ท้องผูกหลังคลอด เกิดจากอะไร คุณแม่รับมือการอาการนี้ได้อย่างไรบ้าง?

หลังจากคลอดบุตร ร่างกายของคุณแม่ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน เพราะฮอร์โมน และระบบต่าง ๆ ของร่างกายยังทำงานได้ไม่เต็มที่ คุณแม่บางคนอ 

 1821 views

หลังจากคลอดบุตร ร่างกายของคุณแม่ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน เพราะฮอร์โมน และระบบต่าง ๆ ของร่างกายยังทำงานได้ไม่เต็มที่ คุณแม่บางคนอาจมีอาการอุจจาระไม่ออก ท้องผูกหลังคลอด จนสร้างปัญหาในการขับถ่าย และกลัวว่าแผลผ่าคลอดจะปริออก ไม่ต้องกังวลนะคะ วันนี้ Mama Story จะพาคุณแม่ไปดูกันว่า อาการท้องผูก เกิดจากอะไร และมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันค่ะ

ท้องผูกหลังคลอด เกิดจากอะไร?

ปัญหาท้องผูก เกิดจากการที่ร่างกายของคุณแม่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะลำไส้ และกระบวนการย่อยอาหารที่ยังมีการแปรปรวน ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกนั่นเอง เรามาดูกันดีกว่าว่าอาการท้องผูกหลังคลอดนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง

ท้องผูกหลังคลอด
  • ร่างกายขาดน้ำ : คุณแม่บางคนอาจดื่มน้ำน้อย ส่งผลให้ลำไส้แห้ง ลำเลียงอาหาร และกากอาหารได้ไม่ดี ทำให้เกิดอุจจาระแข็งจนยากต่อการขับถ่าย
  • เคลื่อนไหวน้อย : หลังจากคลอดบุตร คุณแม่อาจไม่ค่อยเคลื่อนไหวมากนัก และต้องนอนเป็นเวลานาน เนื่องจากร่างกายต้องการพักฟื้น ซึ่งการที่คุณแม่เคลื่อนไหวน้อย ส่งผลให้ลำไส้ไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลา จนทำให้เกิดอาการท้องผูกนั่นเอง
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ : การที่คุณแม่พักผ่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องเลี้ยงดูลูก นอนไม่หลับ และต้องตื่นมาเลี้ยงลูกกลางดึก ส่งผลให้ร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ และส่งผลกระทบต่อระบบการขับถ่าย
  • ความเครียดหลังคลอด : สำหรับคุณแม่ที่มีความเครียด และความวิตกกังวลหลังจากคลอดบุตร เนื่องมาจากการที่ต้องเลี้ยงดูลูก หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น โรงพยาบาล ก็สามารถก่อให้เกิดความเครียดจนท้องผูกได้
  • ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว : หากคุณแม่จำเป็นต้องเลี้ยงดูลูกทั้งวัน จนบางครั้งอาจทำให้คุณแม่ไม่ค่อยขับถ่าย จนต้องกลั้นอุจจาระนาน ๆ ซึ่งการกั้นอุจจาระนั้น ทำให้อุจจาระเกิดเป็นก้อนขนาดใหญ่ และแข็ง ส่งผลต่อการขับถ่ายของคุณแม่นั่นเอง
  • การใช้ยาบางชนิด : คุณแม่ที่จำเป็นต้องรับประทานยาบางชนิด เพื่อระงับความเจ็บปวดหลังการคลอดบุตร ก็อาจส่งผลต่อระบบขับถ่ายได้ อย่างไรก็ตามหลังจากที่คุณแม่เลิกรับประทานยาแล้ว อาการเหล่านี้จะหายไป และกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมค่ะ
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหาร : อีกหนึ่งปัญหาที่ก่อให้เกิดอาการท้องผูก คือการที่คุณแม่ดื่มน้ำน้อย ไม่รับประทานผัก และผลไม้ หรืออาหารที่มีกากใย จนทำให้เกิดท้องผูกขึ้นมานั่นเอง นอกจากนี้คุณบางคนยังรับประทานวิตามินที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก ส่งผลให้ขับถ่ายยาก และเกิดอาการท้องผูกได้
  • คลอดลูกโดยการผ่าคลอด : คุณแม่ที่คลอดลูกโดยการผ่าคลอด อาจทำให้ลำไส้ยังทำงานไม่ได้ตามปกติ ก่อให้เกิดอาการท้องผูกได้ ดังนั้นคุณแม่อาจต้องใช้เวลา เพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้น และหายจากการบาดเจ็บ
  • กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักบาดเจ็บจากการคลอด : สำหรับคุณแม่ที่ทำการคลอดธรรมชาติ อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดของทวารหนักบาดเจ็บ และการทำงานของลำไส้เคลื่อนไหวได้ยากขึ้น

วิธีรับมืออาการท้องผูกหลังคลอด

แม้ว่าการท้องผูกหลังคลอด จะไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงมากนัก และสามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน แต่คุณแม่ก็ยังสามารถบรรเทาอาการท้องผูก ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ขับถ่ายให้เป็นเวลา

การที่คุณแม่กลั้นอุจจาระบ่อย ๆ อาจทำให้อุจจาระแข็ง ก้อนใหญ่ จนส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ขับถ่ายเมื่อถึงเวลาอุจจาระ พยายามไม่กลั้นอุจจาระ ก็จะช่วยเลี่ยงอาการท้องผูกได้ ทั้งนี้คุณแม่ควรเริ่มฝึกตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์ เพราะอาการท้องผูก สามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างช่วงตั้งครรภ์

