คุณแม่หลายคนอาจเผชิญกับปัญหา ผมร่วงหลังคลอด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะคุณแม่บางคนอาจมีอาการผมร่วงเยอะผิดปกติ จนอาจสงสัยว่าทำไมหลังคลอดลูกแล้วผมร่วง ผมร่วงแล้วรักษาอย่างไรได้บ้าง วันนี้ Mama Story จะพาคุณแม่ทุกท่านไปคลายข้อสงสัยกันค่ะ
ภาวะผมร่วงของคุณแม่หลังคลอด
ภาวะผมร่วงหลังคลอด เป็นอาการที่ผมร่วงมากกว่าปกติ มักจะเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอดบุตร เนื่องจากระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสารอาหารจากการตั้งครรภ์ และภาวะความเครียดก็ส่งผลให้ผมร่วงนั่นเอง ผมร่วงหลังคลอดมักเกิดขึ้นในช่วงหลังคลอด 1-4 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายปรับตัวจากการคลอดลูกได้แล้ว ทำให้เส้นผมเก่า ๆ ถูกผลัดออกตามวงจรผม ทั้งนี้อาการผมร่วงจะไม่เกิดถาวร เมื่อหายแล้ว ผมก็สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ และจะกลับมาเป็นปกติหลังคลอดลูก 6-12 เดือน
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 สัญญาณเตือนก่อนคลอด มีอาการอะไรบ้างที่คุณแม่ห้ามพลาด
อาการผมร่วงหลังคลอดเป็นอย่างไร?
อาการผมร่วงหลังคลอด จะเกิดขึ้นหลังคลอดประมาณ 3 เดือน โดยผมจะค่อย ๆ ร่วงแบบกระจายทั้งศีรษะ ประมาณวันละ 400-500 เส้น จนอาจทำให้ผมคุณแม่ดูบางลงกว่าเดิม คุณแม่บางคนอาจมีอาการผมบางลงจนเห็นหนังศีรษะชัดขึ้นได้ โดยผมของคุณแม่จะร่วงเยอะในตอนที่หวีผม และสระผม แต่คุณแม่ยังสามารถหวีผม และสระผมได้เป็นปกติ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวนี้ ไม่ได้ทำให้ผมร่วงแต่อย่างใด แต่เป็นการเกิดจากวัฏจักรของผมปกติอยู่แล้ว นอกจากนี้การตัดผมสั้น ก็ไม่ช่วยให้ผมร่วงน้อยลงแต่อย่างใด ดังนั้นคุณแม่จึงควรใช้วิธีการรักษา บำรุงเส้นผม และป้องกันดีกว่า
ผมร่วงหลังคลอดเกิดจากอะไร?
โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผมร่วงจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล แต่โดยปกติแล้ว อาการผมร่วงนั้น เกิดจากสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเมื่อคลอดลูกแล้ว ร่างกายจะปรับฮอร์โมนให้สมดุลเหมือนเดิม โดยในช่วงปรับตัวนั้น ฮอร์โมนจะลดลงอย่างกะทันหัน ซึ่งจะทำให้ผมร่วงตามมาได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผมร่วงทันที แต่จะค่อย ๆ หลุดร่วงอย่างเรื่อย ๆ ดังนั้นคุณแม่จึงอาจพบอาการผมหลุดร่วงได้ในทุกวันหลังจากคลอดลูกไป 3 เดือน
การขาดสารอาหาร
หากคุณแม่ขาดสารอาหาร ก็อาจทำให้เกิดอาการผมร่วงแล้ว เพราะสารอาหารที่คุณแม่รับประทาน จำเป็นต้องแบ่งส่วนหนึ่งให้กับลูกในครรภ์ ถ้าหากได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอนั้น ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดสารอาหารไม่รู้ตัวได้ แต่การขาดสารอาหารระหว่างตั้งครรภ์ อาจไม่ทำให้ผมร่วงโดยตรง เพราะยังมีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยรักษาผมได้ แต่หลังจากที่คลอดนั้น ก็อาจทำให้เกิดอาการผมร่วงตามมา ดังนั้นคุณแม่จึงควรรับประทานโปรตีน ไบโอติน วิตามินบี 7 และธาตุเหล็ก ให้เพียงพอตั้งแต่ตั้งครรภ์ เพื่อช่วยป้องกัน และรักษาอาการผมร่วงได้
ความเครียด
หลายคนอาจไม่รู้ว่าความเครียดสามารถส่งผลให้ผมร่วงได้ เพราะความเครียดจะส่งผลต่อทั้งพฤติกรรม และฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายทำงานได้ไม่ดี จนอาจส่งผลกับเส้นผม ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) โรคผมร่วงทั่วศีรษะ (Telogen Effluvium) และโรคดึงผม (Trichotillomania) เป็นต้น ทั้งนี้คุณแม่ที่พึ่งคลอดบุตรอาจมีอาการความเครียดมากกว่าปกติ จากการเลี้ยงลูก และระดับฮอร์โมนต่าง ๆ จนอาจก่อให้เกิดอาการหงุดหงิด และโรคซึมเศร้าตามมาได้
ผมร่วงมาก ๆ อันตรายไหม?
