เต้านมคัด ปวดเต้านม รับมืออย่างไร จะเป็นอันตรายไหม?

เต้านมคัด เป็นอีกหนึ่งอาการที่คุณแม่หลายคนต้องเผชิญหลังจากคลอดลูก เนื่องจากร่างกายผู้หญิงมีการผลิตน้ำนมมากเกินไป จนทำให้ลูกดูดนมไม่ทัน จ 

 1511 views

เต้านมคัด เป็นอีกหนึ่งอาการที่คุณแม่หลายคนต้องเผชิญหลังจากคลอดลูก เนื่องจากร่างกายผู้หญิงมีการผลิตน้ำนมมากเกินไป จนทำให้ลูกดูดนมไม่ทัน จึงทำให้คุณแม่มีอาการคัดเต้านมที่สร้างความเจ็บปวดให้ไม่น้อย วันนี้ Mama Story จะพาคุณแม่ทุกท่านไปดูกันว่าเต้านมคัด ปวดเต้านม เกิดจากอะไร เป็นอันตรายไหม และมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง อย่ารอช้า ไปดูกันเลยค่ะ

เต้านมคัดเกิดจากอะไร?

เต้านมคัดมักเกิดได้หลายสาเหตุ แต่หลัก ๆ จะเกิดจากการไหลเวียนของเลือด และปริมาณน้ำนมของคุณแม่ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการคัดเต้า มีดังนี้

  • ให้ลูกหย่านมแม่เร็วเกินไป
  • ร่างกายผลิตน้ำนมมามากเกินไป
  • เว้นระยะการให้นมลูกนานเกินไป
  • ลูกดูดนมแม่น้อย หรือดูดไม่ค่อยบ่อย
  • ไม่ได้ระบายน้ำนมออกในช่วงที่ไม่ได้ให้นมลูก
  • ให้นมผิดท่า หรือไม่ถูกวิธี จนทำให้ลูกดูดนมไม่สะดวก

บทความที่เกี่ยวข้อง : รอบรู้ทุกประโยชน์ของนมแม่ และการเก็บรักษานมเพื่อลูกรัก

เต้านมคัด

อาการเต้านมคัด

สำหรับอาการเต้านมคัด มักเกิดในช่วงหลังคลอดบุตร ซึ่งเป็นช่วงที่เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนม ส่งผลให้คุณแม่มีอาการคัดเต้านม เจ็บ ปวด และแข็งบริเวณเต้านม ทั้งนี้อาการเต้านมคัด เกิดจากการไหลเวียนของเลือด และปริมาณของน้ำนมแม่ที่เพิ่มมากขึ้น โดยอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นทั้งสองเต้า แต่ก็ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ซึ่งคุณแม่หลังคลอดอาจมีอาการนี้ ในช่วงสองสามวันแรก และจะหายไปเอง นอกจากนี้ เมื่อคุณแม่มีอาการเต้านมคัด ก็มักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้เล็กน้อย น้ำนมไหลไม่ดี หรือหัวนมสั้นลงจนทำให้ลูกดูดนมไม่ได้ เป็นต้น

วิธีบรรเทาอาการเต้านมคัด

หากคุณแม่มีอาการคัดเต้านม ปวดเต้านม เนื่องจากการมีน้ำนมมากเกินไป สามารถบรรเทาอาการได้ด้วย วิธีดังต่อไปนี้

1. บีบน้ำนมออกจากเต้า

หากคุณแม่มีอาการคัดเต้านม ให้พยายามบีบน้ำนมออกจากเต้าให้ได้มากที่สุด โดยให้เริ่มบีบจากลานหัวนมให้นุ่มลง ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี และยังช่วยให้ลูกดูดนมได้ง่ายขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้คุณแม่ควรบีบนมออกจากเต้าบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้เกิดอาการคัดขึ้นมาค่ะ

2. ให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ

คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ โดยให้ดูดต่อเนื่องเป็นประจำทุก 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยระบายนมออกจากเต้า และกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำนมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงตอนกลางคืน คุณแม่สามารถปลุกลูกขึ้นมาดูดเต้านม แต่หากลูกไม่ยอมดูดเต้านม ให้ใช้วิธีการปั๊มนมใส่ไว้ในตู้เย็น ก็จะช่วยลดอาการคัดเต้านม และยังสามารถเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกได้ในภายหลังด้วยค่ะ

3. ประคบเย็น

การประคบเย็น เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดอาการคัดเต้านมได้ โดยคุณแม่สามารถใช้วิธีการประคบด้วยน้ำแข็ง หรือผ้าที่ชุบน้ำเย็นบิดหมาด มาประคบเต้านมหลังจากให้นมลูกเสร็จแล้ว ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลดลงได้ อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรระมัดระวังไม่ให้ประคบโดนหัวนม เพราะอาจทำให้เต้านมแตก และเจ็บอีกได้

