อยู่ไฟหลังคลอดคืออะไร ยังจำเป็นอยู่ไหมสำหรับคุณแม่ยุคใหม่ ?

อยู่ไฟหลังคลอด เป็นทางเลือกของคุณแม่ยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิธีการปรับสภาพร่างกายให้กลับมามีสมดุลอีกครั้ง วิธีนี้ถูกใช้มาแต่โบราณ แต่ในปัจจ 

 1738 views

อยู่ไฟหลังคลอด เป็นทางเลือกของคุณแม่ยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิธีการปรับสภาพร่างกายให้กลับมามีสมดุลอีกครั้ง วิธีนี้ถูกใช้มาแต่โบราณ แต่ในปัจจุบันมีอีกหลายวิธีที่สามารถทำได้สะดวกกว่า และใช้เวลาน้อยกว่า หากคุณแม่คนไหนกำลังสนใจเรื่องการอยู่ไฟต้องศึกษาเรื่องนี้กันก่อน

อยู่ไฟหลังคลอด คืออะไร

การอยู่ไฟของคุณแม่หลังคลอดเป็นศาสตร์ของแพทย์แผนไทยสมัยโบราณ ที่ช่วยให้ร่างกายของแม่หลังคลอดสามารถปรับสมดุลได้เร็วมากขึ้น โดยมีคำอธิบายว่าการคลอดลูกจะทำให้ธาตุทั้ง 4 ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะธาตุไฟ ทำให้อาจเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ตามมา เช่น ปวดเมื่อยไม่สบายตัว, มีอาการหนาวสั่น หรือตึงบริเวณเต้านม เป็นต้น ซึ่งการอยู่ไฟสามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ อีกทั้งยังช่วยขับน้ำคาวปลาได้อีกด้วย

แต่ด้วยเป็นวิธีโบราณจึงถูกลดความนิยมไปตามยุคสมัยที่ผ่านมา ทำให้พบเห็นได้ไม่มาก แต่การอยู่ไฟนั้นยังเป็นทางเลือกที่ยังพบเห็นได้มากอยู่ โดยในปัจจุบัน ได้มีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยมากขึ้น สะดวกมากขึ้น และใช้เวลาน้อยลง โดยยังคงประโยชน์ไว้เช่นเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง : รอบรู้ทุกประโยชน์ของนมแม่ และการเก็บรักษานมเพื่อลูกรัก

วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care

ประโยชน์ของการอยู่ไฟ

เนื่องจากเป็นวิธีที่มีจุดกำเนิดมาแต่โบราณ ซึ่งคนโบราณมีความเชื่อว่าสามารถแก้ปัญหา หรือความเสี่ยงของคุณแม่หลังคลอดอยู่หลายอย่าง ดังนี้

  • ช่วยให้ร่างกายปรับสภาพจากอาการเหนื่อยล้าจากการคลอด
  • คลายความปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ช่วยขับน้ำคาวปลา
  • กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต
  • ช่วยให้หน้าท้องยุบแบนได้เร็วขึ้น
  • ป้องกันอาการหนาวสั่นหลังผ่านการคลอด


อยู่ไฟหลังคลอดในอดีต vs ในปัจจุบัน

การอยู่ไฟในอดีตเป็นการให้แม่หลังคลอดได้รับความอุ่นจากวัตถุต่าง ๆ เช่น นั่งถ่าน, การก่อไฟใต้แคร่ หรือนอนผิงไฟในกระโจม เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น เป็นต้น โดยต้องทำแบบนี้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ห้ามอาบน้ำ ห้ามดื่มน้ำเย็น และต้องทานข้าวกับเกลือ หรือปลาเค็มด้วย ซึ่งมีความแตกต่างกับในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

การปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยช่วยให้สามารถทำการอยู่ไฟได้อย่างสะดวกมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เฉพาะ และไม่ต้องใช้เวลานาน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ชุดคาดไฟ, ชุดคาดไฟ หรือตู้อบไอน้ำ เป็นต้น ซึ่งหลายวิธีสามารถทำได้เอง และสามารถหาอุปกรณ์ได้ง่ายอีกด้วย

อยู่ไฟเองที่บ้านทำอย่างไรให้ได้ผลดี ?

สามารถทำได้ในช่วง 3 เดือนหลังคลอด ด้วยการนำสมุนไพรมาต้ม และตั้งหม้อต้มไว้ใกล้ ๆ ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกดี ควรทำต่อเนื่องกันประมาณ 3 ครั้ง/วัน ครั้งละประมาณ 15 นาทีเท่านั้น ส่วนระยะเวลาในการทำขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามคำแนะนำจากแพทย์ ร่วมกับการจิบน้ำร้อน หรือน้ำสมุนไพร เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำจากอาการเหงื่อออก นอกจากนี้คุณแม่ไม่ควรอยู่ไฟโดยลำพัง ควรมีคนคอยช่วยดูแล และห้ามตัดสินใจทำเอง โดยไม่ผ่านการปรึกษาจากแพทย์ก่อน เพราะถึงแม้จะทำได้ไม่ยาก และทำได้ที่บ้าน แต่อาจมีข้อบังคับ หรือข้อควรระวังที่ต้องรู้ก่อนเสมอ

อยู่ไฟหลังคลอด


การอยู่ไฟยังจำเป็นอยู่ไหมในปัจจุบัน ?

จากข้อมูลของกรมอนามัยแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลโดยสรุปว่า การอยู่ไฟไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับคุณแม่หลังคลอดในปัจจุบันแล้ว เนื่องจากวิธีการทำคลอด และขั้นตอนการดูแลขณะทำคลอดมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปมาก ทำให้ได้รับความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ได้ส่งผลกระทบเท่าในอดีต อีกทั้งโดยปกติแล้วคุณแม่ที่เพิ่งทำการคลอดลูกจะได้รับการดูแลหลังคลอดจากโรงพยาบาลอยู่แล้ว ดังนั้นการอยู่ไฟจึงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของการรักษาสุขภาพของคุณแม่เท่านั้น ไม่ได้มีข้อบังคับที่ต้องทำแต่อย่างใด


ข้อควรระวังหากต้องการอยู่ไฟหลังคลอด

  • ต้องจิบน้ำเสมอ เพราะอาจเสี่ยงต่ออาการขาดน้ำได้
  • ระวังเรื่องความร้อน ต้องไม่มากเกินไป เพราะจะส่งผลต่อร่างกาย และผิวหนัง
  • ห้ามนำเด็กทารกเข้าไป เพราะจะทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้
  • กรณีมีแผลเย็บไม่ควรอยู่ไฟ อาจทำให้ไหมละลาย ควรรออย่างน้อย 7 วัน
  • ระวังเรื่องการเลือกใช้วัสดุที่ทำให้เกิดไฟ เพราะไม้บางชนิดอาจมีควันมากเกินไป
  • หากมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือรู้สึกไม่สบาย ไม่ควรอยู่ไฟต่อ


การอยู่ไฟหลังจากคุณแม่คลอดเป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ เมื่ออยู่ในมือแพทย์แล้ว หากต้องการบำรุงหลังคลอด จะดีกว่าหากปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีที่สะดวกกว่า และไม่ต้องคอยเฝ้าระวังเท่ากับการอยู่ไฟ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

5 วิธีแก้คลื่นไส้อาเจียน ปัญหาน่าปวดหัวของคุณแม่ตั้งครรภ์

7 สัญญาณเตือนก่อนคลอด มีอาการอะไรบ้างที่คุณแม่ห้ามพลาด

6 ประโยชน์ของน้ำสะอาด ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจไม่รู้

ที่มา : 1 2 3