ซึมเศร้าหลังคลอด โรคที่ต้องรู้ เพราะแม่หลายคนต้องเผชิญ!

การเป็นแม่คนอาจเป็นเรื่องที่สร้างความสุขให้แก่ลูกผู้หญิง แต่สำหรับแม่มือใหม่หลายคนกลับมีประสบการณ์ในทางตรงกันข้าม และต้องทนทุกข์กับปัญ 

 1779 views

การเป็นแม่คนอาจเป็นเรื่องที่สร้างความสุขให้แก่ลูกผู้หญิง แต่สำหรับแม่มือใหม่หลายคนกลับมีประสบการณ์ในทางตรงกันข้าม และต้องทนทุกข์กับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากภาวะ ซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression) หลายคนไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากแพทย์ เนื่องจากตราบาปทางสังคมที่คาดหวัง ซึ่งอาจต้องเตรียมรับมือกับสภาวะหลังคลอด วันนี้ Mama Story จะพาไปทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับอาการที่อาจจะเกิดขึ้นกับแม่มือใหม่ค่ะ!

ซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร ?

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Maternity Blue) เกิดจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังคลอด ที่อาจส่งผลต่อสภาวะอารมณ์และสภาพจิตใจ โดยมีอาการแสดง เช่น หงุดหงิดง่าย อารมณ์เศร้า เสียใจ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ มีความกังวลเรื่องลูก ซึ่ง 1 ใน 6 ของคุณแม่หลังคลอด มักต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า

บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องอารมณ์แปรปรวน รับมืออย่างมืออาชีพ ทำอย่างไร ?

โดยส่วนมากอาการแสดงมักเกิดขึ้นหลังจากคลอดนานติดต่อกันประมาณ 5 วัน ขึ้นอยู่กับคุณแม่แต่ละราย แต่ถ้าผ่านไปนานกว่า 5 วัน แล้วภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ไม่ดีขึ้น อาจทำให้เป็น “โรคซึมเศร้าหลังคลอด” ได้ หากมีอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม และหากมีอาการรุนแรงอย่างหลอน มีความคิดทำร้ายตัวเองหรือลูกน้อย หรือแม้แต่คิดฆ่าตัวตาย คนรอบข้างควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

ภาวะหลังคลอด คืออะไร ?

ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดในขณะตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียว แต่เกิดกับภาวะหลังคลอดด้วย โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาพักฟื้นราว 5-6 สัปดาห์ แบ่งออกเป็นความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและสภาพจิตใจ

ซึมเศร้าหลังคลอด



ภาวะหลังคลอดทางด้านร่างกาย

  • น้ำคาวปลา : เนื้อเยื่อและเลือดที่ไหลออกมาจากโพรงมดลูกหลังการคลอด ซึ่งเกิดจากการหลุดลอกตัวของรก น้ำคาวปลาจะถูกขับออกมา โดย 3-4 วันแรกหลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาเยอะมาก ต้องใส่ผ้าอนามัยและเปลี่ยนบ่อย ๆ โดยทั่วไปจะมีประมาณ 3 สัปดาห์
  • เต้านมคัดตึงบวม : อาการนี้อาจทำให้คุณแม่มีเจ็บเต้านม เต้านมแข็ง ตึง ปวด ลานนมตึงแข็ง และครั่นเนื้อ ครั่นตัว เหมือนไม่สบาย เนื่องจากเต้านมจุน้ำนมจนเต็มแล้วไม่ถูกระบายออก แนะนำให้ประคบอุ่นประมาณ 10 นาที นวดคลึงหัวนม พร้อมทั้งให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง
  • ผมร่วงหลังคลอด : เพราะขณะตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เส้นผมงอกใหม่เพิ่มมากขึ้น เมื่อคลอดบุตรแล้วจึงผมร่วงมากกว่าปกติ โดยทั่วไปอาการผมร่วงนี้จะหายไปเอง ใน 6-12 เดือน พร้อมกับรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอ รวมถึงอาหารทะเลที่มีสังกะสีสูง ก็จะช่วยเสริมสร้างเส้นผมได้
  • ท้องผูก : อาจเกิดจากภาวะริดสีดวงทวาร หรืออาการเจ็บแผลคลอด จนทำให้ไม่อยากถ่ายและเกิดอาการท้องผูก คุณแม่จึงควรเน้นกินอาหารที่มีเส้นใยสูง และดื่มน้ำให้มาก ๆ
  • กลั้นปัสสาวะไม่ได้ : การคลอดอาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานยืดออก จะเกิดภาวะนี้สูงเมื่อมีการไอ จาม หรือหัวเราะ จะทำให้เกิดปัสสาวะเล็ดออกมาได้ แต่จะค่อย ๆ หายเป็นปกติประมาณ 3 สัปดาห์ ระหว่างนี้แนะนำให้ใส่ผ้าอนามัย และหมั่นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
  • ผิวแตกลาย : คุณแม่หลังคลอดร้อยละ 90 จะมีผิวหน้าท้องแตกลายเป็นริ้วสีชมพูหรือสีแดง เกิดจากการขยายผิวหนังขณะตั้งครรภ์ หลังคลอดแล้วริ้วรอยยังคงอยู่แต่จะจางลงเมื่อผ่านไป หรือจะใช้ครีมทาแก้ท้องลายก็ช่วยได้