โดยทั่วไปแล้ว คนปกติจะมีผมร่วงวันละ 100 เส้นต่อวัน แต่คุณแม่หลังคลอดจะมีผมร่วง 400-500 เส้นต่อวัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นคุณแม่ไม่ต้องกังวลมากเกินไปนะคะ เพราะอาการผมร่วงไม่ได้อันตรายอย่างใด เมื่อครบ 6-12 เดือน ผมก็จะงอกขึ้นตามปกติโดยไม่ต้องรักษาได้ แต่สำหรับคุณแม่ที่มีอาการผมร่วงเกิน 1 ปีไปแล้ว ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย และรักษาให้เส้นผมกลับมาแข็งแรงต่อไป
วิธีรักษาอาการผมร่วง
สำหรับคุณแม่ที่มีอาการผมร่วงหลังคลอด ผมจะสามารถงอกขึ้นได้เองหลังจากผ่านไประยะหนึ่ง แต่หากคุณแม่รู้สึกไม่สบายใจ และกังวลกับปัญหาผมร่วง สามารถใช้วิธีการรักษาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ไม่หวีผมบ่อย : แม้ว่าการหวีผม จะไม่ทำให้ผมร่วงมากขึ้นก็ตาม แต่การหวีผมบ่อย ๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดการทำลายเคลือบผมชั้นนอกได้ ส่งผลให้เส้นผมที่ไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เปราะบางลง และร่วงมากกว่าเดิม
- นวดหนังศีรษะ : คุณแม่สามารถนวดกระตุ้นหนังศีรษะ เพื่อช่วยให้รากผมทำงานได้ดีขึ้นได้ โดยคุณแม่สามารถนวดหนังศีรษะ โดยการก้มหัวลง แล้วค่อย ๆ นวดตอนสระผม ก็จะช่วยให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดฝอยที่หนังศีรษะมากขึ้น และสามารถบรรเทาอาการผมร่วงได้
- ใช้ครีมนวดผม : การใช้ครีมนวดผม หมักผม หรือแชมพูแก้ผมหลุดร่วง สามารถช่วยลดอาการผมร่วงได้ แต่คุณแม่ควรใช้แชมพูที่เป็นสูตรอ่อนโยน ไม่แรงจนเกินไป เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี : ในช่วงที่ผมร่วง คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการทำเคมีกับเส้นผมไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นการใช้มูส เจล การทำสี การยืดผม และการใช้น้ำยาดัด รวมถึงไม่ควรใช้ความร้อนกับเส้นผมด้วย เพราะอาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการผมร่วงมากกว่าเดิม
- ปรึกษาแพทย์ : หากคุณแม่พบว่าอาการผมร่วงมากจนเกินไป และร่วงเป็นเวลานานมากกว่า 1 ปี ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับวินิจฉัยสาเหตุ และรักษาอาการต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องกินไข่ ดีอย่างไร ทานวันละกี่ฟองถึงจะดี?
วิธีป้องกันอาการผมร่วง
แม้ว่าคุณแม่จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ผมร่วงจะเกิดขึ้นได้น้อยหรือมากเท่าไหร่ แต่คุณแม่ก็สามารถป้องกันอาการผมร่วงไว้ก่อนได้ โดยการใช้วิธีป้องกัน ดังต่อไปนี้
- งดสูบบุหรี่ : อย่างที่เรารู้กันดีกว่า การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับคุณแม่ อาจทำให้เส้นเลือดหดเกร็งความดันสูง และไปทำลายเส้นเลือดฝอยบริเวณรากผมได้
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ : การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ช่วยให้เส้นผมกลับมางอกขึ้นตามปกติได้ โดยคุณแม่ควรเน้นไปที่โปรตีนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ปลา ถั่ว และผลิตภัณฑ์จากนม ก็จะช่วยให้ผมงอกขึ้นเป็นอย่างดี
- รับประทานอาหารเสริม : คุณแม่สามารถรับประทานอาหารเสริมวิตามิน และแร่ธาตุ เช่น ผลไม้ ผักใบเขียว ธัญพืช และปลาไขมันสูง เพื่อช่วยบำรุงผมของคุณแม่หลังคลอด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด : การรับประทานอาหารรสจัด และอาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้ความดันสูง และไปทำลายเส้นเลือดฝอยบนหนังศีรษะ จนทำให้เกิดอาการผมร่วงนั่นเอง
- ไปรักษาผมบาง : คุณแม่สามารถไปรักษาผมบางเบื้องต้น เพื่อช่วยรับมืออาการผมร่วงได้ โดยใช้เลเซอร์ การทำ PRP หรือการฉีดสเต็มเซลล์ผม เป็นต้น ก็จะช่วยบำรุงเส้นผม และหนังศีรษะได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าอาการผมร่วงหลังคลอด จะสามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่หลังคลอด แต่คุณแม่ไม่ควรกังวลใจมากจนเกินไปนะคะ เพราะอาการผมร่วงจะกลับมาเป็นปกติหลังคลอดลูก 6-12 เดือน ทั้งนี้คุณแม่สามารถใช้วิธีการรักษาง่าย ๆ ด้วยการบำรุงหนังศีรษะอย่างครีมนวดผม หรือการนวดหนังศีรษะ ก็จะช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผมได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินเยอะขึ้นเพราะอะไร กินแบบไหนถึงไม่อ้วน ?
ดื่มน้ำขิงแบบไหนให้ดีต่อแม่ท้อง พร้อมสูตรต้มน้ำขิงง่าย ๆ
ภาวะซึมเศร้า อาการเป็นอย่างไร แม่ท้องเป็นซึมเศร้าอันตรายไหม?