เพื่อให้การตั้งครรภ์และการคลอด เป็นไปด้วยความปลอดภัย เมื่อถึงเวลา หมอนัดตรวจครรภ์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรเลี่ยงที่สุดค่ะ เพราะในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ใช้เวลากว่า 280 วัน หรือราว 40 สัปดาห์ได้ ซึ่งในระหว่างนั้นร่างกายของคุณแม่ จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายด้าน การไปหาหมอตามที่นัด จะทำให้ช่วยติดตามอาการและเฝ้าระวังปัญหาอื่น ๆ ที่อาจแทรกซ้อนตามมาได้ค่ะ วันนี้ Mamastory จะพาไปดูว่า เมื่อหมอนัดตรวจครรภ์ การไม่ไปตรวจครรภ์ตามนัดจะเป็นอะไรไหม และมีสัญญาณอันตรายที่ต้องไปพบหมอโดยด่วน หากพร้อมแล้วไปอ่านบทความดี ๆ ได้เลยค่ะ !
การฝากครรภ์ คืออะไร ?
เพราะในการตั้งครรภ์ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกายของแม่ท้อง เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอก และภายในร่างกาย ซึ่งบางรายหากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็กแล้ว การเข้ารับฝากครรภ์และไปตามนัดหมอ จะช่วยให้คุณแม่และควรในครอบครัว ช่วยดูแลได้อย่างถูกวิธี
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ต้องรู้! น้ำหนักคนท้อง แต่ละเดือนควรหนักเท่าไหร่? มาดูกัน
อีกทั้งเพราะการตั้งครรภ์ ใช้เวลานานกว่า 9 เดือน เพื่อการดูแลอย่างเป็นระบบ และเหมาะสมกับคน ๆ นั้น การฝากครรภ์และคัดกรองความพิการตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้เตรียมตัวเป็นพ่อแม่ได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการป้องกันและดูแลการเกิดภาวะแทรกซ้อนในครรภ์ได้อย่างทันท่วงทีค่ะ !
สาเหตุที่ หมอนัดตรวจครรภ์
การฝากครรภ์ ถือเป็นการนัดที่ดูแลหญิงท้อง โดยแพทย์จะทำการตรวจ ติดตาม ประเมินความเสี่ยง รวมถึงการตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์ ซึ่งทำหมดเป็นกระบวนการที่จำเป็นอย่างมาก เพราะหากไม่ได้ตรวจ หรือไม่มีการเตรียมตัวตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อถึงเวลาคลอดอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันได้
อีกทั้งหากคุณหมอตรวจพบอาการผิดปกติ หรือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จะได้หาแนวทางป้องกัน และวิธีการรักษาต่อไป โดยการฝากครรภ์จะเริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงครบกำหนดคลอด ซึ่งอาการผิดปกติถ้าได้รับการตรวจเจอเร็วยิ่งดี เพราะจะช่วยลดอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งระหว่างตั้งครรภ์และช่วงคลอดลูกได้ค่ะ
ฝากครรภ์ครั้งแรกตรวจอะไรบ้าง
- ชั่งน้ำหนัก : การชั่งน้ำหนักจะทำให้ทราบว่า ทารกในครรภ์เจริญเติบโตเป็นอย่างไร ซึ่งโดยส่วนมาก น้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ครึ่งกิโลกรัม ตั้งแต่อายุครรภ์ 5 เดือน
- วัดส่วนสูง : การวัดส่วนสูงช่วยประเมินเบื้องต้น ว่าแม่คลอดลูกง่ายหรือไม่ จะได้เลือกใช้วิธีคลอดที่เหมาะสม หากแม่สูงน้อยกว่า 145 ซม. อาจทำให้คลอดยากเนื่องจากอุ้งเชิงกรานแคบเกินไป
- ตรวจปัสสาวะ : การตรวจปัสสาวะ จะช่วยในเรื่องการดูค่าน้ำตาล และไข่ขาวในปัสสาวะ
- ตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียและเบาหวาน : โดยตรวจจากเลือด หากเป็นโรคดังกล่าว คุณแม่จะได้ รับแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
- ตรวจคัดกรองความผิดปกติของหัวนม และลานหัวนม
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตรวจเลือดตอนตั้งครรภ์ ตรวจอะไรบ้าง? คุณแม่ควรเตรียมตัวอย่างไร
การตรวจหาความผิดปกติอื่น
- ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง
- หมู่เลือด
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นอันตรายต่อทารก
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
- ซักประวัติ เพื่อทราบโรคอื่นก่อนตั้งครรภ์
การไปตามนัดหมอ และแจ้งประวัติต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับคุณแม่ จะช่วยให้คุณหมอวางแผนการดูแล รวมไปถึงการติดตามอาการที่ถูกวิธี รวมถึงประวัติยาและการผ่าตัดทางหน้าท้องอื่น ประวัติความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ การแท้งบุตร ฯลฯ นอกจากนี้หลังจากการตรวจแล้ว คุณแม่จะได้รับยาบำรุงครรภ์ ที่ควรทานตามที่แพทย์ระบุ และบันทึกสมุดสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อเป็นการบันทึกอาการติดตามอื่น ๆ ค่ะ
ความถี่ที่หมอนัดตรวจครรภ์
โดยปกติแล้ว เมื่อรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ควรรีบนักฝากครรภ์โดยทันที โดยปกติแล้ว การฝากครรภ์ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีเกณฑ์มาตรฐานดังนี้
- ครั้งที่ 1 : ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
- ครั้งที่ 2 : เมื่ออายุครรภ์ 18 สัปดาห์ (บวก/ลบได้ 2 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 3 : เมื่ออายุครรภ์ 26 สัปดาห์ (บวก/ลบได้ 2 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 4 : เมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ (บวก/ลบได้ 2 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 5 : เมื่ออายุครรภ์ 38 สัปดาห์ (บวก/ลบได้ 2 สัปดาห์)
นอกจากนี้ การนัดตรวจครรภ์อาจมีความถี่ ในการนัดตรวจครรภ์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะตามคลินิก โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลต่าง ๆ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- แม่ที่อายุไม่เกิน 28 สัปดาห์ ให้นัดทุก 4 สัปดาห์
- แม่ที่ตั้งครรภ์ช่วง 28-36 สัปดาห์ ให้นัดทุก 2 สัปดาห์
- อายุตั้งครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป ให้นัดทุกสัปดาห์
อาการที่ต้องรีบมาพบแพทย์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- มีอาการบวมที่ใบหน้าและนิ้วมือ
- มีอาการปวดศีรษะรุนแรง
- มีอาการตาพร่ามัว
- มีอาการปวดท้องจุกแน่นยอดอก
- มีอาการอาเจียนรุนแรง
- มีอาการเป็นไข้ หนาวสั่น
- มีอาการปัสสาวะแสบขัด
- มีอาการน้ำออกจากช่องคลอด
- ทารกดิ้นลดลง ทั้งความถี่และความแรง
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- ตกขาวผิดปกติ
- มีอาการเจ็บครรภ์ทั้งที่ยังไม่ครบกำหนด หรือมีอาการท้องแข็งบ่อย
ซึ่งข้อมูลของการฝากครรภ์ข้างต้นนี้ เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานที่แม่ท้องควรได้รับ บางโรงพยาบาลอาจมีโปรแกรมเสริมเพิ่มเข้ามา เช่น กิจกรรมเตรียมตัวเป็นพ่อและแม่ หรือสอนวิธีการดูแลลูกน้อยต่าง ๆ ที่สำคัญการฝากครรภ์เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้คุณแม่เข้าใจสุขภาพของตัวเอง และสามารถดูแลได้อย่างถูกวิธี เพื่อให้การตั้งครรภ์และการคลอดลูก เป็นไปอย่างปลอดภัยไร้อันตรายค่ะ !
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ธาลัสซีเมียขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้อย่างไร? คุณแม่ควรมีวิธีการรับมืออย่างไรบ้าง?
รู้หรือไม่! แท้งลูก เกิดจากอะไร? หนึ่งในอาการที่ส่งผลอันตรายต่อคุณแม่และลูกในท้อง
ตรวจดาวน์ซินโดรม มีวิธีการอย่างไรบ้าง? ทารกเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรมหรือเปล่า
ที่มา : 1