อาการท้อง 9 เดือน ที่สำคัญมีอะไรบ้าง ? และการฝึกหายใจเตรียมคลอด

คุณแม่ท้องไตรมาส 3 เป็นช่วงที่มีโอกาสคลอดได้ตลอด อาการท้อง 9 เดือนเป็นอย่างไร จึงต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี นอกจากการดูแลตนเองที่เน้นความปลอด 

 1459 views

คุณแม่ท้องไตรมาส 3 เป็นช่วงที่มีโอกาสคลอดได้ตลอด อาการท้อง 9 เดือนเป็นอย่างไร จึงต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี นอกจากการดูแลตนเองที่เน้นความปลอดภัย และความแข็งแรงของคุณแม่แล้ว การฝึกหายใจในระดับต่าง ๆ ยังสามารถช่วยฝึกให้คุณแม่เตรียมพร้อม สำหรับการคลอดจริงที่กำลังจะมาถึงด้วย

พัฒนาการของทารกท้อง 9 เดือน

ในช่วงนี้เป็นช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ใกล้คลอดแล้ว โดยจะมีอายุครรภ์อยู่ระหว่าง 36 – 40 สัปดาห์ ทำให้ทารกในครรภ์จะมีความสมบูรณ์ของพัฒนาการเพิ่มมากขึ้น สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • เบื้องต้นทารกในครรภ์ 9 เดือน จะมีความยาวของลำตัวประมาณ 50 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 3,500 กรัม
  • ผิวหนังของทารกมักมีสีออกไปทางชมพู มีความเรียบมากขึ้น แตกต่างจากอายุครรภ์ช่วงก่อน ๆ ที่ผิวหนังของทารกจะมีความย่นมากกว่า
  • ในช่วงนี้ผมของทารกจะยาวอย่างเห็นได้ชัดเฉลี่ยประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร กล้ามเนื้อแขนและขาพัฒนาอย่างสมบูรณ์ เล็บของทารกมีความยาวมากขึ้น
  • ระบบหายใจของทารกมีความสมบูรณ์ขึ้นมาก ปอดสามารถทำงานได้อย่างดี เพื่อรองรับการหายใจด้วยตนเองของทารก เมื่อคลอดออกมา
  • ทารกในครรภ์จะอยู่ในท่าทางที่สอดรับเตรียมตัวกับการคลอดที่กำลังจะตามมา นั่นคืออยู่ในท่ากลับตัวเอาหัวลงมา


ทารกบางคนอาจอยู่ในท่าทางที่ไม่พร้อมสำหรับการคลอด เช่น เอาก้นลงแทนหัว หรือทารกไม่กลับหัว แพทย์จะพิจารณาอาจแก้ไขด้วยการนวด หรือใช้การผ่าคลอดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในช่วงเวลานั้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ ครรภ์เกินกำหนด ทำอย่างไรดี ?


วิดีโอจาก : theAsianparent

อาการท้อง 9 เดือน มีอะไรสำคัญบ้าง ?

ช่วงเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ การเรียนรู้อาการท้องอายุ 9 เดือนสำคัญมาก เนื่องจากคุณแม่สามารถคลอดสัปดาห์ไหนก็ได้ตลอดเดือนนี้ ไม่จำเป็นต้องตรงตามกำหนด เพราะแม่ท้องส่วนน้อยที่จะคลอดตรงตามกำหนดคลอดที่วางไว้ ให้สังเกตอาการของคนท้องต่าง ๆ ดังนี้

  • อ่อนเพลีย พักผ่อนได้น้อย : เมื่อเข้าสู่ช่วงท้องแก่ใกล้คลอดแล้ว ขนาดครรภ์ของคุณแม่จะมีขนาดที่ใหญ่มากขึ้นด้วย ทำให้เมื่อคุณแม่ทำกิจกรรมต่าง ๆ จะรู้สึกว่าตนเองเหนื่อยง่ายกว่าปกติ เวียนหัวคลื่นไส้ มีความเหนื่อยล้ามากขึ้น นอกจากนี้ขนาดตัวของทารกที่ใหญ่ขึ้น ประกอบกับการดิ้นในครรภ์บ่อย ทำให้คุณแม่อาจนอนหลับไม่สนิทในช่วงกลางคืนด้วย
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย : อาการปวดหลัก ๆ ที่สามารถพบเจอได้ คือ อาการปวดหลังมาก เนื่องจากร่างกายของคุณแม่ต้องแบกรับขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นกว่าไตรมาสอื่น และอาการปวดเชิงกราน จากการที่ทารกขยับตัวเพื่อให้เหมาะต่อการคลอด ทำให้เกิดการกดทับบริเวณเชิงกรานจนมีอาการปวดได้
  • ระบบขับถ่ายมีปัญหา : การขยายตัวของทารกยังส่งผลต่ออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่าย หรือระบบย่อยอาหารได้ เช่น ทารกเบียดลำไส้จากการเคลื่อนตัวให้พร้อมต่อการคลอด ทำให้ลำไส้ทำงานได้น้อยกว่าปกติ จนเกิดอาการท้องผูกบ่อย ๆ หรือการที่ทารกเบียดกระเพาะปัสสาวะ จนทำให้เกิดการบีบรัดส่งผลให้แม่ท้องปัสสาวะบ่อยขึ้นในช่วงนี้
  • อยากอาหารน้อยลง : ในขณะเดียวกันคุณแม่บางคนยังอาจมีความอยากอาหารมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แต่ส่วนมากคุณแม่จะหิวน้อยลงเนื่องจาก ขนาดตัวของทารกที่ใหญ่ ทำให้พื้นที่ในท้อง รับอาหารได้น้อยลงกว่าเดิม