  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง

การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารที่สูง จะสามารถช่วยให้ร่างกายทำงานได้ขึ้น โดยทำให้การย่อยอาหาร และการขับถ่ายทำงานได้คล่องตัว โดยอาหารที่มีไฟเบอร์ หรือใยอาหารสูงนั้น ตัวอย่างเช่น กล้วยน้ำว้า แอปเปิล มะละกอ หรือลูกพรุน เป็นต้น นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำผัก เพื่อช่วยให้ร่างกายขับถ่ายได้คล่องตัวอีกเช่นกันค่ะ

  • ดื่มน้ำมาก ๆ

นอกจากรับประทานไฟเบอร์แล้ว คุณแม่ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ อย่างน้อย 8-12 แก้วต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้ทำงานอย่างเต็มที่ อีกทั้งการดื่มน้ำในปริมาณมากนั้น ยังส่งผลให้อุจจาระนิ่มลง และขับถ่ายได้คล่องมากขึ้น คุณแม่จึงไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเบ่งอุจจาระแรง ๆ จนทำให้แผลผ่าคลอดปริได้

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากจะดีต่อสุขภาพร่างกายคุณแม่แล้ว ยังช่วยให้ระบบลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น โดยคุณแม่สามารถออกกำลังกายเบา ๆ หลังจากคลอดลูกแล้ว 2-4 สัปดาห์ เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะ ๆ โยคะ พิลาทิส และว่ายน้ำ เป็นต้น ซึ่งการออกกำลังกายดังกล่าว ก็จะช่วยกระตุ้นให้ระบบขับถ่าย ทำงานได้ดีค่ะ

  • ขมิบอุ้งเชิงกราน

คุณแม่อาจเคยได้ยินว่า การขมิบอุ้งเชิงกราน ช่วยให้ช่องคลอด และมดลูกทำงานได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการขมิบอุ้งเชิงกรานนั้น ยังช่วยให้หน้าท้อง และกล้ามเนื้อทวารทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย โดยคุณแม่สามารถฝึกการขมิบอุ้งเชิงกรานด้วยการคุกเข่า แล้วเอามือยันพื้นเหมือนกำลังคลาน แล้วค่อย ๆ โก่งหลังขึ้น และคลายลง ทำแบบนี้สลับ ๆ กันไป ก็จะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้ดีขึ้น 

บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ แม่ท้องห้ามทำอะไรบ้าง

ท้องผูกหลังคลอด
  • เคลื่อนไหวให้มากขึ้น

อย่างที่รู้กันว่าหลังจากคลอดบุตรแล้ว ร่างกายของคุณแม่ต้องการการพักผ่อน และพักฟื้นอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรนอนนิ่ง ๆ หรือนั่งเฉย ๆ เป็นเวลานาน ควรลุกขึ้นมาเดินเหยาะ ๆ วิ่งเหยาะ ๆ อยู่กับที่ หรือเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ก็จะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดี จนสามารถแก้อาการท้องผูกได้

  • รับประทานยาระบายอ่อน ๆ

บางครั้งการรับประทานยาระบาย ก็สามารถช่วยแก้อาการท้องผูกหลังคลอดได้ โดยหลังจากที่คุณแม่คลอดลูกแล้ว อาจยังไม่ได้ขับถ่าย หรือถ่ายหลายวัน ซึ่งหากคุณแม่กลั้นอุจจาระไว้เป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกเรื้อรัง และริดสีดวงทวารตามมาได้ ดังนั้นการรับประทานยาระบายอ่อน ๆ ก็จะช่วยให้คุณแม่ถ่ายอุจจาระหลังคลอดได้ค่ะ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

การพักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยในช่วงเวลาพักผ่อนนั้น ร่างกายของคุณแม่ก็จะพักผ่อนการทำงานไปด้วย ส่งผลให้ระบบขับถ่ายกลับมาทำงานเป็นปกติ และช่วยให้ระบบขับถ่ายกลับมาทำงานเหมือนเดิม ก็จะช่วยลดอาการท้องผูกหลังคลอดได้เป็นอย่างดี

  • ทำกิจกรรมลดความเครียด

หากคุณแม่มีอาการเครียดหลังจากคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องของการเลี้ยงดูลูก หรือสภาพแวดล้อม ก็จะส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้ ดังนั้นคุณแม่ควรทำกิจกรรมคลายเครียด และคลายความกังวล เช่น การอ่านหนังสือ การนั่งสมาธิ การดูหนัง การฟังเพลง หรือแช่น้ำอุ่น ก็จะสามารถช่วยคลายความเครียด และลดอาการท้องผูกได้ในที่สุด

ท้องผูกหลังคลอด เป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป คุณแม่อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวพอสมควร เพื่อให้ร่างกายได้กลับมาขับถ่ายเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีอาการท้องผูกติดต่อกันถึง 4 วัน หรือมากกว่านั้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แม่ท้องปวดท้องน้อย เกิดจากอะไร อันตรายหรือเปล่า ?

แม่ท้องง่วงนอนบ่อย เกิดจากอะไร ทำอย่างไรให้ง่วงน้อยลง

คนท้องห้ามกินอะไร เครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงท้องมีอะไรบ้าง?

ที่มา : 1, 2, 3, 4, 5