โพแทสเซียมกับแม่ท้อง มากเกิน น้อยเกิน ไม่ส่งผลดี ทานอย่างไรให้พอเหมาะ ?

แร่ธาตุโพแทสเซียมกับแม่ท้องสำคัญกว่าที่คิด ด้วยประโยชน์ที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ และควบคุมของเหลวในร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ท 

 1834 views

แร่ธาตุโพแทสเซียมกับแม่ท้องสำคัญกว่าที่คิด ด้วยประโยชน์ที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ และควบคุมของเหลวในร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อวัยวะสามารถทำงานได้อย่างปกติ แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ การรับโพแทสเซียมในปริมาณที่ไม่พอดี จะส่งผลเสียต่อร่างกายของคุณแม่ได้เช่นกัน

โพแทสเซียม คืออะไร แม่ท้องต้องการเท่าไหร่ ?

โพแทสเซียม (Potassium) เป็นสารอาหารที่มีหน้าที่สำคัญคือ ช่วยรักษาสมดุลในของเหลว และมีหน้าที่ส่งแรงกระตุ้นจากเส้นประสาทไปยังส่วนของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ด้วย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมีการหดตัว โพแทสเซียมจะถูกสะสมอยู่ในเม็ดเลือดแดง, ตับ กล้ามเนื้อ และกระดูก ถือเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกายไม่แพ้แร่ธาตุชนิดอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยลดความผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนของแม่ท้องได้เป็นอย่างดี

ช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์อายุ 14 – 18 ปี จะต้องการประมาณ 2,300 มิลลิกรัม / วัน อายุ 19 ปีขึ้นไป ร่างกายจะต้องการประมาณ 2,600 มิลลิกรัม / วัน แต่โพแทสเซียมในแม่ท้องนั้น ร่างกายจะต้องเพิ่มขึ้นคิดเป็นคุณแม่อายุ 14 – 18 ปี ร่างกายจะต้องการประมาณ 2,600 มิลลิกรัม / วัน และคุณแม่ท้องอายุ 19 ปีขึ้นไปต้องการประมาณ 2,900 มิลลิกรัม / วัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : แคลเซียมแม่ท้อง สารอาหารที่ร่างกายคุณแม่ผลิตเองไม่ได้

วิดีโอจาก : หมอไตให้คำตอบ โดย พญ.กัลย์ยมล

ประโยชน์ของโพแทสเซียมกับแม่ท้อง

แร่ธาตุอย่างโพแทสเซียม มีความสำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ และการปรับสมดุลการทำงานของร่างกายเป็นหลัก หากรับในปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้คุณแม่มีร่างกายที่แข็งแรงขึ้น พร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้แก่

  • ลดโอกาสเกิดตะคริว : โพแทสเซียมเป็นหนึ่งในแร่ธาตุ สารอาหารที่ช่วยลดโอกาสเกิดตะคริว ป้องกันคุณแม่ในสถานการณ์ที่ไม่พร้อม เช่น ขณะเดิน หรือออกกำลังกาย เนื่องจากมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อให้เป็นปกติยิ่งขึ้น
  • ช่วยลดการสูญเสียของเหลว : ร่างกายของคุณแม่อาจมีปัญหาในกระบวนการกักเก็บของเหลว ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หรือขาดน้ำ การทานโพแทสเซียมให้เพียงพอ จะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
  • ภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้น : โพแทสเซียมมีส่วนช่วยปรับสมดุลของ “อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte)” แร่ธาตุที่ช่วยนำไฟฟ้าในหลายอวัยวะ ทำให้ร่างกายสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ และช่วยให้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้นได้อีกด้วย
  • ปรับความดันโลหิตให้เหมาะสม : แร่ธาตุชนิดนี้สามารถช่วยปรับความดันโลหิตให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะหากคุณแม่มีภาวะความดันโลหิตสูง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือดได้ เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น


ขาดโพแทสเซียมแม่ท้องจะเป็นอย่างไร ?