การดูแลสุขภาพของคนท้อง 9 เดือน

สำหรับการดูแลคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 9 เดือน ไม่ได้แตกต่างจากการดูแลจากช่วงก่อน ๆ มากนัก ทุกอย่างยังคงทำปกติเน้นที่ความปลอดภัย และการเสริมสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง และคอยเฝ้าระวังอาการ หรือสัญญาณของการคลอดอยู่เสมอ ๆ ส่วนการดูแลเบื้องต้น มีดังนี้

  • ฝึกหายใจด้วยการสูดหายใจเข้าลึก ๆ เอามือข้างหนึ่งวางไว้บนหน้าท้อง สังเกตให้ท้องป่องขึ้นตอนหายใจเข้า และหายใจออกผ่านทางปากช้า ๆ แทนการใช้จมูก นอกจากนี้ยังสามารถฝึกหายใจระดับอก ด้วยวิธีเดียวกัน แต่ให้จับบริเวณหน้าอกให้พองขึ้น
  • ฝึกหายใจระดับคอด้วยการสูดหายใจเข้าสั้น ๆ เร็ว ๆ ให้ถึงระดับแค่คอเท่านั้น จากนั้นให้หายใจออกทางปากแบบถี่ ๆ การฝึกหายใจทุกรูปแบบจะช่วยให้คุณแม่รับมือกับสถานการณ์จริงในระหว่างทำคลอดได้มากขึ้น
  • ให้ความสำคัญกับมื้ออาหารอยู่ คุณแม่ตั้งครรภ์ตลอดทุกช่วงไตรมาส ต้องการสารอาหาร และแร่ธาตุต่าง ๆ เพื่อบำรุงครรภ์ และทำให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรง โดยมากให้เน้นทานอาหารง่าย ๆ เช่น เนื้อสัตว์, ไข่, นม, ถั่ว, และผักผลไม้ เป็นต้น
  • สุขลักษณะ และอนามัยต้องดี เพื่อป้องกันเชื้อโรค ด้วยขนาดครรภ์ที่ใหญ่ควรใส่ชุดคลุมท้องเพื่อความสะดวกสบาย เลี่ยงรองเท้าส้นสูงเพื่อป้องกันอันตราย ล้างมือก่อน – หลัง รับประทานอาหาร และดูแลความสะอาดของเครื่องนอน เนื่องจากคุณแม่ที่อ่อนเพลียบ่อย อาจต้องใช้เครื่องนอนบ่อยขึ้นด้วย


อาการท้อง 9 เดือน


ท้อง 9 เดือนแต่ท้องแข็งบ่งบอกอะไร ?

คุณแม่หลายคนอาจมีความกังวลเมื่อรู้สึกว่าตนเองมีอาการท้องแข็ง แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการนี้ไม่ใช่อาการผิดปกติแต่อย่างใด เนื่องจากมีสาเหตุที่เกิดขึ้นได้หลายอย่าง ทำให้มีโอกาสพบเจออาหารบ่อยขึ้น เช่น การกลั้นปัสสาวะ, การมีเพศสัมพันธ์, ทารกพลิกตัว หรือการทานอาหารที่มากเกินไป เป็นต้น ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงสามารถแก้ได้จากต้นเหตุที่สามารถแก้ได้ เช่น เลี่ยงการทานอาหารจนอิ่มมากเกินไป หรือเลี่ยงการบิดขี้เกียจบ่อย ๆ และระมัดระวังการมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง เป็นต้น

นอกจากนี้อาการท้องแข็ง ยังเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาณการคลอด โดยมักจะมีอาการท้องแข็งร่วมกับอาการเจ็บท้องด้วย หากมีอาการเหล่านี้อาจต้องรีบพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย ระหว่างนั้นให้สังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย

การดูแลอาการท้อง 9 เดือน ในช่วงนี้มีความสำคัญมาก การเฝ้าระวังอาการสัญญาณที่บ่งบอกต่อการคลอดต้องทำอยู่ตลอด หากมีข้อสงสัยเรื่องของการตั้งครรภ์ ไม่ควรเก็บไว้ ควรสอบถามแพทย์เพื่อคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

สีปัสสาวะคนท้อง บ่งบอกอะไร ปัสสาวะแบบไหนอันตรายต่อแม่ท้อง ?

แม่ท้องกินไข่ ดีอย่างไร ทานวันละกี่ฟองถึงจะดี ?

ผ่าคลอดแล้ว ท้องต่อไปจะต้องผ่าอีกไหม ครรภ์แบบไหนต้องผ่าคลอด ?

ที่มา : 1, 2, 3