ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่มักมีอาการท้องอืด แน่นท้อง และอาหารไม่ย่อย ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดความหงุดหงิด และไม่สบายตัวได้ คุณแม่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าท้องอืด มีวิธีรักษาอาการอย่างไร และสามารถกินยาอะไรได้บ้าง วันนี้ Mama Story จะพาคุณแม่ไปดูกันว่า คนท้องท้องอืด รับมืออย่างไร และมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง พร้อมแล้ว ไปติดตามกันค่ะ
อาการท้องอืดขณะตั้งครรภ์
โดยทั่วไปแล้ว อาการท้องอืดขณะตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก โดยคุณแม่จะมีอาการที่รู้สึกไม่สบายตัว ปวดท้อง อึดอัด แน่นท้อง และรู้สึกว่ามีลมอยู่ในกระเพาะอาหารจำนวนมาก จนทำให้เกิดอาการเรอ หรือผายลมออกมาบ่อย ๆ บางครั้งอาจมีเสียงร้องโครกครากออกมาจากท้อง แต่อย่างไรก็ตามอาการท้องอืดมักเป็นอาการปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลไปนะคะ
คนท้องท้องอืด เกิดจากอะไร
อาการท้องอืดมักเกิดจากการที่มีลม หรือแก๊สอยู่ในระบบทางเดินอาหารจำนวนมาก เพราะอาหารไม่ย่อย หรือย่อยช้ากว่าปกติ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คุณแม่มีอาการท้องอืดนั้น มีดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
เมื่อมีการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมามากกว่าปกติ ซึ่งเมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนชนิดออกมาจำนวนมาก ก็อาจส่งผลให้มีแก๊สส่วนเกิน และทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้ช้าลง ส่งผลให้มีอาหารตกค้างอยู่ลำไส้เยอะ และนานกว่าปกติ
2. การขยายตัวของมดลูก
เมื่อคุณแม่อายุครรภ์เยอะขึ้น มดลูกจะขยายตัวมากขึ้น เพราะทารกมีพัฒนาการ และเติบโต จนส่งผลให้ไปเบียดกระเพาะอาหาร และลำไส้ จนทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่เต็มที่ คุณแม่จึงเกิดอาการอาหารไม่ย่อย แน่นท้อง และท้องอืดค่ะ
3. ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง
ในระหว่างการตั้งครรภ์ ลำไส้ของคุณแม่จะทำงานช้าลง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อของลำไส้ที่เคลื่อนไหวได้ช้าลง จนส่งผลให้ร่างกายย่อยอาหารได้ช้าลงอีกด้วย ส่งผลให้มีอาหารค้างสะสมอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน จนเกิดแก๊สจำนวนมาก ทำให้คุณแม่มีอาการท้องอืดนั่นเอง
4. พฤติกรรมการรับประทาน
พฤติกรรมการรับประทานอาหารของคุณแม่ อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารรสจัด รับประทานของทอด เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด หรือรับประทานผักผลไม้ที่ทำให้เกิดแก๊สจำนวนมาก ดังนั้นคุณแม่จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยควรรับประทานอาหารน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง และรับประทานอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนทุกครั้ง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกท้องอืด เกิดจากสาเหตุใด คุณแม่รับมือกับอาการนี้ได้อย่างไรบ้าง?