ภาวะหลังคลอดทางด้านอารมณ์

  • ภาวะเศร้าหลังคลอด (Postpartum blue) : เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน แม่มือใหม่ที่ยังปรับตัวหลังคลอดไม่ได้ ซึ่งภาวะนี้จะมีอาการหงุดหงิด เศร้า เสียใจ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ มีความกังวลเรื่องลูกระยะเวลาของอาการนี้อาจอยู่ประมาณ 5 วันหลังคลอด และจะหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับแต่ละราย ในช่วงที่มีอาการอาศัยกำลังใจและการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น
  • โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) : เกิดจากความผิดปกติของอารมณ์หลังคลอดระดับปานกลางจนถึงรุนแรงโดยมีอาการ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ร้องไห้บ่อย อ่อนไหวง่าย บางครั้งหงุดหงิด ความผูกพันกับลูกหายไป ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายลูก ซึ่งผู้ที่อารมณ์อ่อนไหวง่าย คนในครอบครัวเป็นซึมเศร้า ผู้ที่ต้องเผชิญความเครียด มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ ระยะอาการมีตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึงปี ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อทำความเข้าใจกับอาการ รวมทั้งแรงสนับสนุนและการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น

อาการซึมเศร้าหลังคลอด

  1. กังวลว่าจะไม่สามารถเลี้ยงดูตนเองและลูกได้
  2. ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล
  3. ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับลูก
  4. รู้สึกทุกข์ใจอย่างมาก
  5. อารมณ์เศร้า ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง
  6. ภาวะนี้มักเกิดขึ้นเกือบทั้งวัน หรือติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  7. มีความรู้สึกเหนื่อยหน่าย หมดความสนใจในงานหรือกิจกรรมที่ทำ
  8. อาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ

ซึมเศร้าหลังคลอด



สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

  1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สภาพแวดล้อม อารมณ์
  2. มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์
  3. เคยมีภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดมาก่อนหน้านี้
  4. สมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์
  5. มีปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความเครียดมาก เช่น ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาทะเลาะภายในครอบครัว
  6. ทารกมีปัญหาสุขภาพที่ต้องมีการดูแล หรือรับการรักษาอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ
  7. แม่มีปัญหาในการให้นมบุตร
  8. ครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน
  9. ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม

การรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

  1. การทานอาหารที่มีประโยชน์
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  3. หาเวลาพักระหว่างวัน
  4. ให้คุณพ่อ/คนใกล้ชิดช่วยดูแลลูก
  5. ระบายความรู้สึกให้คนใกล้ชิดฟัง
  6. มีเวลาให้กับตัวเองบ้าง
  7. ลดการรับข่าวสาร
  8. ปรึกษาแพทย์

การรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการรักษา ไม่ใช่แค่ความรู้สึกอ่อนแอ ผู้ป่วยควรบอกปัญหาที่เกิดอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้การรักษาเป็นไปในทางที่ดี โดยในที่ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วย เช่น ออกกำลังกาย หรือเข้าร่วมกลุ่มให้คำปรึกษา เป็นต้น ซึ่งการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะคล้ายกับการรักษาโรคซึมเศร้า วิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้ มีดังนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องเครียด ร้องไห้จะเป็นอะไรไหม? แม่ท้องเครียดมากทำไงดี?


ซึมเศร้าหลังคลอด



  • จิตบำบัด : เป็นการรักษาด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าว โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการรับมือกับปัญหาและให้กำลังใจผู้ป่วย ซึ่งในบางกรณีแพทย์อาจให้คนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิดมานั่งพูดคุยไปพร้อมกันด้วย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีหรือสบายใจขึ้น
  • ยาต้านเศร้า : เป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้า มักใช้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วไป ทว่าในบางกรณีแพทย์อาจให้คุณแม่ใช้ยานี้ในการรักษาด้วย โดยยาอาจปนเปื้อนในน้ำนมได้ แต่ก็มียาบางชนิดที่ส่งผลข้างเคียงกับทารกได้น้อย ดังนั้น เพื่อการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยและแพทย์จะต้องปรึกษากันถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจได้รับจากการรักษาด้วยยาต้านเศร้าแต่ละชนิดด้วย

สำหรับการเลือกวิธีการรักษา แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าแบบใดเหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุด โดยอาจใช้การรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดหรือใช้ยาเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน ซึ่งหากการรักษาเป็นไปด้วยดี ผู้ป่วยจะดีขึ้นภายในเวลา 6 เดือน แต่ก็อาจใช้เวลานานกว่านั้น และบางรายอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้ จึงควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดแม้จะหายดีแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต

เพราะ “ครอบครัว” คือ กำลังใจสำคัญที่จะทำให้คุณแม่หายจากอาการซึมเศร้าได้มากที่สุด ทั้งหมดนี้คือภาวะหลังคลอดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คุณแม่ควรสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองอยู่เสมอ ทั้งทางร่างกายและอารมณ์ หากคุณแม่หลังคลอดคนใดมีอาการผิดปกติ หรือเป็นนานเกินไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

คนท้องทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เสี่ยงแท้งลูกจริงไหม?

เจ็บท้องคลอด สัญญาณเตือนที่คุณแม่หลายคนควรรู้!

คนท้องปวดหลัง อันตรายไหม บรรเทาอาการด้วยวิธีใดได้บ้าง?

ที่มา : 1, 2