เห็นได้ชัดว่าเมื่ออากาศเย็นผ่านไป สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือ ฝุ่น PM2.5 นั่นเองค่ะ รู้หรือไม่คะ? ว่าฝุ่นละอองจำพวกนี้ เกิดขึ้นและยังคงอยู่ แถมยังสร้างอันตรายให้กับแม่ท้อง และทารกตัวน้อย ๆ ด้วย หากได้รับการดูแลและการปฏิบัติตนที่ไม่ดี วันนี้ Mamastory จะพาไปดูกลุ่มเสี่ยง และวิธีป้องกันตัวเอง เมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง ส่วนจะอันตรายแค่ไหนไปดูได้เลยค่ะ
ฝุ่นละออง PM2.5 คืออะไร ?
ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละเอียดที่เป็นส่วนหนึ่งของฝุ่นละอองที่แขวนลอยในบรรยากาศ มีขนาดเท่ากับ 1 ใน 20 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ โดย PM2.5 มาจากการเผาไหม้ และการใช้พลังงานต่าง ๆ เช่น ยานพาหนะ งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ การเผาวัชพืชและขยะ ปฏิกิริยาเคมีในอากาศ ส่งผลต่อสุขภาพทำให้เกิดอาการไอ จาม แสบจมูก หายใจติดขัด แน่นหน้าอก เป็นต้น
กลุ่มเสี่ยงต่อฝุ่นละออง PM2.5
เมื่อค่าฝุ่นละอองมีความสูงขึ้น หรือมีค่าเกินมาตรฐาน การออกกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่
- ผู้สูงอายุ
- เด็กเล็ก
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคผิวหนัง โรคหัวใจและหลอดเลือด
6 ข้อป้องกันฝุ่นละออง PM2.5
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กเล็กได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ จากสภาพอากาศที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 จึงวอนให้ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูพี่เลี้ยง ตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น จากการสูดดมฝุ่น พร้อมแนะแนวทางการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กที่มีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศ
หากเป็นไปได้กลุ่มเสี่ยงต่อฝุ่นละออง ควรเน้นการอยู่ในบ้าน, เตรียมยาเผื่อในกรณีฉุกเฉินให้พร้อม, ใช้หน้ากากกันฝุ่น PM2.5 เมื่อต้องออกพื้นที่กลางแจ้ง และควรรีบพบแพทย์ทันที เมื่อเกิดอาการผิดปกติ
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เด็กเล็กเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยง ที่อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เด็กที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูง อาจมีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในระยะยาว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางระบบประสาท และความสามารถทางปัญญาของเด็ก เนื่องจากปอดของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้มีอัตราหายใจที่ถี่กว่า จึงควรดูแลเด็กทั้งกลุ่มปกติทั่วไป และเด็กที่มีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการดูแล และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
- ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th หรือแอปพลิเคชัน Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ในช่วงที่ปริมาณ PM2.5 ตั้งแต่ระดับสีเขียว (26-37 ไมโครกรัม/ ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6 – 8 แก้วต่อวัน
- เด็กที่มีโรคประจำตัวควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและสังเกตอาการ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออกให้รีบไปพบแพทย์
- หากค่า PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง (91 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป ห้ามออกนอกบ้าน
- ปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษอากาศ
- งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5 เช่น การเผาใบไม้ เผาขยะ
- ไม่ติดเครื่องยนต์เป็นเวลานานในบริเวณบ้าน
- ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดและเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน
ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร
ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็ก เมื่อสูดเข้าไปในปริมาณมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะเกิดผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจได้โดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มที่มีความอ่อนไหว เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ ซึ่งภัยร้ายจากฝุ่นละออง PM 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพมากมาย ดังนี้
- ผลกระทบต่อทางเดินหายใจและปอด : การสูดหายใจเอาฝุ่นมลพิษขนาดเล็กเข้าไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ และอาจนำมาสู่ปัจจัยของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้
- ผลกระทบต่อหัวใจ : การสูดหายใจเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวนมากเข้าไปอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการตกตะกอนภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หัวใจวาย และหลอดเลือดสมองตีบ รวมทั้งยังมีผลโดยตรงต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ที่อาจร้ายแรงจนถึงขั้นหัวใจวายเฉียบพลัน
- ผลกระทบต่อสมอง : เมื่อเกิดการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ผ่านเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว และเกิดเส้นเลือดในสมองตีบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาต
นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ควรต้องระวังภัยร้ายที่มากับฝุ่น PM 2.5 เป็นอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าคนปกติทั่วไป รวมถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สูดหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าไป จะส่งผลเสียโดยตรงต่อทารกในครรภ์ โดยมีการศึกษาค้นพบว่า มลพิษในอากาศจะส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนด เพิ่มความเสี่ยงของภาวะแท้ง และเพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์ได้
ดังนั้น นอกจากการสวมหน้ากากอนามัยชนิดที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ภายนอกอาคารแล้ว การเลือกติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM ได้อย่างดีเยี่ยม ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่จะมอบอากาศบริสุทธิ์ให้สมาชิกในครอบครัวทุกคน สามารถสูดหายใจได้อย่างเต็มปอด และปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
รู้หรือไม่! แท้งลูก เกิดจากอะไร? หนึ่งในอาการที่ส่งผลอันตรายต่อคุณแม่และลูกในท้อง
ลักษณะท้องของคนท้อง เป็นแบบไหน? พร้อมวิธีการสังเกตแบบง่าย ๆ
วิธีเพิ่มน้ำหนักให้ลูก แบบง่าย ๆ ทำอย่างไรให้ลูกมีสุขภาพดี?
ที่มา : 1