คนท้องเป็นริดสีดวง อันตรายไหม มีวิธีบรรเทาอาการอย่างไรบ้าง?

คนท้องเป็นริดสีดวง มักเกิดขึ้นได้บ่อย เนื่องจากฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์ และมดลูกขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับเส้นเลือดทำให้เกิดก 

 1444 views

คนท้องเป็นริดสีดวง มักเกิดขึ้นได้บ่อย เนื่องจากฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์ และมดลูกขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับเส้นเลือดทำให้เกิดการบวมอักเสบ นอกจากนี้ ขนาดมดลูกที่ใหญ่ขึ้นยังไปกดทับลำไส้ใหญ่จนทำให้คุณแม่มีอาการขับถ่ายไม่สุด หรือท้องผูกร่วมด้วย วันนี้ Mama Story จะพามาดูกันว่าแม่ท้องเป็นริดสีดวงรับมืออย่างไร และมีวิธีป้องกันอาการเหล่านี้อย่างไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ

ริดสีดวงทวาร คืออะไร

ริดสีดวงทวาร คือ การมีกลุ่มหลอดเลือดดำบริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่ และที่ขอบรูทวารหนักโปร่งพอง และยื่นออกมา ซึ่งปกติแล้วริดสีดวงทวารจะแบ่งเป็น 2 ชนิด ดังนี้

  • ริดสีดวงทวารภายใน : เป็นริดสีดวงทวารที่เกิดขึ้นเหนือทวารหนักขึ้น โดยปกติแล้วจะไม่โผล่ออกมาให้เห็น หรือสัมผัสได้ ส่วนใหญ่จะถูกคลุมด้วยเยื่อลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุด ริดสีดวงชนิดนี้มักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหากไม่มีอาการแทรกซ้อน
  • ริดสีดวงทวารภายนอก : เป็นริดสีดวงที่เกิดขึ้นบริเวณรอยย่นของทวารหนัก สามารถมองเห็น และสัมผัสได้ โดนหลอดเลือดที่โป่งพองออกมาจากถูกคลุมด้วยผิวหนัง ทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ เนื่องจากบริเวณผิวหนังส่วนนั้นมีประสาทรับความรู้สึก

บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องท้องผูก ทำอย่างไร เบ่งอุจจาระแรงลูกจะเป็นอันตรายไหม?

คนท้องเป็นริดสีดวง

ริดสีดวงคนท้องเกิดขึ้นได้อย่างไร

ริดสีดวงคนท้องเกิดขึ้นหลายสาเหตุ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง และมดลูกขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับเส้นเลือด เรามาดูกันว่าคนท้องเป็นริดสีดวงเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง

  • มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับหลอดเลือดในช่องท้อง ทำให้หลอดเลือดดำบริเวณเท้า ขา และก้นไหลเวียนกลับสู่หัวใจยากขึ้น จึงทำให้เกิดการคั่งของเลือดบริเวณเหล่านั้น โดยการคั่งของเลือดจะเห็นเป็นริดสีดวงทวารขึ้นมา
  • ในช่วงตั้งครรภ์ฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดดำมีการขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการคั่งของเลือดมาก
  • คุณแม่ที่มีอาการท้องผูก มักมีอาการริดสีดวงทวารเกิดขึ้นด้วย เพราะเมื่อคุณแม่ท้องผูก ก็ต้องใช้แรงเบ่งถ่ายมาก ๆ เมื่อทำเช่นนั้นบ่อย ก็จะส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณก้นปูดออกมาเป็นริดสีดวงทวารนั่นเอง
  • การนั่งหรือยืนนาน ๆ ก็ส่งผลให้เกิดริดสีดวงทวารได้เช่นกัน เพราะเลือดจะรวมอยู่ส่วนที่ต่ำของร่างกาย จนทำให้เลือดไปคั่งที่เท้า ทำให้คุณแม่มีอาการเท้าบวม เส้นเลือดขอด และริดสีดวงทวารหนักได้ค่ะ