อาหารที่แม่ท้องควรหลีกเลี่ยง
แม้ว่าอาการท้องอืดจะป้องกันได้ยาก แต่คุณแม่สามารถหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิดที่ส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดได้ เรามาดูอาหารที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดกันดีกว่า
- อาหารทอด อาหารมัน และอาหารไขมันไม่ดีสูง
- ถั่ว และธัญพืชไม่ขัดสี เพราะในถั่วมีน้ำตาลราฟฟิโนส ซึ่งทำให้เกิดแก๊ส และทำให้ย่อยอาหารช้าลง
- แป้งบางชนิด เช่น แป้งสาลี แป้งมัน และแป้งข้าวโพด เป็นต้น เนื่องจากเป็นแป้งที่ทำให้เกิดแก๊สจำนวนมาก
- ผักบางชนิด เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี และหน่อไม้ฝรั่ง เพราะผักประเภทนี้มีน้ำตาลราฟฟิโนส ซึ่งทำให้เกิดแก๊สจำนวนมาก
- อาหารที่มีไฟเบอร์ เช่น ถั่ว ข้าวโอ๊ต รำข้าว และผลไม้หลายชนิด เพราะอาหารเหล่านี้มักถูกย่อยสลายในลำไส้ใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดแก๊สจำนวนมาก
- นม และผลิตภัณฑ์นม หากคุณแม่มีอาการแพ้แล็กโทส ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด และท้องเสียได้ หากคุณแม่มีอาการแพ้ และต้องการเสริมแคลเซียม อาจหลีกเลี่ยงไปดื่มนมถั่วเหลืองแทน ก็จะช่วยป้องกันอาการท้องอืด และท้องเสียได้
- อาหาร และเครื่องดื่มที่มีฟรุกโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลรูปแบบหนึ่งที่ได้จากธรรมชาติ เช่น กระเทียม หัวหอม ผลไม้แห้ง ซอสมะเขือเทศ แอปเปิล ลูกแพร์ น้ำผึ้ง น้ำผลไม้ น้ำอัดลม และน้ำผึ้ง เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้ประกอบไปด้วยฟรุกโตส และคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดอาการท้องอืด
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ต้องรู้! อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง สำหรับคนท้อง มีอะไรบ้าง?
วิธีบรรเทาอาการท้องอืดของคนท้อง
เมื่อคุณแม่เกิดอาการท้องอืด ก็อาจทำให้รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง และไม่สบายตัวได้ เรามาดูกันว่าเมื่อคุณแม่ท้องอืดจะมีวิธีรับมือกับอาการนี้อย่างไรบ้าง
- จิบน้ำขิงอุ่น ๆ คีนัว สับปะรด และโยเกิร์ต เพื่อช่วยลดอาการท้องอืด
- เคี้ยวอาหารให้ละเอียด โดยการเคี้ยวนาน ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น
- งดการรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป และเครื่องดื่มโซดา เป็นต้น
- ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่าง เพราะอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ และทำให้เกิดอาการปวดหัวระหว่างตั้งครรภ์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัด เพราะการรับประทานอาหารรสจัดนั้น ส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดได้ง่ายมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานของทอด และของมัน เน้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมวิตามิน และแร่ธาตุให้แก่ร่างกาย
- ไม่รับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป ควรรับประทานทีละเล็กน้อย และแบ่งรับประทานหลาย ๆ มื้อ เพื่อป้องกันอาการท้องอืด
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องปวดท้องน้อยเกิดจากอะไร อันตรายหรือเปล่า?
คนท้องท้องอืดกินยาอะไรได้บ้าง
คุณแม่ที่มีอาการท้องอืดที่ไม่สามารถบรรเทาอาการได้ อาจมองหาการรับประทานยาเพื่อใช้รักษาอาการนี้แทน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ก็มีข้อจำกัดในการใช้ยาหลายอย่าง คุณแม่จึงควรไปพบแพทย์ เพื่อให้คุณหมอจ่ายยาให้อย่างเหมาะสม โดยยาแก้ท้องอืดที่คุณแม่สามารถรับประทานได้ มีดังนี้
- ยาน้ำอะลั่มมิลค์
- ยาเม็ดแอนตาซิล หรือ air-x
- ยาสมุนไพร เช่น ขมิ้นชัน เป็นต้น
- ยาชงอีโน เพราะมีคุณสมบัติช่วยลดกรดไหลย้อน และบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก
คนท้องท้องอืด ถือเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดจากฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคุณแม่ ทางที่ดีคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแก๊ส อาการที่มีรสจัด และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด แบ่งการรับประทานอาหาร ก็จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืดได้ นอกจากนี้ หากคุณแม่มีอาการท้องอืดอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับยาอย่างถูกต้องนะคะ ไม่ควรซื้อรับประทานเอง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินอาหารรสจัด อันตรายต่อลูกในท้องไหม?
ท้องผูก ทำอย่างไรดี? พร้อมวิธีการรับมือสำหรับคนท้อง