไปพร้อมกัน

สุดท้ายนี้…แม่ ท้อง 8 เดือน ก็อย่าลืมดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เตรียมตัวและเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ที่ใกล้เข้ามาถึง พร้อมทั้งศึกษาวิธีการเลี้ยงดูลูกน้อย ที่กำลังจะออกมาลืมตาดูโลกในอีกเดือนข้างหน้าให้ดี เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับทารกให้พร้อม และอย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมอะไร ให้รีบปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อยและตัวคุณแม่เองนะคะ 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

คนท้องท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย มีวิธีแก้ท้องอืดอย่างไร?

10 อาหารว่างสำหรับคนท้อง กินแล้วดี มีประโยชน์ต่อลูกในครรภ์

10 วิธีการเตรียมตัวก่อนคลอด มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรเตรียมให้พร้อม

ที่มา : 1, 2