4. ประคบอุ่น

นอกจากการประคบเย็นแล้ว การประคบอุ่นสามารถช่วยแก้อาการเต้านมคัดได้เช่นกัน โดยคุณแม่สามารถนำผ้าขนหนูอุ่นมาประคบรอบเต้านมทั้งสองข้างก่อนให้ลูกดูดนม และทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวด และทำให้ลานนมนุ่มขึ้น จนทำให้ลูกดูดนมได้ง่ายขึ้น

5. ปรึกษาแพทย์

หากคุณแม่มีอาการเต้านมคัดบ่อย ๆ แม้ว่าจะบีบน้ำนมออกไปแล้วก็ตาม แต่ยังมีอาการคัดตึง และอาการปวดอยู่ ควรไปปรึกษากับแพทย์โดยตรง เพื่อให้แพทย์ให้คำแนะนำ และช่วยรักษาอาการคัดเต้าได้ นอกจากนี้คุณแม่ยังควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : อยู่ไฟหลังคลอดคืออะไร ยังจำเป็นอยู่ไหมสำหรับคุณแม่ยุคใหม่?

เต้านมคัด

ท่านวดเต้านมแก้เต้านมคัด

นอกจากวิธีการบรรเทาอาการเต้านมคัดข้างต้นแล้ว คุณแม่สามารถใช้ท่านวดเต้านมเพื่อแก้เต้านมคัดได้ด้วย โดยคุณแม่สามารถใช้ท่าดังต่อไปนี้

1. นวดคลึงเต้า

ท่านวดแรก เป็นการวอร์ม และอุ่นเต้านมให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น โดยคุณแม่สามารถใช้ข้อนิ้วมือ หรือบริเวณฝ่ามือนวดคลึงบริเวณเต้านม และค่อย ๆ นวดเป็นแบบก้นหอย ทั้งด้านบนล่าง และซ้ายขวา จากนั้นนวดคลึงไปเรื่อย ๆ จนกว่าเต้านมคุณแม่จะเริ่มนิ่ม โดยในช่วงแรก คุณแม่อาจมีเต้านมค่อนข้างคัด และแข็ง ให้นวดไปเรื่อย ๆ ประมาณ 2-3 นาที จนกว่าเต้านมจะนิ่มลง

2. นวดหัวนม และลานนม

ท่าต่อมา เป็นการนวดบริเวณหัวนม และลานนม ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะเป็นส่วนของปลายท่อน้ำนม ซึ่งท่านวดนี้จะเป็นการนวดเพื่อเปิดปลายท่อ ทำให้น้ำนมไหลได้ง่ายขึ้น โดยวิธีนวดให้คุณแม่ใช้นิ้ว 2 นิ้ว หรือ 3 นิ้ว ประคองด้านล่างบริเวณหัวนม จากนั้นให้ใช้นิ้วโป้งจดลงจากด้านซ้ายของหัวนม แล้วค่อย ๆ คลึงวน เหมือนท่านวดคลึงเต้า ทั้งบนล่าง ซ้ายขวา จนกว่าหัวนมจะเริ่มนิ่ม เมื่อหัวนมเริ่มนม ให้คุณแม่เลื่อนลงมาที่ลานนม แล้วค่อย ๆ คลึงเหมือนเดิมจนกว่าจะนิ่ม ก็จะช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้นค่ะ

3. นวดบีบไล่นม

ท่านวดสุดท้าย เป็นการบีบไล่น้ำนม โดยให้คุณแม่ใช้มือ ทำเป็นรูปตัวซี ด้วยนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง มาประคองเต้านม โดยให้ใช้นิ้วกลางยกเต้าขึ้น แล้วให้นิ้วโป้ง และนิ้วชี้อยู่บริเวณขอบลานนม กดไปที่ขอบลานนม จากนั้นถ่างนิ้วออก ให้รู้สึกว่าหัวนมตึง หลังจากนั้นให้คุณแม่ค่อย ๆ บีบไล่เต้านมไปเรื่อย ๆ ก็จะช่วยให้น้ำนมไหลได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้คุณแม่สามารถใช้การประคบร้อนก่อนเริ่มนวดวิธีนี้ เพื่อช่วยให้น้ำนมไหลเวียนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

หากคุณแม่มีอาการคัดเต้านม ปวดเต้านม สามารถใช้วิธีข้างต้นเพื่อบรรเทาอาการได้ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอาการเต้านมคัดจะดีกว่า เพราะการให้นมลูกเป็นสิ่งสำคัญในช่วงนี้ นอกจากนี้ หากคุณแม่มีอาการคัดเต้านม ควรหมั่นปั๊มนมเก็บไว้ในตู้เย็น ก็จะช่วยลดอาการคัดเต้า และยังช่วยให้ลูกมีน้ำนมไว้ดื่มอีกด้วย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แม่ท้องปวดท้องน้อยเกิดจากอะไร อันตรายหรือเปล่า?

คนท้องปวดหลัง อันตรายไหม บรรเทาอาการด้วยวิธีใดได้บ้าง?

คนท้องปวดหัว รับมืออย่างไร แม่ท้องปวดหัวอันตรายต่อลูกในครรภ์ไหม?

ที่มา : 1, 2, 3