อาการของริดสีดวงทวาร

โดยปกติแล้วอาการของริดสีดวงทวารจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง และอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังต่อไปนี้

  • ระยะที่ 1 : มีเส้นเลือดดำโป่งพองในทวารหนัก ทำให้เวลาเบ่งอุจจาระจะมีเลือดไหลออกมาด้วย หากคุณแม่มีอาการท้องผูกก็จะยิ่งมีเลือดออกมามากยิ่งขึ้น
  • ระยะที่ 2 : หัวริดสีดวงทวารจะเริ่มโตขึ้น และจะโผล่ออกมาพ้นทวารหนัก เวลาเบ่งอุจจาระ ก็จะออกมาให้เห็น แต่เมื่อคุณแม่อุจจาระเสร็จ ก็จะหดกลับเข้าไปในทวารหนักเหมือนเดิม
  • ระยะที่ 3 : ในระยะนี้อาการริดสีดวงจะเริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเวลาถ่ายอุจจาระ ริดสีดวงจะโผล่ออกมามากกว่าเดิม หรือเวลาจาม ไอ ยกของหนัก ๆ หรือเกร็งหน้าท้อง ก็จะทำให้หัวริดสีดวงทวารโผล่ออกมาได้ อาจทำให้ไม่สามารถกลับเข้าที่เดิม ต้องใช้นิ้วมือดันเข้าไปถึงจะกลับไปอยู่ภายในทวารหนักเหมือนเดิม
  • ระยะที่ 4 : เป็นระยะที่ริดสีดวงรุนแรงมากที่สุด โดยจะสามารถมองเห็นจากภายนอกได้อย่างชัดเจน อาจเกิดอาการบวมอักเสบ มีเลือดออกมาเสมอ และอาจมีน้ำเหลืองออกมา หากอุจจาระก็จะทำให้เกิดความสกปรก และการเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดอาการคัน และติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หากมีเลือดออกมามาก ๆ ก็จะทำให้คุณแม่มีอาการอ่อนเพลีย ตัวซีด หน้ามืด และน้ำหนักตัวลดลง

บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องผูกหลังคลอด เกิดจากอะไร คุณแม่รับมือการอาการนี้ได้อย่างไรบ้าง?

คนท้องเป็นริดสีดวง

ริดสีดวงทวารส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่

การเป็นริดสีดวงระหว่างตั้งครรภ์ อาจไม่มีอันตรายต่อการตั้งครรภ์ และลูกน้อยในครรภ์ แต่ก็อาจทำให้คุณแม่มีความรำคาญ เช่น เจ็บ เลือดออกเวลาขับถ่ายหรือหลังถ่าย และคันก้น ซึ่งหากเลือดออกมาก ๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการซีด และอ่อนเพลียได้ เพราะฉะนั้นหากคุณแม่พบว่าตัวเองมีอาการริดสีดวง ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้รักษาอย่างทันท่วงที และจะได้รับคำแนะนำในการดูแลตัวเองเมื่อเป็นริดสีดวงคนท้อง

สำหรับคุณแม่ที่มีอาการริดสีดวงคนท้องอาจมีความเครียด และกังวลว่าจะมีปัญหาในการคลอดลูก ไม่ต้องเป็นกังวลไปนะคะ เพราะคุณแม่ยังสามารถคลอดแบบธรรมชาติได้ โดยแพทย์จะเพิ่มความระมัดระวังในการผ่าตัดไม่ให้ไปโดนริดสีดวง และไม่ให้มีการฉีกขาดของช่องคลอดมากเกินไป หากคุณแม่เปิดริดสีดวงในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาริดสีดวงออก และอาจเปลี่ยนไปใช้วิธีการผ่าคลอดแทน เพื่อที่จะได้ไม่ไปกระทบการแผลผ่าตัดริดสีดวงมากที่สุด