แร่ธาตุชนิดนี้ไม่แตกต่างจากสารอาหาร หรือแร่ธาตุชนิดอื่น ๆ คือ ต้องให้ความสำคัญกับคำว่า “สมดุล” เนื่องจากหากรับในปริมาณน้อยเกินไปจะส่งผลเสีย แต่ในขณะเดียวกันการรับในปริมาณมากเกินไปก็ไม่ใช่ผลดีเช่นเดียวกัน เป็นที่มาของ 2 ภาวะ ดังนี้

  • ภาวะโพแทสเซียมต่ำ (Hypokalemia) : นอกจากขาดการทานอาหารที่มีแร่ธาตุชนิดนี้แล้ว ภาวะนี้ยังเกิดได้จากการที่คุณแม่ขับของเหลวออกจากร่างกายในปริมาณมาก เช่น การอาเจียน หรือท้องเสีย เป็นต้น อาการที่บ่งบอกถึงความเสี่ยง เช่น เป็นตะคริวบ่อย, รู้สึกเหนื่อยล้ากล้ามเนื้ออ่อนแรง, วิงเวียนศีรษะ, ตรวจพบความดันโลหิตสูง และผิวแห้งแตก เป็นต้น
  • ภาวะโพแทสเซียมสูง (Hyperkalemia) : ภาวะนี้เกิดจากร่างกายของคุณแม่ที่รับแร่ธาตุชนิดนี้มากเกินไป ไม่ว่าจะจากการทานอาหาร หรืออาหารเสริม สังเกตอาการได้หลายอาการ เช่น หายใจลำบากจากปอดทำงานผิดปกติ, แขนขาชา, เจ็บหน้าอก และตรวจพบหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น


โพแทสเซียมกับแม่ท้อง


แร่ธาตุโพแทสเซียมพบในอาหารประเภทไหนบ้าง ?

กลุ่มประเภทอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง มักมาพร้อมกับวิตามิน เป็นอาหารที่ส่งผลดีโดยรวมต่อร่างกายแม่ท้อง เช่น อะโวคาโด, พืชตระกูลถั่ว, มันฝรั่ง, มันเทศ, และกล้วย เป็นต้น สำหรับแม่ท้องสามารถรับโพแทสเซียมได้ง่าย ๆ ด้วยการทานกล้วยเพียง 1 ผล / วันเท่านั้น (เนื่องจากกล้วยเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง) อาหารเหล่าที่เรากล่าวมานี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินบี, วิตามินซี รวมไปถึงธาตุเหล็ก ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นต่อคุณแม่ท้องทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาหารโพแทสเซียมสูงที่คุณแม่ท้องต้องระวังการทานเป็นพิเศษ เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง, นม, ทุเรียน, ลำไย  และผลไม้แห้งต่าง ๆ เป็นต้น โดยสามารถลดปริมาณแร่ธาตุชนิดนี้ได้จากการนำมาสับให้เป็นชิ้นเล็ก แล้วนำไปต้มในน้ำ จากนั้นเทน้ำทิ้งออกไป จะสามารถช่วยลดปริมาณของโพแทสเซียมได้ แต่จะทำให้วิตามินสูญเสียไปด้วยเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ผลไม้คนท้อง กินแล้วดีอย่างไร แม่ท้องกินผลไม้อะไรได้บ้าง ?

เลือกอาหารเสริมปรึกษาแพทย์ก่อน

ปัจจุบันมีทางเลือกมากมายเพื่อให้ร่างกายสามารถรับสารอาหารได้ครบถ้วน ถูกต้องตามหลักโภชนาการมากขึ้น สำหรับโพแทสเซียมกับแม่ท้องก็ไม่ต่างกัน การเลือกรับแร่ธาตุสารอาหารผ่านอาหารเสริมต่าง ๆ ควรต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องของปริมาณในแต่ละยี่ห้อ หรือความปลอดภัยจากกระบวนการผลิต ที่อาจส่งผลเสียต่อครรภ์ได้ ดังนั้นก่อนเลือกผลิตภัณฑ์ใด ๆ ควรปรึกษาถึงความเหมาะสม หรือให้แพทย์เป็นผู้แนะนำจะเหมาะสมที่สุด

แร่ธาตุโพแทสเซียมกับแม่ท้อง เป็นสิ่งที่คู่กัน การรับในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยสร้างประโยชน์ต่อร่างกายของคุณแม่อย่างสูงสุด หากมีความกังวล ควรปรึกษาแพทย์ หรือนักโภชนาการตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อเตรียมวางแผนมื้ออาหารตลอด 3 ไตรมาส อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

โฟลิก สำคัญต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างไร ? คนท้องเริ่มกินโฟลิกได้ตอนไหน

คนท้องห้ามกินอะไร เครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงท้องมีอะไรบ้าง ?

คนท้องกินเยอะขึ้นเพราะอะไร กินแบบไหนถึงไม่อ้วน ?

ที่มา : 1, 2, 3