การรักษาริดสีดวงทวาร

หากคุณแม่มีอาการริดสีดวงไม่ต้องตกใจไปนะคะ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูก่อน เพื่อที่แพทย์จะได้จัดยาให้ และให้คำแนะนำ ซึ่งการรักษาอาการริดสีดวงนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ดังต่อไปนี้

  • เอาก้นแช่น้ำอุ่น เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดบริเวณทวารหนัก และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
  • ประคบเย็นบริเวณก้อนริดสีดวงด้วยผ้าหรือเจลประคบ เพราะความเย็นจะช่วยให้หลอดเลือดมีการหดรัดตัว และลดขนาดของริดสีดวงให้เล็กลงได้
  • หากคุณแม่มีอาการริดสีดวงในระยะที่ยื่นออกมา ไม่สามารถหดกลับเองได้ อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดในการรักษา
  • เหน็บยา และทายาที่เป็นยาชา และลดอาการบวม จะช่วยบรรเทาอาการริดสีดวงได้ ทั้งนี้แพทย์จะเป็นคนให้คำแนะนำในการใช้ยาให้แก่คุณแม่
  • นอนคว่ำให้เข่าชิดบริเวณอก ท้อง หรือนอนท่าก้นโด่ง วันละประมาณ 10-15 นาที เพื่อช่วยให้เลือดบริเวณทวารหนักไหลเวียนกลับสู่หัวใจได้ง่ายขึ้น
  • นอนตะแคงซ้ายทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดแรงดันภายในช่องท้อง ถ้าหากคุณแม่สามารถยกขาพาดเก้าอี้ได้ก็จะช่วยบรรเทาอาการริดสีดวงได้เช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องผูก ทำอย่างไรดี? พร้อมวิธีการรับมือสำหรับคนท้อง

คนท้องเป็นริดสีดวง

การป้องกันริดสีดวงทวาร

วิธีง่าย ๆ ในการป้องกันริดสีดวงทวาร คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงในการเพิ่มความดันของเลือด อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงค่ะ โดยการป้องกันริดสีดวงทวารสามารถทำได้โดยวิธีดังนี้

  • ฝึกการขับถ่ายให้เป็นนิสัย และเข้าห้องน้ำให้ตรงเวลา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 5 ลิตร เพื่อทำให้อุจจาระนิ่มลง และขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
  • พยายามไม่กลั้นอุจจาระ และเบ่งอุจจาระแรง ๆ เพราะอาจทำให้เกิดผลเสียต่อระบบขับถ่ายมากขึ้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น วิ่ง เดิน โยคะ พิลาทิส หรือว่ายน้ำ เพื่อช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหว และขับถ่ายได้ดียิ่งขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผักใบเขียว ธัญพืช ผลไม้ต่าง ๆ เช่น แอปเปิล ส้ม สับปะรด และแก้วมังกร เป็นต้น


คนท้องเป็นริดสีดวงอาจไม่ใช่เรื่องร้ายแรงมาก แต่อาจทำให้คุณแม่เจ็บปวดเวลาลุกนั่ง และขับถ่ายลำบาก ทางที่ดีคุณแม่ควรหมั่นสังเกตตัวเอง เวลาไปฝากครรภ์ก็ควรตรวจสุขภาพทางทวารร่วมด้วย เพื่อดูว่าเป็นริดสีดวงระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่ นอกจากนี้ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์มาก ๆ และดื่มน้ำบ่อย ๆ รวมทั้งควรฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาเพื่อป้องกันอาการดังกล่าว

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แม่ท้องปวดท้องน้อยเกิดจากอะไร อันตรายหรือเปล่า?

ตกขาวระหว่างตั้งครรภ์ เป็นอย่างไร? สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายไหม

สีปัสสาวะคนท้อง บ่งบอกอะไร ปัสสาวะแบบไหนอันตรายต่อแม่ท้อง?

ที่มา : 1, 2